ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เศรษฐกิจในอินเดียน่าจับตามอง ถึงขนาดที่ PwC คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2037 จะกลายมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกรองจากจีน ล่าสุด มีรายงานน่าสนใจจากฮาร์วาร์ด บอกว่า ในปี 2025 อัตราเติบโต GDP อินเดียจะสูงกว่าจีนเกือบเท่าตัว
เศรษฐกิจอินเดียจะโตต่อเนื่อง เพราะกระจายการลงทุนสูง
รานงายการวิจัยจากศูนย์พัฒนาแห่งชาติของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University’s Center for International Development) หรือ CID เปิดเผยว่า ในปี 2025 GDP ของอินเดียจะโตอยู่ที่ประมาณ 7.72% ในขณะที่จีนจะหดตัวลงมาอยู่ที่ 4.41% เท่านั้น ส่วนประเทศที่จะมีการเติบโตของ GDP สูงที่สุดในโลกเป็นประเทศในแถบแอฟริกาคือ ยูกันดา อยู่ที่ 7.73%
ต้องยอมรับว่า ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนจากจีนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียมากขึ้น ในรายงานบอกว่า แนวโน้มจะเป็นแบบนี้ไปอีกกว่า 10 ปี เนื่องจากอินเดียมีโอกาสที่จะกระจายการลงทุนไปสู่ภาคการผลิตและการส่งออกได้อีกหลากหลายมาก นอกเหนือไปจากที่อินเดียได้ทำอยู่แล้ว คือการส่งออกผลิตภัณฑ์เคมี ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
Ricardo Hausmann ผู้อำนวยการของ CID และเป็นศาสตราจารย์ที่ฮาร์วาร์ด บอกว่า “[ประเทศ]เศรษฐกิจน้ำมันรายใหญ่กำลังเผชิญหน้ากับความผิดพลาดจากการพึ่งพาทรัพยากรเพียงหนึ่งเดียว ในขณะที่อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามได้สะสมความสามารถทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย จะทำให้นำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้เลยว่าในไม่ช้านี้ ประเทศเหล่านี้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วอย่างแน่นอน”
ความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจ
ในรายงานยังบอกอีกว่า ประเทศที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วนั้นต้องมาจากการผลิตสินค้าที่ซับซ้อนและทันสมัย หรือที่เรียกว่า “ความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจ” (Economic Complexity) โดยความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจในประเทศหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถในการผลิต และรวมถึงการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศด้วย
พูดง่ายๆ คือ ประเทศที่จะมีเศรษฐกิจดีทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้น ต้องมีการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่การผลิตขั้นต้น เพราะใครๆ ก็ทำได้ เช่น ถ้าปลูกยาง แล้วส่งออก ไม่แปรรูป ไม่สร้างความซับซ้อนในการผลิต ท้ายที่สุดจะทำให้ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจได้ เป็นต้น
ทีนี้ ลองไปดูสถิติที่จัดลำดับประเทศที่มีความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจในปี 2015 พบว่า ญี่ปุ่นครองอันดับที่ 1 ในขณะที่จีนอยู่อันดับที่ 23 (ตกลงมา 4 จุด) ส่วนอินเดียอยู่ที่ 46
แม้ว่าในสถิตินี้ จีนจะอยู่ในอันดับที่ดีกว่าอินเดีย แต่ด้วยความหลากหลายของการเมือง สถาบันทางสังคม ภูมิศาสตร์ และประชากรของอินเดีย ในรายงานของฮาร์วาร์ดระบุไว้ว่า ในอนาคตอินเดียจะมีความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การผลิตสินค้าที่ซับซ้อนและทันสมัยมากขึ้น แต่จะแซงหน้าจีนในแง่ของภาพรวมเศรษฐกิจหรือไม่นั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป
ที่มา – QUARTZ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา