ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ายอดขายรถยนต์จะลดลง แต่ภายในอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ ยังมีธุรกิจที่มาแรงอย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะกลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และทำให้การแข่งขันใน Sector นี้ยังคงสูงขึ้นด้วย
ขณะที่ในประเทศไทย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยข้อมูลจาก ttb analytics ประเมินว่า ในระยะเริ่มต้น อุตสาหกรรม EV ของไทยอาจต้องพึ่งการนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ก่อนจะสามารถผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศได้อย่างมีนัยในช่วงปี 2567-2568 ซึ่งจะทำให้การผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปี ดังนั้น ค่ายรถที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทยจำเป็นต้องบุกภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากพอจนสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น
จากแนวโน้มการเติบโตนี้ สถานการณ์ปัจจุบันของ EV ในไทยเป็นอย่างไร
ล่าสุด (24 ส.คง) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค. 2566 ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงทั้ง 3 ประเภทเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดย
- ประเภท BEV มียอดจดทะเบียนใหม่รวม 6,904 คัน เพิ่มขึ้น 373.20%YoY ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ รวม 5,081 คัน
- ประเภท HEV มียอดจดทะเบียนใหม่รวม 5,950 คัน เพิ่มขึ้น 30.86%YoY ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ รวม 5,081 คัน
- ประเภท PHEV มียอดจดทะเบียนใหม่รวม 977 คัน เพิ่มขึ้น 26.06%YoY ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ รวม 977 คัน
ทั้งนี้ในเดือน ม.ค. – ก.ค. 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่สะสม แบ่งเป็น
- ประเภท BEV อยู่ที่ 49,949 คัน เพิ่มขึ้น 469.61%YoY
- ประเภท HEV อยู่ที่ 52,090 คัน เพิ่มขึ้น 39.78%YoY
- ประเภท PHEV อยู่ที่ 7,249 คัน เพิ่มขึ้น 7.84%YoY
ขณะที่ ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ได้แก่
- ประเภท BEV อยู่ที่ 81,863 คัน เพิ่มขึ้น 307.54%YoY
- ประเภท HEV อยู่ที่ 311,150 คัน เพิ่มขึ้น 33.33%YoY
- ประเภท PHEV อยู่ที่ 49,587คัน เพิ่มขึ้น 31.04%YoY
ที่มา – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา