แบงก์หั่นคาดการณ์ GDP ปี 66 มองส่งออกหดตัวเพิ่ม-ลุ้นการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2566 ลง โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 2.5%-3.0% โดยมีค่ากลางที่ 2.75% จากประมาณการเดิมที่ 2.7%-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.2% ขณะเดียวกันยังเปิดเผยว่า GDP ไทยในไตรมาส 2/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.8%YoY หากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ยังขยายตัวเพียง 0.2% ดังนั้นจึงเริ่มเห็นศูนย์วิจัยต่างๆ ทั้งเตรียมและหันมาปรับตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้แล้ว

เริ่มกันที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 ลงมาสู่ระดับ 3.0-3.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.7% เนื่องจากมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง และโมเมนตัมการใช้จ่ายที่ชะลอลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไทยในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลึกขึ้นกว่าประมาณการเดิมที่ -1.2% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร 

นอกจากนี้โมเมนตัมการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะอ่อนแรงลงตามรายได้การเกษตรที่ลดลง ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น 

อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็วขึ้น ในภาพรวมก็น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แม้ว่าจะความเสี่ยงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจเข้ามาน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ขณะที่ศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ วิจัยกรุงศรี ระบุว่า เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ ลงจากที่เคยเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.3% โดยจะรอดูสถานการณ์การเมืองในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป

โดย GDP ไทยในไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกจากสภาพัฒน์ออกมาชะลอตัวกว่าที่วิจัยกรุงศรีเคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปีวิจัยกรุงศรียังมีมุมมองว่าเศรฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีภาคท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นในไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในไตรมาส 3 นี้ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และหนุนให้การดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมาเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกของไทยยังคงอ่อนแอจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย ยังระบุถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยมองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจกระทบการเบิกจ่าย งบประมาณและโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงปลายปี  รวมถึงต้องติดตามความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลใหม่

ที่มา – ธนาคารกสิกรไทย,​ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา