Krungthai Compass ชี้กลุ่มคนรวยสุดมีส่วนแบ่งรายได้ฯ สูงกว่ากลุ่มคนจนสุด 16.4 เท่า พร้อมย้ำ 4 ข้อซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำไทย

Krungthai Compass ภายใต้ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำของไทย แม้จะตัวเลขสัดส่วนคนจนหลากมิติ (MPI) อยู่ที่ 0.6% ของจำนวนประชากร และสัดส่วนคนจนจะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 อยู่ที่ 6.3% จากปี 2531 อยู่ที่ 65.2% (ตัวเลขสัดส่วนคนจนนี้สะท้อนสัดส่วนประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน)

แต่กลับพบว่า ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ด้านรายได้ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยพบว่า ในปี 2564 ประชากรกลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกมีส่วนแบ่งรายได้ของทั้งประเทศเพียง 2.0% ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างจากในปี 2531 ที่อยู่ระดับ 1.8% ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของประชากรกลุ่มคนรวยสุด 10% ท้ายในปี 2564 อยู่ที่ 33.4% (จากปี 2531 อยู่ที่ 37.2%) ซึ่งสะท้อนว่าการปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศ

โดยกลุ่มคนรวยที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้สูงกว่ากลุ่มคนจนที่สุดมากถึง 16.4 เท่า นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำออกในด้านต่างๆ เช่น ความสามารถในการจับจ่าย การครอบครองทรัพย์สิน โอกาสทางการศึกษา การใช้บริการสาธารณูโภค และการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเทียบสัดส่วนระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนจนที่สุดนั้นจะเห็นว่า กลุ่มคนรวยที่สุดมีความได้เปรียบกลุ่มคนจนที่สุดในด้านการสะสมความมั่งคั่ง และการใช้จ่ายบริโภคทรัพยากรเป็นอย่างมาก ตามข้อมูลล่าสุดในปี 2564 กลุ่มร่ำรวยที่สุดถือครองทรัพย์สินสูงกว่ากลุ่มยากจนคิดเป็น 48.9 เท่า และตัวเลขการใช้จ่ายยังสูงกว่าถึง 8.6 เท่า

ทั้งนี้ ด้วยฐานะด้านทรัพย์สินของผู้มีรายได้สูง เป็นทั้งเครื่องมือที่สร้างรายได้ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและใช้แสวงหาความมั่งคั่งเพิ่มเติม อีกทั้งยังเป็นสินทรัพย์ส่วนที่ออมไว้เพื่อบรรเทาความผันผวนจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน กลุ่มคนยากจนมีโอกาสเจอความขัดสนรุนแรงขึ้นจากสิ่งไม่คาดคิด และจำเป็นต้องก่อหนี้ (เช่น กู้หนี้นอกระบบเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป) 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย อาจส่งผลให้ภาวะความขัดสนดังกล่าวกลายเป็นกับดักที่ถูกถ่ายทอดกันต่อไประหว่างรุ่นสู่รุ่น เช่น โอกาสการเข้าถึงด้านการศึกษา ด้านการสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ 

ทั้งนี้ ในระยะถัดไปยังมี 4 ประเด็นที่อาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ได้แก่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ข้อจำกัดในการเข้าถึงและการปรับตัวให้เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยี

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง

ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่เติบโตช้า โดยหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

  • ปี 2553-2557 ที่สินเชื่อเติบโตสูงกว่าปกติเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่และนโยบายรถยนต์คันแรก 
  • ปี 2558-2562 สินเชื่อเติบโตชะลอลง แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังสูงจาก GDP ที่โตช้า ()
  • ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 90% ต่อ GDP ทั้งจาก GDP ที่ลดลงในช่วง COVID-19 และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ

นอกจากยังเป็นปัญหาจากฝั่งรายได้หรือ GDP ที่เติบโตต่ำอีกด้วย ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหา GDP เช่น การเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน แต่เน้นแก้ปัญหาที่ยอดสินเชื่ออย่างเดียวอาจเป็นการคุมสินเชื่อให้โตต่ำกว่าศักยภาพซึ่งจะสร้างผลเสียข้างเคียงต่อเศรษฐกิจและกระทบความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเงินทุนได้

อย่างไรก็ตาม ผู้มีรายได้น้อยกำลังเผชิญความเปราะบางในการชำระคืนหนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากข้อมูลหนี้เสีย (NPLs) ในจังหวัดที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำซึ่งพบว่าอยู่ในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สังคมสูงวัย (Aging society)

จากการประเมินของ UN พบว่า ในปี 2573 ไทยจะมีผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 15.3 ล้านคน คิดเป็น 21% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในปี 2573 จากปี 2565 ที่มีอยู่ 10.9 ล้านคน (คิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด)

ทั้งนี้ สังคมสูงวัยกระทบต่อความเหลื่อมล้ำใน 3 ด้านหลัก

  • จำนวนกลุ่มเปราะบางสูงวัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ “แก่ก่อนรวย” หรือผู้ที่มีรายได้เงินออมและสินทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ  ล่าสุด ผลสำรวจผู้สูงอายุโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า กว่า  26% ระบุว่า มีรายได้พอใช้จ่ายบางครั้ง และอีก 16% ระบุว่าไม่เพียงพอ
  • สัดส่วนกำลังแรงงานลดลง ทำให้การพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าแหล่งรายได้หลักของผู้สูงวัยกว่า 32% มาจากบุตรหลาน
  • ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่มีความท้าทายด้านการจัดเก็บรายได้ภาษี

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสี่ยงต่อส่งผลต่อผลผลิตภาคการเกษตร  ปัจจุบันไทยมีแรงงานในภาคเกษตร 11.59 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของแรงงานทั้งหมดในไทย ที่สำคัญครัวเรือนในภาคเกษตรยังมีสัดส่วนคนจนสูงถึง 12% ของแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมด (ซึ่งสูงกว่าภาคส่วนอื่นๆ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวรับความเสียหายได้น้อยกว่าอีกด้วย

ดังนั้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาเพิ่มความเปราะบางให้กับเกษตรกรและซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยได้

ข้อจำกัดในการเข้าถึงและการปรับตัวให้เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยี

การปรับตัวให้เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร ก่อให้เกิดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital gap) ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ

  • ปัญหาด้านความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Availability) เช่น สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุม
  • ปัญหาด้านความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Affordability) เช่น บางกลุ่มอาจไม่เข้าถึง Smartphone
  • ปัญหาด้านทักษะและการปรับตัวในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Adoption and Adaptation) เช่น ผู้สูงอายุ

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ การเข้าถึงโอกาสหลายด้าน เช่น การสร้างรายได้ช่องทางออนไลน์ บริการการแพทย์ทางไกลและการเรียนออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ในตลาดแรงงานยังมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัล ซึ่งผูกโยงกับโอกาสในการได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น (Skill premium) 

อย่างไรก็ตามจากปัญหาทั้งหมดนี้ ทาง Krungthai Compass มองว่า ประเทศไทยควรดึงจุดเด่นด้านพัฒนาการ Digital economy มาผสานกับอานุภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวข้ามความท้าทายจากความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการสร้างงาน กระจายรายได้ การเข้าถึงเงินทุน การออมและการลงทุน อาทิ การต่อยอดจากฐานระบบ NDID ระบบ PromtPay และ PromptBiz

ที่มา – ธนาคารกรุงไทย

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา