หากเราเป็นคนตรงต่อเวลาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนัดกินข้าว หรือธุระสำคัญ คนอื่นจะรู้สึกว่าเราทำถูกต้อง แต่พอเปลี่ยนสถานการณ์เป็นที่ทำงานปุ๊บ การต่อตรงต่อเวลาเป๊ะ ๆ มักจะถูกตั้งคำถามเสมอ โดยเฉพาะเวลากลับบ้าน เริ่มเก็บของเมื่อไหร่ ตาวิเศษในออฟฟิศเริ่มทำงานทันที
“กลับแล้วหรอ?” “กลับไวจัง มีนัดหรอ?”
คำตอบในใจของเราคงหนีไม่พ้น “เปล่า ไม่มีนัด แต่มันถึงเวลากลับแล้ว” แต่ก็ต้องยิ้มเจื่อนแทนคำตอบกลับไป ทั้งที่มาตรงเวลา จัดการงานได้เสร็จเรียบร้อย พอถึงเวลากลับตามปกติ ทำไมถึงถูกทักอย่างกับไม่ใช่เรื่องปกติกันนะ
ในทางกลับกัน หากเราเห็นใครนั่งทำงานจนล่วงเลยเวลาเลิกงานไป สายตาที่มองเข้ามาอาจชื่นชมในความขยันขันแข็ง อุตส่าห์สละเวลาส่วนตัวมาทำงาน Work ไร้ Balance ก็ไม่สนใจ ขอแค่งานเสร็จเป็นพอ แต่นั่นหมายความว่า เรากำลังให้คะแนนพิเศษคนที่ทำงานหนักกว่าคนอื่นอยู่หรือเปล่า
หลายคนติดกับดักของ ‘Busy Culture’ คือ ความรู้สึกผิดเมื่อตัวเองไม่มีอะไรทำ เพราะอยู่ท่ามกลางคนที่เหมือนงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เรารับผิดชอบงานในมือได้ทันเวลา และพร้อมสะพายกระเป๋ากลับบ้านตามปกติ แต่พอกับดัก Busy Culture ทำงาน พี่คนนั้นก็ยังนั่งอยู่เลย น้องคนนี้ก็ยังไม่ลุกไปไหน ความลำบากใจดักรอเราตั้งแต่หน้าประตู ถ้าหากเดินออกไปทั้งที่ใคร ๆ ต่างนั่งทำงานอยู่ จะดูเหมือนคนไม่ขยันหรือเปล่านะ
พอเป็นอย่างนี้แล้ว หลายคนเลือกที่จะนั่งต่อจนกว่าจะมีใครลุกเป็นเพื่อน เลยเวลาเลิกงานจริงไปบ้าง 15 นาที หรือ 30 นาที ก็ยังดีกว่าลุกขึ้นมาแล้วโดนถามว่าทำไมถึงรีบกลับ ทั้งที่ถึงเวลากลับแล้ว การนั่งแช่จนกว่าจะมีเพื่อนกลับ คงไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานเท่าไหร่นัก จะว่าไป การโหมทำงานหลาย ๆ ชั่วโมงติดกัน มันดูขยันก็จริง แต่มันดีกับเราหรือเปล่า?
งานวิจัยหัวข้อ ‘Impact of working hours on sleep and mental health’ ตีพิมพ์บน Occupational Medicine เมื่อปี 2017 ได้แบ่งผู้เข้าร่วมทดสอบเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำงานปกติและกลุ่มที่ทำงานเกินเวลา และใช้แบบวัดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในโรงพยาบาล (HADS) เพื่อประเมินอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และใช้ดัชนีวัดคุณภาพการนอนหลับของพิตส์เบิร์ก (PSQI) เพื่อวัดคุณภาพและรูปแบบการนอนหลับ
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตที่แย่ลง ระดับความวิตกกังวล อาการซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น และอาการเหล่านี้กับการรบกวนการนอนหลับในชีวิตประจำวันอีกด้วย
นอกจากสุขภาพใจแล้ว สุขภาพกายก็แย่ไปตามกัน งานวิจัยจาก University College London พบว่า กลุ่มคนทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจถึง 33% ถ้าเทียบกับกลุ่มคนทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ดูเหมือนว่าการทำงานเกินเวลาจะมีผลเสียมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะนั่งทำเนียนเหมือนงานล้นมือมาตั้งแต่เช้า หรืองานยุ่งจริง ๆ จนลุกรากงอกลุกไปไหนไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ควรส่งผลกับคนที่สามารถจัดการงานของตัวเองได้ทันเวลา และอยากจะกลับบ้านตามเวลาปกติ ในทางกลับกัน คนที่ยังนั่งอยู่แม้จะเลยเวลางานมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนขยันไฟลุกเพียงอย่างเดียว เขาอาจจะเป็นคนที่ทำงานไม่เสร็จได้ทันเวลาก็ได้
หากเรามั่นใจว่ารับผิดชอบงานในมือตัวเองเรียบร้อย การกลับบ้านตรงเวลาก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร อย่าปล่อยให้การทำงานหนักเกินเวลา ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น กลายเป็นกับดักที่ทำให้เรารู้สึกผิดเมื่อเก็บกระเป๋า
อ้างอิง
The Guardian / Oxford Academic
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา