Unilever ติดบัญชีรายชื่อ สปอนเซอร์สงคราม
The National Agency on Corruption Prevention (NACP) ประกาศเพิ่มรายชื่อแบรนด์ดังที่ถือเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ในการสนับสนุนสงครามในยูเครน เมื่อสำรวจรายชื่อแบรนด์ภายใต้ร่มใหญ่อย่าง Unilever นั้นถือว่ามีแบรนด์มหาศาลราว 400 แบรนด์วางจำหน่ายสินค้าทั่วโลก ตัวอย่างแบรนด์ เช่น Dove, OMO, Cif, Rexona, Magnum, AXE, Lifebuoy, Vaseline, Cornetto, Knore, Sunsilk, Timotei, CLEAR และอีกเพียบ
เว็บไซต์ระบุว่าแบรนด์ Unilever นั้นจ่ายภาษีให้กับสหพันธรัฐรัสเซีย ถือว่าสนับสนุนประเทศผู้บุกรุกยูเครน สนับสนุนเศรษฐกิจรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ทำสงครามกับยูเครนไปในตัว พนักงานของ Unilever อยู่ในรัสเซียกว่า 3,000 คน รายได้ของ Unilever นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา
ผลงานการสร้างรายได้ของ Unilever ในรัสเซีย มีดังนี้
กำไรของ Unilever ในรัสเซียเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 56 ล้านยูโรหรือประมาณ 2.14 พันล้านบาทในปี 2021 เพิ่มเป็นกว่า 108 ล้านยูโรหรือประมาณ 4.13 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา มีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นราว 91%
ขณะที่ผลกำไรจาก LLC Unilever Rus ยังเพิ่มทุนจากเดิม 2.53 หมื่นล้านรูเบิลหรือประมาณ 9.78 พันล้านบาทในปี 2021 เป็น 3.45 หมื่นล้านรูเบิลหรือประมาณ 1.33 หมื่นล้านบาทในปี 2022 ด้วย เพิ่มขึ้น 37% โดยบริษัท Unilever Rus LLC ต้องจ่ายภาษีให้รัสเซียในปี 2022 สูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.76 พันล้านบาท
ก่อนหน้านี้ Unilever เคยประกาศหลังรัสเซียบุกยูเครนเต็มรูปแบบว่า จะระงับการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย รวมถึงระงับการใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับสื่อโฆษณาทั้งหมดด้วย ซึ่งทาง NACP หรือหน่วยงานป้องกันการคอร์รัปชันในยูเครนยืนยันว่า Unilever ก็ยังคงทำธุรกิจในรัสเซียเช่นเดิม เท่ากับว่า Unilever เป็นผู้สนับสนุนประเทศที่บุกรุกยูเครน จึงถูกจัดให้อยู่ในลิสต์รายชื่อบริษัทที่สนับสนุนสงคราม หรือเป็นสปอนเซอร์ระหว่างประเทศที่สนับสนุนสงคราม
ขณะที่เว็บไซต์ Leave Russia ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษอย่าง Unilever ไว้ว่า เป็นเจ้าขององค์กรในรัสเซีย 8 แห่งด้วยกัน มีทั้งโรงงานผลิตมาร์การีนหรือเนยเทียม โรงงานซอส โรงงานบรรจุชาและโรงงานผลิตเครื่องสำอางและน้ำหอมใน St. Petersburg โรงงานอาหารและไอศครีมใน Tula และโรงงานทำไอศกรีมใน Novosibirsk และ Omsk แม้แต่บริษัทที่ผลิต Magnum และ Cornetto ก็ยังคงขายไอศกรีมในรัสเซียต่อไปแม้รัสเซียจะบุกยูเครนก็ตาม
ขณะที่เว็บไซต์ War & Sanctions ระบุว่า แบรนด์ Unilever เป็นบริษัทที่มีตลาดอยู่ในสหรัฐอเมริกาขนาดใหญ่ที่สุด ยอดขายรวม 1.21 หมื่นล้านยูโรหรือประมาณ 4.26 แสนล้านบาท ในอินเดีย 6.9 พันล้านยูโร อังกฤษ 2.5 พันล้านยูโร แบ่งเป็นสัดส่วน ดังนี้ ในเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาอยู่ที่ 46% ของรายได้รวม ในอเมริกา 35% ในยุโรป 19%
มีบริษัทอะไรติดบัญชีสปอนเซอร์สงครามบ้าง?
นอกจาก Unilever ที่เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทด้วยกัน โดยเว็บไซต์ War & Sanctions ระบุรายชื่อประเทศที่เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในการทำสงคราม ดังนี้ จีน กรีซ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี อังกฤษ ออสเตรีย เบลเยียม เอสโตเนีย เยอรมนี ฮังการี อินเดีย
รายชื่อบริษัทที่คุ้นเคย อาทิ Unilever, Great Wall Motor, Xiaomi, Yves Rocher, METRO, P&G หรือ Procter & Gamble ฯลฯ
เงื่อนไขใดที่ทำให้องค์กรเอกชน ติดลิสต์เป็นสปอนเซอร์สงคราม?
1) มาจากต่างประเทศ ไม่ใช่รัสเซีย
2) เป็นธุรกิจระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีเขตอำนาจศาลที่หลากหลาย
3) มีการให้ความช่วยเหลือทางอ้อม เช่น การจ่ายภาษี ตลอดจนการจัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบให้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อหรือร่วมรณรงค์ในการเคลื่อนไหว
4) ไม่มีการแถลงเพื่อแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการว่าจะออกจากตลาดรัสเซีย หรือทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม หรือแสดงให้เห็นว่าตัดสินใจที่จะยังอยู่ในรัสเซีย
5) แสดงให้เห็นว่ายังอยู่ในตลาดรัสเซียและมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งจากผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกรุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ เช่น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้หรือผลกำไรที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่คู่แข่งทางตลาดไหลออกจากรัสเซียไปแล้ว เป็นต้น
จะทำอย่างไรให้หลุดจากลิสต์บริษัทที่สนับสนุนสงครามได้?
1) ออกจากตลาดรัสเซีย หรือ ยุติการทำธุรกิจกับรัสเซีย
2) ทำแผนออกจากรัสเซียจริงจัง เป็นรูปธรรม ระบุวันที่จะออกจากรัสเซียให้ชัดเจน
3) ถ้ามีเหตุผลที่บริษัทไม่สามารถออกจากรัสเซียได้ เป็นเหตุสุดวิสัย เหนือการควบคุมของบริษัท ก็ต้องระงับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในรัสเซีย อาจจะทำได้แค่เพียงรักษาสถานภาพในการคงอยู่ในรัสเซียเท่านั้น (หรือไม่แสดงให้เห็นว่ากำลังเดินหน้าทำมาหากิน ทำกำไรในรัสเซียอยู่ เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าสนับสนุนการคงอยู่ของรัสเซียในสงครามบุกยูเครนทั้งทางตรงและทางอ้อม)
- ไปต่อไม่ไหว: สตาร์บัคส์เตรียมเปิด 130 สาขาในรัสเซีย หลังทำธุรกิจยาวนาน 15 ปี
- ทนแรงกดดันไม่ไหว! Uniqlo ยอมระงับการทำธุรกิจในรัสเซียแล้ว
- KFC, Pizza Hut, Heineken, ค่ายเพลงยักษ์ เดินหน้าระงับการทำธุรกิจในรัสเซีย
ที่มา – Nazk, Unilever, Leave Russia, Sanctions (1), (2), (3)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา