คล้ายๆ กับ Blind Audition ของ The Voice คือวัดกันที่ผลงานตรงๆ ไปเลย ไอเดียนี้มาจากรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จะให้แบบฟอร์มสมัครงานไม่ต้องระบุข้อมูลส่วนตัว บอกเพียงทักษะและประสบการณ์การทำงานก็พอ
เหลือเพียง “ทักษะ” และ “ประสบการณ์”
ภาครัฐของเกาหลีใต้ประกาศว่า นับตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป การรับสมัครเข้าทำงานจะต้องมาในรูปแบบใหม่ คือใช้ใบสมัครงานที่ไม่เรียกร้องข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัคร เช่น ชื่อสถานศึกษา อายุ เพศ บ้านเกิด ครอบครัว และข้อมูลเชิงกายภาพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนสูง น้ำหนัก โดยในที่นี้รวมไปถึงการห้ามส่งรูปถ่ายเข้ามาร่วมในการพิจารณาสมัครงานด้วย
สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพราะตลาดแรงงานในเกาหลีใต้มีการแข่งขันที่สูงมาก และหากนายจ้างไม่สามารถตัดสินใจจากการสัมภาษณ์ได้ ก็จะนำเอาข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน ทั้งอายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง มาเป็นเกณฑ์ตัดสินการจ้างงาน
รองนายรัฐมนตรีอาวุโส Yi Sung-ki ของเกาหลีใต้ ระบุว่า “กระบวนการจ้างงานควรมีความเท่าเทียมกันทั้งในด้านโอกาสและการประเมินผล โดยเฉพาะผู้สมัครที่มีความสามารถไม่ควรจะได้รับการกีดกันจากภูมิหลังทางการศึกษา หรือรูปร่างหน้าตาของพวกเขา”
แนวคิดการจ้างงานแบบนี้เริ่มต้นโดยรัฐบาลเกาหลี หลังจากที่ประธานาธิบดีมุนแจ-อินขึ้นดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สัปดาห์ แน่นอนว่าจะใช้ในภาครัฐก่อนเป็นภายในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
ภาครัฐเริ่มก่อน ชักชวนเอกชนให้ทำตาม
หลังจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้จะส่งแบบฟอร์มการสมัครงานรูปแบบใหม่ที่จะเน้นไปที่การประเมิน “ทักษะ” และ “ประสบการณ์” ของผู้สมัครว่ามีคุณสมบัติอยู่ในระดับที่นายจ้างต้องการหรือไม่ ส่วนข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ จะไม่ปรากฏในแบบฟอร์ม แต่หากนายจ้างต้องการรู้ก็สามารถทำได้ แต่การจะรู้ข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครนั้นต้องเป็นไปในลักษณะที่สัมพันธ์กับเนื้องานโดยตรงเท่านั้น
นอกจากนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้จะแจกคู่มือการสมัครงานและแบบฟอร์มรูปแบบใหม่ให้กับฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนกว่า 400 แห่ง จากการสำรวจของ Saramin ที่ไปศึกษาหัวหน้าฝ่ายบุคคลกว่า 427 คนในเกาหลีใต้ พบว่า 48% เห็นด้วยการรูปแบบการสมัครงานแบบใหม่ และกว่า 57.4% มองว่าระบบใหม่นี้จะทำให้ผู้สมัครมีโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
มีข้อถกเถียงมาจากฝั่งบริษัทเอกชน
Seo Ji-hoon ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนในเกาหลีใต้ มองว่า ระบบคัดกรองคนรูปแบบใหม่มีข้อดีอยู่บ้าง หากใช้ในภาครัฐ แต่กังวลว่าจะมีข้อเสียมากกว่าหากนำมาใช้กับบริษัทเอกชนด้วย
“เป็นเรื่องดีที่ผู้สมัครจะได้รับการคัดเลือกโดยปราศจากอคติ แต่สำหรับบริษัท[เอกชน] ควรจะรู้ข้อมูลของพนักงาน เช่น สถานศึกษาที่จบมา หรือสาขาที่ได้เรียน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับบริษัทในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน เพราะถ้าการสัมภาษณ์ไม่สามารถตัดสินได้ว่าบริษัทจะเลือกผู้สมัครคนไหน ข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครจะเป็นตัวช่วยสำหรับการคัดเลือกเข้ามาทำงาน”
สรุป
รูปแบบการสมัครงานแบบใหม่ที่ภาครัฐของเกาหลีใต้จะนำมาใช้ ดูคล้ายกับ Blind Audition ของรายการประกวดร้องเพลง The Voice ที่รูปแบบรายการมาให้คัดเลือกกันที่เนื้อเสียงและการร้องเท่านั้น สำหรับการสมัครงานที่ไม่ต้องระบุข้อมูลส่วนตัวถือเป็นความพยายามในการลดอคติของผู้รับสมัคร แน่นอนว่า ผู้สมัครหลายคนอาจมองว่ายุติธรรม แต่สำหรับบริษัทเอกชนที่มีแนวคิด “ทำกำไรสูงสุด” เป็นพื้นฐานแล้ว ก็ไม่แปลกที่จะมองว่ารูปแบบการสมัครงานแบบใหม่นี้ไม่ค่อยยุติธรรมเสียเท่าไหร่
ที่มา – Koreanherald
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา