มหิดลมอบรางวัล CMMU – ESG AWARD ครั้งแรกให้ 7 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนประจำปี 2023

7 บริษัทจาก 7 อุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างเซ็นทรัลพัฒนา ไทยเบฟเวอเรจ อินทัช โฮลดิ้งด์ เข้ารับรางวัลจากการดำเนินธุรกิจที่ยึดถือหลัก ESG จากสถาบันการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นครั้งแรก

สถาบันการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลหรือ CMMU ได้จัดเวที CMMU Sustainability Fest 2023 ขึ้นมอบรางวัล CMMU – ESG AWARD ครั้งแรกของประเทศไทยให้กับ 7 บริษัทในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนหรือหลัก ESG ที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (Environment) ความยั่งยืนทางสังคม (Social) และความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ (Governance) พร้อมให้ทั้ง 7 บริษัทได้เปิดเผยทิศทางการดำเนินธุรกิจดังนี้

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) – กลุ่มเกษตรกรรม

บริษัทเผยว่า ไทยเบฟเวอเรจได้เริ่มต้นการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG มานานมากแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2014-2015 ต่อยอดมาจากหลักการ CSR 

บริษัทเริ่มต้นจากการใช้หลัก ESG ในองค์กร มีเกณฑ์และรูปแบบการทำงานมากกว่า 10-15 ด้านตามหลัก การ ส่วนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้จัดกลุ่มออกมาประมาณ 8 กลุ่มเพื่อนำรูปแบบการดำเนินงานไปใช้ จนขยายไปถึงธุรกิจในซัพพลายเชนและไปถึงลูกค้าผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ อย่าง CMMU

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) – กลุ่มบริการทางการเงินและการธนาคาร

ธนาคารกสิกรไทยเผยว่า ความยั่งยืนเป็นโอกาสในการลดความเสี่ยงและหาช่องทางทำธุรกิจได้ในระยะยาว ทำให้ธนาคารมีบทบาทใน 2 เรื่องหลัก อย่างแรกคือ การเป็นสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนทางการเงินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบัน ต้องยึดหลักการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมร่วมด้วย การดำเนินงานของธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารจะต้องไม่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

มีการประยุกต์ความยั่งยืนในกลยุทธ์การดำเนินงาน มีการประเมินและวัดผลเพื่อการพัฒนาในอนาคต และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งได้ประกาศจุดยืนการเป็นผู้นำด้านธุรกิจ ESG ของธุรกิจธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธนาคารมี 12 นโยบายเพื่อผลักดันหลักการ ESG อย่างเช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มีการประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเชื่อว่าสำเร็จในปี 2030 ส่วนเรื่องการให้สินเชื่อปัจจุบันให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อความยั่งยืน 1-2 แสนล้านบาทและหลักการ ESG ไปพิจารณาเรื่องการให้สินเชื่อโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่

บริษัท สยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) – กลุ่มก่อสร้าง

SCG จะปรับใช้หลักการ ESG 4+ กับการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ

ภายใต้หลักการ “Net Zero” บริษัทตั้งเป้าว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยจะวางแนวทางนำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) การใช้ระบบโซลาร์ขนาดใหญ่ การเอาลมร้อนที่เหลือใช้จากการผลิตปูนกลับมาเป็นพลังงานอีกครั้ง ปัจจุบัน SCG ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงได้ถึง 40% จากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ส่วน “Go green” บริษัทได้ผลักดันสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ได้ 67% ของสินค้าทั้งหมด

“Lean เหลื่อมล้ำ” คือ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เน้น 3 ด้านใหญ่ที่เป็นพื้นฐานอย่างการศึกษา การสร้างอาชีพ และสาธารณสุข ส่วน “ย้ำร่วมมือ” หมายถึงการอาศัยความร่วมมือทั้งจากรัฐบาลและเอกชน 

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) – กลุ่มพลังงาน

บริษัทได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนยืภายในปี 2050 ซึ่งยังความท้าทายมากทั้งจากการลงทุน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม

สิ่งที่ให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อผลักดันหลักการเรื่องความยั่งยืน คือ ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เป็นความท้าทาย เริ่มจากการควบคุมการดำเนินงานของซัพพลายเชน สร้างการแข่งขันของตัวเอง มีความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ  

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) – กลุ่มค้าปลีก

ตัวแทนของบริษัทเผยว่า ในทุกวันจะมีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ของเครือเซ็นทรับมากกว่า 1 ล้านคน ทำให้เซ็นทรัลมุ่งมั่นพัฒนาใน 3 ประเด็น 

อย่างแรก คือ การทำให้พื้นที่เป็นที่สาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างคุณภาพชีวิตในพื้นที่ของเซ็นทรัล เช่น การใช้พื้นที่เป็นจุดฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ ยังผลักดันความภาคภูมิใจของท้องถิ่น ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชน ให้โอกาสกับผู้ค้าและเกษตรกรเข้ามาใช้พื้นที่ในการค้าขาย ไปพร้อมกับการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ไว้ ส่วนด้านสุดท้าย คือ ด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มจากองค์กรที่ผลักดันให้การทำงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) – กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม

เนื่องจากบริษัทดำเนินการด้านการลงทุน ไม่ใช่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจทั่วไปจึงได้ควบรวมหลักการเข้าไปในการลงทุน แบ่งเป็นขั้นตอนทั้งก่อนและหลังการลงทุน

สำหรับขั้นตอนก่อนการลงทุน ในอดีตบริษัทจะเน้นเรื่องการคืนทุนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันไม่ใช่การตัดสินใจหลักเพราะมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนขั้นตอนภายหลังการลงทุนจะมีการประเมินบริษัทที่เข้าไปลงทุนเพื่อการปรับปรุงให้ดำเนินการตามหลัก ESG มากขึ้นในอนาคต

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชัน) – Best Disclosure 

ปิดท้ายด้วยรางวัล Best Disclosure เป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย โปร่งใส ถูกต้อง และตรวจสอบได้

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกมาจากระบบที่เรียกว่า ESG Tracker เป็นความร่วมมือในการพัฒนาระหว่าง CMMU ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ACSDSD) และ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย มาเป็นกรอบในการคัดเลือก 7 องค์กรจาก 20 องค์กรที่มีทุนจดทะเบียนสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์โดยพิจารณาเรื่องความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของบริษัท รวมทั้งคุณภาพของข้อมูบที่ตรงประเด็นเรื่องความยั่งยืน

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์จาก CMMU

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา