คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง: ความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้การมูฯ เฟื่องฟูในไทย จนเป็นฮับใหญ่เรื่องของขลัง

บทความโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

การมูเตลู หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าการมูฯ แม้จะเป็นคำใหม่ ที่หมายถึงการบูชา การกราบไหว้ การขอพร ด้วยหลักความเชื่อที่หลากหลาย แต่แท้จริงภายใต้คำนี้ กลับซุกซ่อนค่านิยม และรากฐานทางสังคมไทยอันหลากหลาย และน่าสนใจ

ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่าหากพูดถึงเรื่องไสยศาสตร์ ที่รวมการมูฯ เข้าไปด้วยนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ของขลัง โหราศาสตร์ การทำนาย ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในทุกสังคม เพียงแต่ว่าในสังคมไทยนั้น เรื่องพวกนี้มีความโดดเด่นขึ้นมาจากการที่ของเหล่านี้เกี่ยวพันไปกับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ซึ่งสามารถนิยามได้ว่า “ศาสนาไทย” ที่ผสานความเชื่อรวมกัน ผี-พราหมณ์-พุทธ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทยทั้งในแง่ความเชื่อ ของขลัง และตลาดสายมูฯ มูลค่ามหาศาล ที่ภาครัฐมีโอกาสจัดเก็บภาษี

 

สายมู

ศาสนาผี คือความเชื่อที่ยังเป็นแก่นของไทย

อ.คมกฤช อธิบายเพิ่มว่า ศาสนาผีเป็นศาสนาดั้งเดิมก่อนที่พุทธและพราหมณ์จะเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งพุทธและพราหมณ์เป็นศาสนาที่มาจากอินเดีย เมื่อมาพบกับความเข้มแข็งของศาสนาผี จึงถูกหลอมรวมกับความเชื่อท้องถิ่น และก่อให้เกิดการบูชาวัตถุมงคล หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเชิงวัตถุที่เกี่ยวโยงกับตัวศาสนา ทั้งพุทธ และพราหมณ์ 

แม้ว่าในฉากหน้าประเทศไทยจะนับถือพุทธ แต่ก็มีพิธีกรรมราชสำนักแบบพราหมณ์ แต่ความเชื่อที่เป็นแกนเบื้องหลังคือศาสนาผี โดยในศาสนาผีนี้ เป็นชุดความเชื่อที่สัมพันธ์อยู่กับโลกธรรมชาติ เรื่องพลังงาน เรื่องวิญญาณ โลกหลังความตาย การเชื่อในสิ่งที่เป็นโทเทม หรือสัญลักษณ์ประจำเผ่า รวมไปถึงวัตถุมงคล ทำให้ศาสนาผีที่ยังมีรากฐานแข็งแกร่งอยู่ ยืมรูปลักษณ์จากพุทธและพราหมณ์ไปใช้

อ.คมกฤช ยกตัวอย่างว่า แต่เดิมอาจจะเคยมีเครื่องรางบางชนิดที่นับถือกันในหมู่ชาวบ้าน ต่อมาก็เปลี่ยนให้มันเป็นรูปลักษณ์ เช่นพระพุทธรูป เป็นเครื่องรางของขลังแบบอื่น หรือใช้เลขยันต์แบบตามคติอินเดีย แต่มาเขียนแบบไทย ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ น่าเลื่อมใสมากขึ้น

“จริงๆแล้วรากฐานของตัวความเชื่อของไสยศาสตร์หรือมูฯ ส่วนนึงคือของเราเองอยู่แล้ว พราหมณ์เองก็มีความเชื่อแบบนึง พุทธศาสนาเองก็มีแบบนึง แม้พุทธศาสนาเองเนี่ยแม้ว่าถ้าเราเชื่อว่าพุทธศาสนาดั้งเดิมมันไม่ได้มีอะไรแบบนี้ แต่ว่ามันไม่ได้มาขัดแย้งกับความเชื่อผีที่มีอยู่ก่อน แต่พยายามที่จะผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน เลยกลายเป็นว่าส่วนผสมทั้ง 3 อย่าง ก่อรูปให้เกิดรูปแบบความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ผสมกันอยู่ ไม่ได้มีอันใดอันหนึ่งเป็นเป็นพิเศษ เพียงแต่ว่ารากฐานเนี่ยก็พูดตรงๆ เลยก็คือศาสนาผี”

สายมู
ภาพจาก shutterstock

ความเป็นอยู่แบบไทยๆ ทำให้ต้องมูฯ


ไม่ใช่เพียงแค่ชุดความเชื่อที่วางรากฐานในสังคมไทยเท่านั้นที่ทำให้การบูชา การไหว้ ในเรื่องทางไสยศาสตร์เติบโตในประเทศไทย อ. คมกฤชยังอธิบายว่าการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีส่วนเกี่ยวพันอย่างเลี่ยงไม่ได้กับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ

“ถ้าคนรู้สึกว่าเขามั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่น มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งเรื่องพวกนี้ (มูเตลู) สมมุติว่าถ้าเรามีสวัสดิการที่ดี เรามีอะไรที่ทำให้เราแน่นอนได้ว่าเราจะไม่ลำบาก เราก็อาจจะไม่จำเป็นจะต้องลุ้นหวยทุกงวด”

เขายังอธิบายอีกว่าการไม่มีสวัสดิการหรือสภาพชีวิตที่ดีเพียงพอ ทำให้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์จึงมีบทบาทมาก แม้ในประเทศที่มันมีสวัสดิการดี อาจจะยังมีเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็น “First Choice” หรือมีความสำคัญเท่าในประเทศไทย มีสถานะเป็นแค่ทางเลือก

“เผอิญบ้านเรา เศรษฐกิจและสังคมมันไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์เลยเฟื่องฟู คนหนุ่มสาวเหล่านี้เขาก็ติดอยู่ในวงจรของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคมแบบนี้เหมือนกัน แล้วมันก็ยิ่งทำให้การขายของพวกนี้มันมีมาก”

สายมู

ขณะเดียวกันการเลือกบูชาวัตถุมงคล หรือการมูฯ ก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนต่างจังหวัดอย่างที่คนเข้าใจกัน แต่แพร่กระจายไปถึงคนรุ่นใหม่ในเมือง และชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ซึ่ง อ.คมกฤชคิดว่าเป็นการสะท้อนถึงการปฏิเสธศาสนาในลักษณะของการจัดตั้ง องค์กร หรือสถาบัน

“ผมคิดว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ที่เราเห็นว่าเขาอาจจะมีความคิดสมัยใหม่ เขาปฏิเสธศาสนา แต่มันไม่ได้หมายความว่าเขาปฏิเสธความเชื่อ เขาอาจจะปฏิเสธศาสนาในแง่ที่มันเป็นสถาบัน เช่นเขาไม่ชอบวิธีการแบบนักบวช ไม่ชอบศาสนาที่เป็นองค์กร ที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันมีอำนาจมากดทับเขา แต่ว่าวัตถุมงคลไม่ได้มีองค์กร ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการที่มันมากดทับเขา เลยไม่แปลกที่เราก็จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมาก บอกว่าไม่เอาศาสนาแต่เขาก็ยังเชื่อเรื่องพวกนี้อยู่ มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้”

ไทย – ฮับของสินค้าทางความเชื่อ

การเติบโตได้ดีของชุดความเชื่อทางไสยศาสตร์ในไทยอย่างไม่มีข้อจำกัดนั้น นอกจากจะสร้างความหลากหลายในชุดความเชื่อแล้ว ความหลากหลายในการบริโภค “สินค้าทางความเชื่อ” เองก็ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศไทย

อ.คมกฤช อธิบายเพิ่มเติมว่าอิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และกระแสการบริโภคนิยม ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า และที่สำคัญคือเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่

และเมื่อผสมเข้ากับที่ประเทศรอบทิศในเอเชียไม่ได้มีความหลากหลายทางความเชื่อที่เติบโตแบบพุ่งพรวดๆ เหมือนไทย ก็ส่งผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าขายของสินค้าทางไสยศาสตร์

“ตัววัตถุมงคล ตัวเครื่องรางของขลังเนี่ยมันผลิตจำนวนมากในแต่ละปี แล้วประเทศที่มันอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้มีฐานการผลิตแบบนี้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ทำให้คนประเทศเหล่านี้ต่างมุ่งหน้ามาที่เรา เพื่อมาซื้อสินค้าทางความเชื่อ แม้กระทั่งคนไทยเอง ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ภายในประเทศ มันก็เลยแสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยจากโลกโบราณคือฐานความเชื่อของเรา แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ทำให้สังคมไทยมันโดดเด่นเรื่องนี้มันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ มันยิ่งทำให้เรากลายเป็นศูนย์กลางของสินค้านี้ในตลาดโลก”

สายมู
ภาพจาก shutterstock

สิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ไสยศาสตร์ในสายตาของ อ.คมกฤชคือการที่ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานผลิตขนาดใหญ่

“เรามีเกจิอาจารย์ มีเจ้าสำนัก มีสำนักอะไรต่างๆ มากมาย แล้วเราก็ไม่ได้ค่อยมีข้อห้ามในเรื่องพวกนี้เท่าไหร่”

จุดขายความเชื่อไทยคือความ exotic

อ. คมกฤชยังอธิบายต่อว่าภาพจำด้านความเชื่อของไทยถูกตอกย้ำด้วยสื่อ เพราะหนังผีไทย ไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้นที่ดู แต่สามารถผลิตไปขายยังต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน ซึ่งได้ขยายภาพความ Exotic ทางความเชื่อของไทย และของเหล่านั้นก็ถูกขายอย่างเปิดเผยและแพร่หลาย

“ถ้าคุณไปเที่ยวท่าพระจันทร์ คุณก็จะเห็นเลยว่า โพวกเครื่องรางของขลังที่วางเรียงรายให้คุณเลือก มันมีสารพัดชนิดที่แปลกพิสดาร ซึ่งอันนี้มันไม่เหมือนในต่างประเทศ ต่างประเทศ หลายที่เอาของพวกนี้มาตั้งขายแบบนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น (ไทย) ก็เลยกลายเป็นศูนย์กลางที่คนที่สนใจเรื่องพวกนี้”

เพราะในความปกติของไทย ต่างประเทศกลับเป็นสิ่งที่หาไม่ได้

“คนจีนจะชอบอะไรแบบนี้ในเมืองไทย เช่น กุมารทอง ลูกกรอก ศพเด็ก หัวกะโหลก เขารู้สึกว่ามันมีความ Exotic คือถามว่าเขามีไสยศาสตร์ไหม คนฮ่องกง สิงคโปร์ มันก็มีแบบจีนนั่นแหละ เพียงแต่ว่ามันไม่ Exotic พอ มันไม่รู้สึกว่า มันแรง มันขลัง” 

“เราจะเห็นได้ว่าเกจิอาจารย์หลายคนในเมืองไทยเนี่ยที่ออกไปในแนวนั้น จะเป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้าสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง ค่อนข้างมากนะครับ หรือว่าอย่างพระเกจิอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรที่พิเศษๆ ดูแบบแรงๆ ขลังๆ ก็จะไม่ค่อยเป็นที่นิยม”

อ.คมกฤชเล่าต่อว่าคนไทยเองก็รู้ว่าชาวต่างชาติต้องการอะไรจากผลิตภัณฑ์ทางความเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจีน

“วัดไทยหลายๆแห่ง ถึงต้องมีวิหารเจ้าแม่กวนอิม วิหารไฉ่ซิงเอี๊ยะ มีเทพเจ้าเห้งเจียอยู่ที่วัด วัดไทยทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งวัตถุมงคลในหลากหลายสำนักเนี่ยออกมาแบบกึ่งไทยกึ่งจีน อย่างเหรียญศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องมียันต์จีน เอามามิกซ์กัน เอาง่ายๆหรือแม้กระทั่งวัดที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ซึ่งคนจีนชอบไปไหว้ ก็ต้องทำอะไรที่รองรับความเชื่อแบบจีน อย่างเช่นวัดซำปอกง ไม่ว่าจะกรุงเทพฯหรือที่อยุธยาครับ พอตรุษจีนเขาก็จะออกยันต์จีนมาให้คนไทยเชื้อสายจีน ทั้งๆ ที่มันเป็นวัดไทย”

สายมู
ภาพจาก shutterstock

ทั้งนี้การตลาดของวัตถุมงคล นับเป็นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องพวกนี้ถูกเน้นย้ำ เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูปรากฎการณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีการ “เปลี่ยนสิ่งศักด์สิทธิ์” ที่อยู่ในกระแสตลอดเวลา

“ถ้าเราจำได้จะมีช่วงที่เราฮิตจตุคามรามเทพ แล้วช่วงที่ฮิตเรื่องลูกเทพ และก็ซาลงไป จากนั้นก็มาเป็นไอ้ไข่วัดเจดีย์ มีช่วงนึงเป็นพระพิฆเนศแล้วก็กลับมาเป็นไอ้ไข่วัดเจดีย์อีกรอบ ตอนนี้ก็เป็นท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งถ้าเรามองจากในแง่ของการตลาดเนี่ย เป็นไปได้ว่าบรรดาคนที่เขาอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ต้องสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อทำให้วงการนี้มันรันต่อไปได้เพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอายุจำกัด คิดดูปีนึงมันหมดแล้วอ่ะคนเช่ากันไปหมดแล้ว มันก็ต้องมี Story telling เพื่อทำให้วงจรนี้ไม่หยุดลง”

ไม่เพียงเท่านั้น ตลาดวัตถุมงคลเหล่านี้ยังมีสภาวะที่หลากหลาย ปรับแต่งได้

ความเชื่อและวัตถุมงคลที่ customize ได้ เลือกได้ น่ารักได้

การบูชาวัตถุมงคลเหล่านี้ ยังแสดงให้เห็น ‘ความเชื่อ’ บนการแข่งขันแบบทุนนิยมในตลาดเฉพาะ

“มันมองจากภาพรวมของเศรษฐกิจได้ คือเดิมเวลาที่เราผลิตของแบบ Mass Product ที่ผลิตออกมาทีละเยอะๆ ขายออกมาเยอะๆเหมือนกันหมด ตอนนี้มันไม่ใช่เสียทีเดียว เศรษฐกิจทุนนิยมแบบใหม่เนี่ยมันมี Niche Market มันมีหลายกลุ่มต้องการความหลากหลาย ต้องการความจำเพาะ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตเนี่ยมันไม่ได้มีแต่รายใหญ่ๆ อีกต่อไปแล้ว มันไม่ได้มีแต่วัดใหญ่ๆ ออกวัตถุมงคลก็ได้ ผมจะออกก็ได้ใช่ไหม สำนักเราตั้งตัวเป็นอาจารย์ เราจะออกก็ได้”

“เพราะฉะนั้นเนี่ยพอมันเป็นลักษณะนี้ เราก็เลยเห็นเลยว่า เขาสามารถผลิตได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า หรือแม้กระทั่งให้ลูกค้าไป customize เองก็ได้ อันนี้มันก็เป็นลักษณะโดยรวมของสินค้าในโลกสมัยใหม่ ที่มันต้องเป็นอย่างนั้น แล้ววัตถุมงคลก็ไม่ต่างกัน มันก็ต้องออกมารองรับความต้องการแบบ Niche Market แบบนั้นเหมือนกัน”

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในประเด็นเหล่านี้ อ.คมกฤช ได้พูดถึงการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของวัตถุมงคลต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น รูปลักษณ์ของเทวรูปที่จะเริ่มเห็นการออกแบบที่น่ารักมากขึ้นโดยเฉพาะเทวรูปฮินดู

“พระพุทธรูปยังไม่มีใครกล้าทำนะ แต่ว่าฮินดูจะมีเยอะมากในบ้านเรา พระพิฆเนศเบบี้ พระศิวะเบบี้ อะไรเยอะแยะ แล้วไม่ได้ทำเป็นอาร์ตทอย (ของเล่นที่ออกแบบโดยศิลปินต่างๆ มักมีลักษณะเป็นตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา)ด้วย ส่วนอาร์ตทอยเนี่ย ผมคิดว่ามันก็เป็นการตลาดใหม่สำหรับคนที่เขาไม่ถึงกับเชื่อเรื่องพวกนี้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องพวกนี้ มันอยู่ตรงกลางพอดี เพราะฉะนั้นมันก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่สะสมที่เป็นแนวเทพเจ้าหรือแนวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่แน่นอนเป้าหมายของมันไม่ได้ทำให้คนไหว้”

สายมู

การเปลี่ยนรูปลักษณ์ของวัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังมีอยู่ได้สะท้อนอะไรหลายอย่าง เช่น คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการรูปลักษณ์แบบเดิมอีกต่อไป เพราะเขารู้สึกว่าอาจจะเข้าไม่ถึง หรือรู้สึกว่าเคร่งขรึมเกินไป ไม่น่ารัก ไม่สัมพันธ์กับลักษณะของตัวผู้บูชา ทำให้เกิดการผลิตวัตถุมงคลในการที่น่ารักออกมาด้วย

“ผมเห็นในระยะหลังๆ เยอะมาก และมันก็ยังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเพศสภาพของ gender แต่เดิม วัตถุมงคลทั้งหลายส่วนมากผู้ใช้เป็นผู้ชาย ถ้าเราไปดูแบบโบราณ อย่างพวกตะกรุดเนี่ยมันผู้ชายทั้งนั้นเลย ไปเน้นสรรพคุณคงกระพัน หนังเหนียว ตีรันฟันแทง ซึ่งอันนั้นมันเป็นเรื่องของบทบาทพื้นที่ของผู้ชายในสังคมสมัยก่อน”

“แต่ถามว่าตอนนี้พื้นที่แบบนั้นน้อยลงมากแล้ว ผู้หญิงกลับมามีบทบาทมากขึ้น ผู้หญิงเป็น Working Woman มากขึ้น ผู้หญิงอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ผู้หญิงมีกำลังในการใช้จ่ายมากขึ้นกำหนดชีวิตตัวเองมากขึ้น ผู้หญิงเลยกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของวงการนี้ ไม่ใช่ผู้ชายแล้วนะครับ ที่นี้ถ้าคุณจะออกวัตถุมงคลให้มันสัมพันธ์กับรสนิยม ความชอบของ Gender ที่มันเปลี่ยนไป มันก็แปลว่าคุณต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ เพราะงั้นมันเลยไม่แปลกที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมันจะต้องน่ารักขึ้น”

แม้แต่ภาพสิ่งอื่นๆ อย่างวอลเปเปอร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วอลเปเปอร์มูฯ หรือสร้อยหินสีไปดูเครื่องรางใหม่ๆ ทุกสิ่งล้วนถูกทำให้น่ารักขึ้น เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ที่นอกเหนือจากชุดลูกค้าเดิมจากอดีตที่เน้นของขลังแนวคงกระพันแบบโลกของผู้ชาย

“มันถูกทำให้น่ารักกุ๊กกิ๊ก ทั้งๆที่เดิมมันก็คือ ตะกรุดคาดเอวของผู้ชายอะซึ่งมันโคตรโหดเลย มันถูกทำให้น่ารักเพราะลูกค้าเป็นผู้หญิง และยิ่งไปกว่านั้นที่ผมสังเกตคือมีคนอีกกลุ่มนึงที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับวงการนี้มากขึ้นกว่าเดิมคือ LGBTQ และแน่นอนว่าจะไปทำแบบเดิมมันก็ไม่สัมพันธ์กับตัวตน วิถีชีวิตของเขา มันก็ต้องเปลี่ยนให้มันน่ารักขึ้น อันนี้มันจะเป็นเหตุผลว่าทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มันน่ารักกุ๊กกิ๊กเนี่ย มันมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น แล้วก็ยังมีอาร์ตทอยเข้ามาเสริมอีก มันก็เลยเกือบจะเป็นกระแสหลักของการสร้างวัตถุมงคลในปัจจุบัน”

สายมู
ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โอกาสเก็บภาษีที่มหาศาลจากวงการความเชื่อ

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปี 2550 ระบุว่าเงินสะพัดในธุรกิจพระเครื่องในประเทศไทยมีมากถึง มีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 22,000 ล้านบาท และมีอัตราเฉลี่ยถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี แม้จะเป็นการคาดการณ์ที่มีอายุกว่า 16 ปี แต่เหมือนว่าข้อมูลดังกล่าวจะยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก เพราะในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดการณ์ว่าเงินสะพัดในเรื่องดังกล่าวยังอยู่ที่ราว 17,000-23,000 ล้านบาท คิดเฉพาะในตลาดของคนไทย และแม้ว่าในช่วงปีนั้นกำลังซื้อจะเริ่มหดตัวก็ตาม ซึ่งจากการประเมินดังกล่าว อาจหมายความได้ว่า หากรวมวัตถุมงคลอื่นๆ และการซื้อวัตถุมงคลจากชาวต่างชาติ ตัวเลขของเม็ดเงินอาจสูงกว่านั้นมาก

จากตัวเลขมหาศาล อาจพูดได้ว่าหากวัตถุมงคลถูกหยิบยกขึ้นมาโปรโมตและทำการตลาดอย่างจริงจัง ในฐานะสินค้าชูโรง การได้มาซึ่งภาษีในการบริหารภาครัฐย่อมพุ่งกระฉูด

อ.คมกฤชเล่าว่าก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับการชักชวนไปพูดคุยกับกลุ่มแคร์ของพรรคเพื่อไทย และมีคนเสนอว่าควรเอาเรื่องนี้ขึ้นมาบนบนผิวดิน และทำให้เป็นซอฟพาวเวอร์ ให้มันกลายเป็นสินค้าจริงๆ จังๆ

“นี่ขนาดไม่เปิดหน้าเปิดตาขาย (ผ่านระบบภาษี) มูลค่าที่เจอยังขนาดนี้ แถมยังมีใต้ดินไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ ถ้าเอามาให้มันเปิดเผย เก็บภาษีได้ มันไม่ดีกว่าเหรอ จริงๆ ผมประเมินว่ามันเยอะมากนะครับ แต่ว่าเรายังไม่รู้แน่ชัด”

“คือตอนนี้มันก็มีอยู่ 2 วิธีคิด อย่างแรกก็คือถ้าคิดว่าไหนๆมันขายอยู่แล้ว เป็นเรื่องใหญ่ในทางเศรษฐกิจมากๆ ก็เอามันขึ้นมาบนดินเลย แล้วก็ทำให้มันจริงจังไปเลย ให้มันมีระบบระเบียบไปเลย มิฉะนั้นมันก็จะอยู่ใต้ดินแบบนี้ แต่อีกแน่นอนอีกเช่นเดียวกันมันก็มีคนที่เป็นห่วงภาพลักษณ์ เพราะการที่จะเอาเรื่องพวกนี้ขึ้นมาขายบนดินเลยแล้ว ประกาศตัวว่าฉันเป็นประเทศที่ขายเรื่องพวกนี้เนี่ยมันน่าเกลียดไหม มันขัดกับความเจริญของชาวโลกไหม ชาวโลกกำลังพูดถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่อีประเทศเราเนี่ยจะขายของพวกนี้”

ซึ่งความคิดเห็นของ อ.คมกฤชคือเมื่อมองว่าสิ่งเหล่านี้มีการขายอยู่แล้ว การไม่พูดถึงไม่ได้แปลว่าไม่มี แต่จะทำอย่างไรให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องเข้าใจได้ ไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกโกง การขึ้นมาอยู่บนดิน น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อ

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อเรื่องวัตถุมงคล ล้วนจะอยู่กับชาวไทยไปอีกนาน 

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา