เมื่อโจทย์ซื้อบ้านของผู้บริโภคเปลี่ยน นิตยสารที่ให้ความรู้เรื่องอสังหาฯ เลยแปลงร่างธุรกิจมาทำ สตาร์ทอัพ Property Tech รวมข้อมูลอสังหาฯ บ้าน คอนโดแบบมหาศาล ให้ครบจบที่เดียว ด้านผู้เชี่ยวชาญสตาร์ทอัพ ฟันธง “นี่แหละที่จะเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทย”
ออกตัวว่าเป็นรายแรกที่ใช้ Big Data ในธุรกิจอสังหาฯ
Baania (ออกเสียงว่า บาเนีย มาจากคำว่า Baan คือ บ้าน กับ Mania ที่แปลว่า ความหลงใหล) สตาร์ทอัพที่มาพร้อมกับการเป็นผู้ให้บริการข้อมูล Big Data ด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร โดยออกตัวว่าเป็นรายแรกในไทยที่ทำ เพราะต้องการมาแก้ปัญหา Pain point ในการซื้อบ้านของผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากผู้บริโภคในยุคนี้เปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบราคาที่ดิน บ้าน หรือคอนโด
ก่อนการเปิดตัว Baania ทำการศึกษาวิจัยกว่า 2 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลพร้อมที่จะเปิดตัวในวันนี้ อัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัทบาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้อบ้านเปลี่ยนแปลงไปมาก
- กว่า 50% ค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ในรอบ 4 ปีมานี้ ค้นหาเพิ่มขึ้นกว่า 300%
- 95% มีการค้นหาเพื่อเปรียบเทียบ (แต่ปัญหาคือยังไม่สะดวก เพราะไม่มีเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเป็นหลักแหล่งในที่ที่เดียว)
- ค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในการค้นหาและเปรียบเทียบอยู่ที่กว่า 11 โครงการ ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ
- บนอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลการขายไม่ครอบคลุม ผู้บริโภคเห็นไม่หมด
- มีแต่ข้อมูลในระดับอำเภอ(เขต) ตำบล(แขวง) ซึ่งกว้างเกินไป
ผู้บริหาร Baania ย้ำเลยว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคและปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ต้องได้รับการแก้ไข เพราะ Baania มีปรัญาในการทำงานว่า “ผู้บริโภคต้องได้บ้านในราคาที่ต้องการ และผิดพลาดน้อยที่สุด”
แล้วสตาร์ทอัพ Baania จะทำอะไรได้บ้าง?
วีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทบาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า Baania วางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไว้ที่การเป็น Home Market Place ที่ต่างจากรายอื่น เพราะโดดเด่นเรื่องของการใช้ข้อมูลอันมหาศาล (Big Data)
“เราใช้ Big Data มาเก็บข้อมูล เราใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการทำงาน และเรายังใช้สิ่งที่เรียกกันว่า AI กับ Machine Learning ด้วย”
ต่อจากนี้ เมื่อคุณต้องการซื้อบ้าน ก็เข้าไปที่เว็บไซต์ของ Baania โดยจะเข้าผ่านแอพพลิเคชั่นหรือผ่านคอมพิวเตอร์ก็ได้
ความน่าสนใจคือ Baania เก็บข้อมูลย้อนหลังกว่า 5 – 10 ปี ถือเป็นข้อมูลที่เยอะแล้วสำหรับสังคมไทย ถ้าไปเทียบกับในอเมริกาหรือยุโรป เขาเก็บกันมา 50 – 60 ปีแล้ว ทำให้ข้อมูลแน่น แต่สำหรับในไทย สตาร์ทอัพ Baania ถือเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจในการเลือกซื้อ/เลือกขายอสังหาริมทรัพย์ เพราะราคาที่ซ่อนอยู่ข้างหลังม่านจะถูกเปิดเผยมากขึ้น ที่ดินที่ไหนแพง ที่ไหนที่ไหนราคาเข้าถึงได้ ราคาเหล่านี้จะมีการวิเคราะห์เอาไว้โดยทีมงานของ Baania ทั้งหมด
แต่โดยปกติแล้ว ถ้าเราไปเข้าในอินเทอร์เน็ตแล้วหาราคาที่ดิน บ้าน หรือคอนโด สิ่งที่ได้คือราคาในปัจจุบัน อย่างมากก็ราคาในอดีตที่ขายไปแล้วบางส่วน แต่ Baania บอกว่า ด้วยการใช้ Big Data ที่รวบรวมอย่างมหาศาลบวกกับการใช้ AI/Machine Learning ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังได้ไกลถึง 5 – 10 ปี และมากกว่านั้นข้อมูลที่มีอย่างเพียงพอนี้ทำให้สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ราคาในอนาคตได้อีกด้วย
ไม่เปลี่ยนจะทำอย่างไรไหว จากธุรกิจสื่ออสังหาฯ มาสู่ สตาร์ทอัพ Property Tech
ก่อนที่จะกลายร่างมาเป็นสตาร์ทอัพ Baania ในวันนี้ ได้ทำธุรกิจสื่ออสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบนิตสารมาก่อน นั่นคือ Home Buyer’s Guide Chiangmai มากกว่า 13 ปี แต่แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในสภาวะที่ผู้บริหารบอกว่าดีและยังไปไหว แต่เมื่อเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปขนาดนี้จึงทำให้ต้องแปลงร่างมาเป็นสตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ จนกลายมาเป็น Baania ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้
แต่ก่อนการเปิดตัว อย่างที่บอก ในขั้นแรก Baania เริ่มต้นเก็บข้อมูลและให้บริการจากต่างจังหวัดก่อน ปี 2559 ได้เปิดในพื้นที่ภาคเหนือคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ นครราชสีมา ส่วนในปีนี้ 2560 เริ่มขยายสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะขยายบริการไปในขอนแก่น ชลบุรี บางแสน พัทยา ระยอง ในอนาคต และจะขยายสู่ภาคใต้คือ ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี ภายในปี 2561
นอกจากนั้น สิ่งที่ควรรู้ไว้คือ Baania ได้รับการสนันสนุนจากกองทุน 500 TukTuks และบริษัท เรน ทรี ดอท คอม จำกัด และมีแผนจะขยายไปสู่ในระดับ AEC ภายใน 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย
สรุป
ถือเป็นการเปิดตัวสตาร์ทอัพด้านอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทย Baania ที่ใช้ Big Data เข้ามาจัดการข้อมูลอันมหาศาล ทำให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลราคาที่ดิน บ้าน และคอนโดได้อย่างรอบด้านด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย นับเป็นการวิ่งไล่ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่น่าสนใจ
จะว่าไปแล้ว ในวงการสตาร์ทอัพบ้านเรายังไม่มียูนิคอร์นเลยสักตัว (สตาร์ทอัพมูลค่าระดับพันล้านเหรียญ) แต่ในงานเปิดตัว Baania “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks ฟันธงว่า “นี่แหละ ที่จะเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทย”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา