แทบจะเป็นภาพที่คุ้นชินไปแล้ว ถ้าใครเคยเห็นภาพการเดินทางไปทำงานในชั่วโมงเร่งด่วนของคนญี่ปุ่น นอกจากจะแออัดแล้ว ยังทำให้เกิดความเครียดสูงด้วย ล่าสุด ปลายเดือนนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งแคมเปญให้บริษัทสามารถกำหนดเวลาทำงานใหม่ได้ เพื่อแก้ปัญหา
ลดความแออัด ด้วยการจัดตารางเวลาใหม่
รัฐบาลญี่ปุ่นส่งแคมเปญ “Jisa Biz” เพื่อผลักดันให้บริษัทต่างๆ กำหนดเวลาการทำงานใหม่เพื่อลดความแออัดในชั่วโมงเร่งด่วน โดยแคมเปญนี้จะเริ่มในระยะสั้นก่อนคือ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคมนี้จนถึง 10 วันหลังจากนั้น และถ้าหากประสบความสำเร็จ รัฐบาลจะยกระดับให้เป็นแคมเปญประจำปีของญี่ปุ่น
ผลสำรวจจากบริษัทวิจัยตลาดออนไลน์ที่ไปสอบถามคนทำงานในโตเกียวและโฮซาก้าเมื่อปี 2016 พบว่า 95% ตอบตรงกันว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานร่วมชั่วโมงโดยรถไฟทำให้เกิดความเครียดสูง
จากสถิติบอกว่า ในปี 2015 อัตราความแออัดเฉลี่ยของรถไฟสายสำคัญในชั่วโมงเร่งด่วนคือตอนเช้า อยู่ที่ 164% นี่เป็นอัตราที่ลดลงมาแล้วจากในปี 1990 ที่สูงถึง 203% แต่ในปัจจุบันรถไฟบางสายก็แน่นและมีอัตราความแออัดไปจนถึง 200% ก็มี
ปัจจุบัน บริษัทที่เอาด้วยกับแคมเปญของรัฐบาลญี่ปุ่นมีตั้งแต่ Unilever ที่มีบริษัทลูกกว่า 250 แห่ง และรวมไปถึง All Nippon Airways, Panasonic กับ Suntory Holdings ที่เข้าร่วมด้วย
Takayuki Kitajima ผู้อำนวยการประจำ Unilever บอกว่า “ทางบริษัทได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว เพราะบริษัทเชื่อว่าการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้นจะนำไปสู่การทำงานที่ดีขึ้นของพนักงาน แต่ก่อนหน้านี้ที่บริษัทยังไม่เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน พนักงานต้องอัดแน่นเข้าไปในรถไฟมาทำงานทุกวัน จากนั้นก่อนเข้าออฟฟิศก็ต้องมาต่อแถวรอลิฟท์ เราคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่จำเป็นเลย”
Keigo Yasuda เจ้าหน้าที่ด้านผังเมืองในญี่ปุ่น บอกว่า “เป้าหมายของเราคือทำให้เห็นว่ารถไฟที่แออัดจะไม่ใช่บรรทัดฐานของเราอีกต่อไป”
สรุป
จากนี้คงต้องติดตามแคมเปญของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผลักดันให้บริษัทห้างร้านกำหนดเวลาทำงานเองได้ โดยไม่ต้องยึดติดกับรูปแบบ เข้างาน 9 โมงเช้ากลับบ้าน 5 โมงเย็น เพราะเป็นเวลาเร่งด่วนที่สร้างความแออัด ความเครียด และไม่ได้เป็นผลดีกับประสิทธิภาพการทำงานสักเท่าไหร่
แต่ในขณะเดียวกันมีคนเคยเสนอทางออกอื่นๆ ไว้เช่นกันคือ ให้สร้างสายรถไฟเพิ่ม หรือเก็บค่าโดยสารเพิ่มในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่เอาด้วย เพราะทางออกที่มีต้นทุนต่ำที่สุดคือ “ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน” หรือไม่ต้องใช้งานพร้อมกันทีละมากๆ แค่นี้ก็ถือเป็นทางออกที่เป็นไปได้และน่าสนใจไม่น้อยแล้ว
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา