เปิดแนวคิด Bill Gates ทำไมต้องจ้างคนขี้เกียจไว้ในองค์กร: ที่เห็นว่าขี้เกียจ จริงๆ แล้วอาจจะเหนื่อย?

ความขี้เกียจเป็นเหตุสังเกตุได้

เอาเข้าจริง ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ถ้าเป็นไปได้ ก็คงอยากจ้างแต่พนักงานที่ขยันมาทำงานกันทั้งนั้น แต่ใครจะไปรู้ว่าพนักงานที่จ้างมาจะขี้เกียจ เพราะตอนสัมภาษณ์เค้าคงไม่ออกตัวแต่แรกว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจไม่ใช่คนขยัน แต่เอาเป็นว่า เรามาทำความเข้าใจประเด็นนี้ดีกว่า ว่าเอ๊ะ ทำไมคนนี้ดูขี้เกียจจัง แต่องค์กรก็ยังจ้างไว้

Sloth สลอท
บทความใน Entrepreneur หยิบวาทะอันโด่งดังของ Bill Gates ที่เขาเคยกล่าวไว้มาเล่าให้อ่านถึงความขี้เกียจไว้น่าสนใจว่า เกตส์บอกว่า “คุณควรจะจ้างคนขี้เกียจไว้ทำงาน ผมจะให้คนขี้เกียจทำงานยากๆ เพราะว่าคนขี้เกียจจะหาวิธีง่ายๆ ในการลงมือทำมัน”

ความขี้เกียจ ไม่ใช่ปัญหา แต่มันเป็นอาการ
นี่คือเหตุผลเชิงลึกที่สะท้อนผ่านอาการที่คนมองว่าขี้เกียจ

หลายต่อหลายครั้ง ความขี้เกียจคือสัญญาณที่สะท้อนออกมาให้รู้ว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการพัก แน่นอนว่า การพักผ่อนไม่เท่ากับความขี้เกียจ เรื่องนี้ Aytekin Tank ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ เป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Jotform อธิบายเรื่องความขี้เกียจไว้น่าสนใจ ดังนี้

Tank บอกว่า การพักผ่อนมันอยู่คู่กับการทำงาน มันไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยแยกออกจากกันได้ ซึ่งการพักผ่อนที่จะทำให้สามารถเรียกพลังงานกลับมาได้ก็คือการพักจริงๆ การวางมือจากการทำงาน เมื่อถึงเวลาพักก็คือพัก ไม่ใช่พักไปทำงานไป อย่างนั้นไม่ได้เรียกว่าพัก เขาบอกว่า ให้เลิกสนใจเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์บ้าง ไม่ว่าจะ Slack หรือ Email ช่องทางใดๆ ก็ตามที่ใช้สื่อสารสำหรับการทำงาน

ขณะที่ความขี้เกียจนั้น ที่จริงแล้วอาจแฝงมาจากการพักผ่อนน้อย หรือการขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งการขาดแรงจูงใจหรือขาดแรงบันดาลใจในการทำงานนั้น เอาเข้าจริงมันอาจเป็นเพราะว่า ตอนนั้นผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการทำงาน หรืออาจจะรู้สึกไม่สะดวกหรือรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวจากสิ่งที่ทำ ในกรณีนี้หมายถึงถ้าขี้เกียจออกกำลังกายก็เพราะการเริ่มต้นทำในช่วงแรกมันเหนื่อยและไม่สบายตัวจึงทำให้คนขี้เกียจและล้มเลิกได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ มันยังสะท้อนถึงความไม่สะดวกใจที่จะพูดกับใครว่าคุณรู้สึกขี้เกียจ หรือรู้สึกว่างานดังกล่าวไร้คุณค่า ไร้ความหมาย เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกันระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วย อย่างไรก็ดี Tank ได้แนะนำวิธีแก้ปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับความรู้สึกขี้เกียจหรือความรู้สึกแฝงที่เชื่อมโยงกันจนสะท้อนออกมาว่าเป็นคนขี้เกียจไว้ ดังนี้

วิธีแก้ความขี้เกียจหรือความเหนื่อยล้ามากไปเพราะพักได้ไม่พอ
นั่นก็คือการพักผ่อนจริงๆ ที่ไม่ใช่พักไป ทำงานไป ก็มีสิ่งอื่นที่ต้องทำ ดังนี้

หนึ่ง

บอกตัวเองว่ามันคือการสะสมชัยชนะเล็กๆ ไปทุกวัน
เหมือนเวลาเล่นเกม นี่ก็คือการเก็บแต้ม ทำคะแนนไปเรื่อยๆ

Tank บอกว่า ให้เราลองให้ความสำคัญกับหลักการว่าด้วยเรื่องความก้าวหน้า (Progress Principle) คือการทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ในแต่ละก้าว แต่ละขั้นตอนนั้น มันคือการสะสมชัยชนะเล็กๆ ในทุกวัน

พยายามให้คุณค่า ให้ความหมายกับงานที่คุณทำ เพื่อให้เสียงสะท้อนเหล่านี้มันปะทะกับความคิดในหัวของคุณที่ว่างานที่คุณรับผิดชอบนั้นมันยากเกินไป หรือเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่เกินกว่าจะจัดการได้

สอง พักงีบบ้าง ในวันที่งานยุ่งสุดขีด

มีงานวิจัยพบว่า การพักงีบสัก 30 นาที สามารถทำให้ร่างกายเรียกพลังจากความเหนื่อยล้าสุดๆ ในวันที่แสนยุ่งได้ เขาแนะนำว่า 30 นาทีพอ เพราะถ้ามากถึง 60 นาทีขึ้นไป ผลที่ได้จะออกมาตรงกันข้าม ซึ่งแน่นอนว่าการทำให้ตัวเองกลายเป็นคนที่ดูงานยุ่งตลอดเวลา เป็นคนละเรื่องกับคนที่มี Productivity

สาม ปรับเป้าหมาย

ประเด็นนี้เหมาะสำหรับคนที่รู้สึกว่างานที่ทำไร้ความหมาย จนนำไปสู่การขาดแรงจูงใจในการทำงาน ถ้าไม่ต้องการให้ตัวเองอยู่ในจุดนี้ หรือลูปนี้ ก็ควรจดบันทึกว่างานของตัวเองส่งผลกระทบต่อใครบ้าง เพื่อจะเปลี่ยนโฟกัสจากงานที่รู้สึกไร้ความหมาย และเรียนรู้ที่จะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นบ้าง

สี่ หาให้เจอว่างานไหนที่ไม่ใช่สำหรับคุณ

เมื่อหาเจอแล้วก็จงทำมันให้น้อยลง เพราะนอกจากมันจะไร้ความหมายแล้วมันยังทำให้คุณขาดแรงจูงใจในการทำงาน จนในที่สุดก็กลายเป็นคนขี้เกียจ สิ่งที่ต้องทำก็คือ พิจารณาให้ได้ หาให้เจอว่างานไหนมันเหมาะสำหรับตัวเอง งานไหนไม่เหมาะ ทำแล้วกินพลังงานชีวิต เพื่อในท้ายที่สุดแล้วจะได้ทำงานที่เหมาะกับตัวเองได้เต็มที่ มีประสิทธิภาพ และไม่ตกอยู่ในลูปของความขี้เกียจหรือพักผ่อนไม่เคยพออีก

ที่มา – Entrepreneur 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา