รู้จัก Sustainability Yearbook การจัดอันดับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จาก S&P Global

ในช่วงหลายปีมานี้ เทรนด์การดำเนินธุรกิจไม่ได้คำนึงถึงแต่กำไรและผลประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคิดถึงผลกระทบทั้งต่อความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราจะเห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับคีย์เวิร์ดคำว่า ESG มากขึ้น

ESG คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาลหรือพูดง่าย ๆ ก็คือความโปร่งใสของธุรกิจ (Governance) แนวคิดนี้เชื่อว่า การใส่ใจกับความยั่งยืนไม่เฉพาะแค่หวังผลกำไรจะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว

มีรางวัลและการจัดอันดับมากมายที่ช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG อย่างการจัดอันดับบริษัทใน Sustainability Yearbook ประจำปีของ S&P Global ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ช่วยการันตีว่าธุรกิจนั้น ๆ ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ

Sustainability Yearbook คืออะไร

ในทุก ๆ ปี S&P Global จะมีการประเมินผลด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่เรียกว่า Corporate Sustainability Assessment (CSA) รวมรายชื่อบริษัทกว่า 7,000 บริษัททั่วโลกในกว่า 60 อุตสาหกรรม

การประเมินผลจะนำมาสู่การจัดอันดับองค์กรที่รักษาความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดใน Sustainability Yearbook 

ผลการประเมินจะออกมาในรูปแบบของการจัดอันดับบริษัทที่อยู่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกันแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  • Top 1% หรือ Gold Class
  • Top 5% หรือ Silver Class
  • Top 10% หรือ Blonze Class 
  • Industry Mover กลุ่มบริษัทที่อยู่ภายในกลุ่ม 15% ที่ดำเนินธุรกิจได้ดีที่สุดและมีพัฒนาเรื่องความยั่งยืนอย่างก้าวกระโดดในการประเมินปี 2022 เทียบกับปีก่อนหน้า
  • Sustainability Yearbook Member

การประเมินผล CSA ในปี 2022 นำมาจัดอันดับรายชื่อบริษัทใน Sustainability Yearbook 2023 ครอบคลุมบริษัททั้งหมด 7,822 บริษัททั่วโลก ใน 61 อุตสาหกรรม 

บริษัทไทยใน Sustainability Yearbook 2023

ในปีนี้ มีบริษัทจำนวน 710 บริษัทจากทั้งหมด 7,822 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับใน Sustainability Yearbook 2023 โดยมีบริษัทสัญชาติไทยที่ได้รับการจัดอันดับ Gold Class ทั้งหมด 12 บริษัท นับว่าเป็นประเทศที่มีบริษัทถูกจัดอันดับอยู่ใน Gold Class มากที่สุด รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา 11 ประเทศ ตามด้วยไต้หวันและอิตาลี 7 บริษัทเท่ากัน

บริษัทสัญชาติไทยที่ได้รับการจัดอันดับ Gold Class ได้แก่ 

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) – AWC
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) – BJC
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) – BTS
บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) – HMPRO
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) – PTTGC
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) – SCC
บริษัท บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) – SCGP
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) – TOP
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน – TRUE
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) – TU
บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) – VGI
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) – ThaiBev

นอกจากนี้ ไทยยังมีบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับรวมประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจาก Gold Class รวมทั้งหมด 37 บริษัท ถือว่ามีมากเป็นอันดับ 5 ของโลกด้วย

ที่มา – SET, S&P Global

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา