ตำแหน่งเดียวกัน แต่เงินไม่เท่ากัน ปัญหาโลกแตก เจอได้ทุกที่ แบบนี้ทำไงดีนะ?

กับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หรือเปล่า บวกลบค่าใช้จ่ายรายเดือนแล้ว เหลือพอให้ชื่นใจมั้ย ทุกครั้งในการสัมภาษณ์งาน เราจึงต้องมีธงในใจว่ารายได้ในระดับเท่านี้นะ ถึงจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายและเพียงพอต่อค่าเหนื่อยของเรา แล้วได้ออกมาเป็นรายได้ที่เราพอใจ

เป็นอันรู้กันว่าแต่ละสายงาน ก็มีเรตเงินเดือนที่ต่างกันไป แต่พอมาซูมดูใกล้ ๆ แม้แต่สายงานเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน ก็อาจได้เงินเดือนไม่เท่ากันก็ได้ เลยทำให้หลายบริษัทมีนโยบายเก็บเงินเดือนเป็นความลับ แล้วอะไรกันนะที่ทำให้ตำแหน่งเดียวกัน แต่ได้เงินเดือนไม่เท่ากัน

 

การต่อรองตั้งแต่แรกเข้า 

คารมเป็นต่อไม่ได้หยิบมาใช้ได้แค่ในเรื่องรัก หากอยากจะได้เงินดีก็ต้องงัดสกิลคารมที่มีมาใช้กันตั้งแต่รอบสัมภาษณ์ ด่านสำคัญที่จะกำหนดว่าเราได้ไปต่อกับที่นี่หรือเปล่า เงินเดือนไม่ใช่แค่ข้อเสนอจากฝั่งนายจ้างได้คุมเกมอย่างเดียวอีกต่อไป การต่อรองเงินเดือน กลายเป็นอีกหนึ่ง Soft Skill ที่หลายคนควรมีติดตัว 

จับจุดให้ถูกว่าเขามองหาอะไร ขายของที่มีในตัวเองให้ได้ อาจทำให้เราได้เงินเดือนแรกเข้ามากกว่าคนอื่น พอขยับตำแหน่งครั้งต่อไป ยิ่งทำให้เราได้เปรียบมากกว่าคนอื่น 

 

ตำแหน่งเดียวกัน ความรับผิดชอบอาจต่างกัน 

กางนามบัตรออกมา ชื่อตำแหน่งเหมือนกันไม่มีผิด แต่สิ้นเดือนทีไร ความอู้ฟู่ทำไมมันต่างกันนะ งั้นลองย้อนกลับมาดูในวันทำงานกันสักหน่อย สมมติว่า A และ B ตำแหน่งผู้ช่วยเหมือนกัน แต่ว่า A เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม ส่วน B เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ขอบเขตของงานย่อมแตกต่างกัน รายได้ก็เลยแปรผันไปตามความรับผิดชอบอย่างเลี่ยงไม่ได้

การจะได้รับผิดชอบงานในสเกลที่ใหญ่กว่า ก็ต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ที่มากกว่า แน่นอนว่าความสามารถและประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งที่เสกมาได้ในเวลาข้ามคืน คนที่มีมากกว่าและนำมันออกมาใช้ได้อย่างชัดเจน ย่อมมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีโอกาสได้ค่าตอบแทนที่มากกว่า

 

ค่าครองชีพก็มีผล

ทำงานต่างจังหวัดกับทำงานในเมือง เรื่องถกเถียงที่ทำให้เหล่าคนทำงานหนักใจมานักต่อนัก ด้วยค่าครองชีพที่ต่างกันไปในแต่ละย่าน ทำให้เราต้องมองหางานที่ครอบคลุมค่าครองชีพ ฝั่งนายจ้างเองก็เช่นกัน ตำแหน่งที่ตั้งขององค์กรและความถนัดของตลาดแรงงานในพื้นที่นั้น ก็มีผลต่อการจ่ายเงินเดือนด้วย

สมมติว่าองค์กร A มีทั้งหมด 3 สาขา อยู่ในเมืองค่าครองชีพสูงและนอกเมือง หากเราสมัครงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่ต่างสาขากัน ฝั่งนายจ้างเองก็มีงบจ้างต่างกัน เราอาจจะได้ข้อเสนอไม่เท่ากันไปด้วย

 

ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เงินเดือนในตำแหน่งเดียวกันแตกต่างกัน อย่างอายุงาน คนที่ทำมา 5 ปี กับคนที่เพิ่งเข้า วุฒิการศึกษา ก็ต่างกันเป็นธรรมดา หากเรารู้สึกว่าเงินเดือนที่ได้อยู่นั้นไม่สมดุลกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ เราสามารถนำเรื่องนี้พูดคุยกับหัวหน้าและ HR ได้ ซึ่งวิธีนี้อาจจะไม่ได้ผลตั้งแต่การเรียกร้องในครั้งแรก เราสามารถเก็บสิ่งนี้เอาไว้พูดคุยอีกครั้งในตอนปรับเงินเดือนและตำแหน่งตามอายุงานในภายหลังได้

ทั้งนี้ การเปิดเผยเงินเดือนระหว่างคนในองค์กร ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท ว่าจำเป็นต้องเก็บเป็นความลับหรือไม่ สุดท้ายแล้ว การต่อรองเงินเดือนให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายตั้งแต่เริ่ม อาจทำให้การทำงานราบรื่นตั้งแต่เริ่ม

 

อ้างอิง

Chron.com / BBC Worklife

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา