เจาะตลาดอาหารแช่แข็ง 2,000 ล้านบาท ผ่านสายตา Q Fresh แบรนด์ลูกกลุ่ม Thai Union และอันดับ 2 ของตลาดนี้

ปี 2022 ภาพรวมตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทย (ไม่รวมยอดขายใน Makro และ 7-Eleven) มีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ลดลง 4.6% จากปี 2021 โดยแบรนด์ Q Fresh มีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 2 ของตลาดนี้

Q Fresh คือหนึ่งในแบรนด์อาหารแช่แข็งที่ทำตลาดทั้งลูกค้าทั่วไป หรือ B2C และลูกค้าองค์กร หรือ B2B ของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ก่อตั้งเมื่อปี 2017 ถือว่ามีส่วนแบ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่อยู่ในตลาด

กลยุทธ์การทำตลาดของ Q Fresh หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของตลาดได้หรือไม่ และจะมียอดขาย 1,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายได้เมื่อไร ธนโชติ บุญมีโชติ ผู้บริหารแบรนด์ Q Fresh ได้เล่าให้ฟังดังนี้

Q Fresh

ตลาดอาหารแช่แข็งในไทยยังโตได้

ธนโชติ บุญมีโชติ ผู้บริหารแบรนด์ Q Fresh และกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกุ้ง บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า อ้างอิงข้อมูลบริษัทวิจัย Nielsen มูลค่าตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทยปี 2022 มีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท (ไม่รวมยอดขายใน Makro และ 7-Eleven) ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับปี 2021

“แม้จะหดตัวเล็กน้อยในปี 2022 แต่เราเชื่อว่าปี 2023 ตลาดอาหารแช่แข็งจะกลับมาเติบโตได้ 4-5% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ร้านอาหาร และโรงแรมสั่งซื้อมากขึ้น ส่วนฝั่งผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบอีกครั้ง และเปิดใจกับสินค้าอาหารแช่แข็ง จึงเกิดการสั่งซื้อมากขึ้นเช่นกัน”

อย่างไรก็ตามตัวเลข 2,000 ล้านบาท อาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงของตลาด เนื่องจาก Makro และ 7-Eleven เป็นอีกช่องทางที่มีการจำหน่ายอาหารแช่แข็งจำนวนมาก แต่หากอ้างอิงตัวเลขนี้ ปัจจุบัน Q Fresh จะมีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 2 ของตลาดดังกล่าว

ไม่ใช่วัตถุดิบสด แต่ต้องเป็นกลุ่ม Deep Fried

ทั้งนี้ตลาดอาหารแช่แข็งที่เติบโตข้างต้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Deep Fried หรืออาหารแช่แข็งที่ทำสำเร็จพร้อมทาน เพียงนำไปทอดในกระทะ หรือใส่หม้อทอด ไม่ใช่อาหารแช่แข็งที่ยังเป็นวัตถุดิบสด ในทางกลับกันสินค้ากลุ่ม Deep Fried ยังสามารถสร้างส่วนต่างกำไรได้มากกว่าสินค้าวัตถุดิบสดแช่แข็ง

“Deep Fried ค่อนข้างเติบโต เพราะสะดวกต่อการรับประทานมากกว่า ยิ่งในปี 2022 ที่มีแบรนด์ใหม่จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเร่งสื่อสารการตลาด ก็ทำให้ตลาดนี้ยิ่งเติบโตขึ้น และถึงจะมีการแข่งขันที่สูง แต่การแข่งขันย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และช่วยให้เรามีโอกาสเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ Q Fresh ก่อตั้งในปี 2017 ผ่านความต้องการบุกตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทยทั้งฝั่งผู้บริโภค และลูกค้าองค์กรของ Thai Union เริ่มต้นจากสินค้ากุ้งแช่แข็ง หลังจากนั้นจึงขยายสินค้าอาหารทะเลประเภทอื่น รวมถึงนำความรู้จากการรับผลิตอาหารทะเลแช่แข็งให้กับแบรนด์ในต่างประเทศมาช่วยพัฒนาสินค้าเช่นกัน

Q Fresh
ธนโชติ บุญมีโชติ ผู้บริหารแบรนด์ Q Fresh และกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกุ้ง บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

Q Fresh กับการไปสินค้า Value Added

Q Fresh ในครึ่งแรกของปี 2023 สามารถปิดรายได้ที่ 114 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวมาจากสินค้ากุ้งแช่แข็ง 42% และที่เหลือมาจากปลากระพงแช่แข็ง กับสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งประเภทอื่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ และหากแบ่งจากช่องทางจำหน่าย จะมาจากช่องทางออนไลน์เพียง 4% ที่เหลือเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์

“ออนไลน์มันเติบโต แต่คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แม้ว่าการจับจ่ายต่อบิลบนช่องทางออนไลน์จะอยู่ที่ 1,000-1,500 บาท ก็ตาม ส่วนช่องทางออฟไลน์จะมีการจับจ่ายต่อบิล 200-300 บาท แต่หลังจากนี้เชื่อว่าราคาจับจ่ายต่อบิลจะสูงขึ้นราว 10% ภายใน 1-2 ปีผ่านการทำตลาดสินค้าแช่แข็งที่เป็นมากกว่าแค่วัตถุดิบสด หรือพร้อมปรุง”

ล่าสุด Q Fresh เปิดตัวสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งกลุ่ม Value Added ประกอบด้วย กุ้งชุบแป้งทอด 4 แบบ คือ กุ้งไส้เชดดาร์และครีมชีส, กุ้งเทมปุระ สไตล์ญี่ปุ่น พร้อมน้ำจิ้มเทมปุระ, ทอดมันกุ้ง พร้อมน้ำจิ้มบ๊วย และ กุ้งกรอบ พร้อมซอสทาร์ทาร์ จำหน่ายในราคาแพ็กละ 145 บาท

ดันรายได้แตะ 640 ล้านบาท ในสิ้นปี 2023

ขณะเดียวกัน Q Fresh เตรียมขยายการทำตลาดไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น เช่น การร่วมมือกับ Copper Beyond Buffet พัฒนาสินค้ากุ้งดองซีอิ๊วเพื่อจำหน่ายหน้าร้าน จากเดิมแค่ซื้อขายวัตถุดิบอาหารทะเลเท่านั้น ซึ่งจากลยุทธ์ทั้งหมดนี้จะทำให้ Q Fresh มีรายได้ปี 2023 รวม 640 ล้านบาท เติบโต 5% จากปี 2022

“รายได้640 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 400 ล้านบาท มาจากการจำหน่ายกับลูกค้าองค์กร หรือ Food Service ส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายกับผู้บริโภคทั่วไป ส่วนอีกเหตุผลที่เรามาบุกตลาด Value Added มากขึ้น เพราะอัตรากำไรของสินค้าอยู่ที่ตัวเลข 2 หลัก ส่วนถ้าขายแค่อาหารสดแช่แข็ง อัตรากำไรจะอยู่แค่ตัวเลข 1 หลัก เท่านั้น”

ธนโชติ เสริมว่า ในช่วง 3-5 ปี หลังจากนี้อาจมีโอกาสที่ปั้นรายได้กิจการให้ทะลุ 1,000 ล้านบาท ได้ ในทางกลับกัน ช่วงเปิดตัวแบรนด์เมื่อปี 2017 บริษัทเคยตั้งเป้าหมายรายได้ 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันเป้าดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนด ผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา