คุยกับ ‘หมู – สุภาพ’ Doc Club & Pub โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ที่ยืนหยัดในยุคสตรีมมิ่ง

ลัดเลาะเข้าไปในซอย ศาลาแดง 1 ไปไม่กี่ก้าว ป้ายของ Doc Club & Pub เรียกความสนใจจากสายตา สถานที่นี้อาจเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคอหนังนอกกระแสหรือสารคดี แต่สำหรับคนทั่วไปอาจยังไม่รู้จักที่นี่กันมากนัก เรามาเดินขึ้นบันไดไปพร้อมกัน แวะนั่งเล่นพูดคุย ในพื้นที่นี้กันหน่อย 

ก้าวขึ้นมาไม่กี่ชั้น ก็เจอกับประตูกระจก และป้ายของ Doc Club & Pub เมื่อก้าวพ้นประตูเข้าไป พื้นที่นี้ไม่ได้เป็นโรงหนังในภาพจำจากเจ้าใหญ่ๆ แต่เป็นพื้นที่ขนาดกำลังพอดี มีโซนคาเฟ่ให้สั่งอาหารและเครื่องดื่ม โซนนั่งทำงานแบบเงียบสงบ โซนเล่นบอร์ดเกมกับก๊วนเพื่อน ชั้นหนังสือขนาดใหญ่ให้ได้เลือกอ่าน

 

สิ่งนี้เป็นความตั้งใจของคุณหมู – สุภาพ ผู้ก่อตั้ง Doc Club & Pub ที่ต้องการให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ นอกจากจะได้เข้ามาดูภาพยนตร์ สารคดี กันแล้ว ยังมีพื้นที่ให้ได้พูดคุย ถกเถียง ตกตะกอน ถึงประเด็นต่างๆ ได้ด้วย 

ด้วยราคาของการนำเข้าหนัง สารคดี มีมูลค่าสูงเกินกว่าที่เราจะเดาได้ การเลือกสักเรื่องเข้ามาฉาย จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน และแตกต่างจากโรงหนังเจ้าใหญ่ จนเราเข้าใจได้ว่า Doc Club & Pub ไม่ได้คิดจะตั้งพื้นที่มาเพื่อแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดแต่อย่างใด

แต่พื้นที่ขนาดเล็ก ที่มีเพียงโรงเดียวนี้ สามารถจำหน่ายตั๋วในราคาสบายกระเป๋า ในขณะที่อยู่กลางเมืองไม่แพ้โรงหนังเจ้าใหญ่ได้เพราะอะไร? 

“เรามองว่าหนังของเรา หลังจากเราดูเสร็จแล้ว ประเมินว่าหนังเรื่องนี้สื่อสารกับคนดูได้ยังไงบ้าง ถึงจะมาตัดสินใจว่าตกลงเอาเรื่องนี้นะ ตรงข้ามกับเจ้าใหญ่ เขาจะมองว่าหนังเรื่องนี้มันมีโอกาส จากใครเป็นผู้จัดจำหน่าย ใครเป็นผู้กำกับ เขาก็ซื้อมา แล้วก็มีการฉายโรงแล้วขายสตรีมมิ่ง ซึ่งมันก็เป็นคนละโมเดลธุรกิจกัน”

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้พื้นที่นี้ เป็นมากกว่าโรงหนังนอกกระแส คำว่า Pub ในชื่อร้านจึงไม่ได้ตั้งไว้เก๋ๆ เมื่อเข้าช่วงค่ำ พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นบาร์บรรยากาศครึกครื้น ที่มีลูกค้าแวะเวียนมาสั่งเครื่องดื่มมากมาย ตลอดจนเบียร์ทางเลือกในตู้ มีให้เลือกอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งส่วนบาร์ คาเฟ่ อาหาร ของทานเล่น ถือเป็นอีกรายได้ของที่นี่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว การขายลิขสิทธิ์หนัง สารคดี นำเข้า ก็เป็นรายได้ของที่นี่อีกส่วนหนึ่งเช่นกัน ที่ช่วยประคับประคองให้กิจการดำเนินไปได้ ในราคาตั๋วยุติธรรมต่อกระเป๋าเงิน

“รายได้ส่วนหนึ่ง ไม่ได้มาจากค่าตั๋วอย่างเดียว เราขายสิทธิ์ให้กับสตรีมมิ่งเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตรงนี้มันก็แชร์กันไปกับส่วนอื่นๆ หนังแต่ละเรื่องมันไม่ได้มีเรตขายที่ตายตัว เราก็เลือกหาหนังที่คิดว่าเนื้อหามันตรงกับความต้องการ แล้วก็มองดูราคาที่มันคละเคล้ากันไป

หนังเรื่องไหนที่ยังไม่มีใครนำเข้ามา เราก็จะเลือกแต่หนังแนวนั้นมากกว่า เพราะว่าถ้าแข่งกันด้วยราคา เราเป็นค่ายเล็ก สู้ไม่ได้หรอก ถ้าเป็นหนังหนังอินดี้ ที่เป็นกระแสหลักหน่อย เราก็จะไม่ไปลงเล่นตลาดนั้น เพราะมันมีความเสี่ยง ราคามันสูง”

การขายสิทธิ์ให้กับสตรีมมิ่ง เป็นเหมือนการเช่าหนังเรื่องนี้ไปลงแพลตฟอร์มตัวเอง ในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ได้ซื้อขาดอยู่บนแพลตฟอร์มตลอดไป ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกช่องทางรายได้ของทั้งโรงเล็กและโรงใหญ่ 

 

นั่งคุยกันได้สักพัก จึงถามถึงหนังสือจำนวนมากที่อยู่บนชั้นหนังสือติดผนังสูงถึงเพดาน ส่วนหนึ่งเป็นของสะสมของคุณหมูเอง ตั้งแต่สมัยทำนิตยสาร Bioscope รวมถึงหนังสือที่มีไว้ให้เหล่านักอ่านได้มาแวะเวียนทำความรู้จักกับเล่มใหม่ๆ 

ทั้งหนังสือและตั๋วหนังเป็นความบันเทิงที่ถูกตั้งคำถาม เมื่อมองกลับมาที่ค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของฟุ่มเฟือย กลายเป็นความบันเทิงที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน 

“เรามองว่าราคาตั๋วหนังมันเกินไป แล้วเราคิดว่ามันควรจะเป็นราคาที่เป็นมิตรกับคนดู แต่ว่าพอมาทำจริง ก็พบว่ามันมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น เรื่องค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ของเมืองไทย

สำหรับค่าครองชีพในประเทศไทยเนี่ย เราคิดว่ามันควรจะอยู่ที่แถว ๆ ร้อยบาทเท่านั้นแหละ ราคาหนังที่เป็นไปได้ของแต่ละเจ้า ก็มีแนวคิดในการทำราคาที่ไม่เหมือนกัน แต่เราคิดว่าราคานั้นเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่สุด”

พอเป็นเรื่องปากท้องแล้ว ไม่มีทางที่จะเลี่ยงการเมืองไปได้ วงการภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม ที่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลในหลายๆ ด้าน ในวาระที่ได้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ครั้งนี้ Brand Inside เลยถามถึงความคาดหวังที่จะได้เห็นจากรัฐบาลใหม่ หรือนโยบายใด ๆ ที่ช่วยสนับสนุนวงการภาพยนตร์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

“ช่วงท้ายของรัฐบาลที่แล้วเนี่ย คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ เรียกว่าประชุมกันปีละหน ซึ่งมันไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนอะไรได้แน่ๆ อย่างแรกเลยก็คือ ภาครัฐที่มีนโยบายต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างไร พอมันไม่ได้ถูกเอามาพิจารณา ในครม. ในรัฐบาล มันก็ไม่เคยที่จะถูกหยิบยกปัญหาเพื่อมาแก้ไข

และอีกเรื่องหนึ่งที่มันเป็นปัญหาไม่ต่างกันก็คือ ตัวพรบ.ภาพยนตร์เอง ที่ผ่านมาเนี่ย ฉบับที่ 1 ปี 2473 มันก็ออกมาโดยรัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ออกมาเพื่อที่จะควบคุมสื่อใหม่ ๆ ในยุคสมัยนั้น มันเริ่มต้นด้วยการเอาหนังข่าวมาฉาย ซึ่งเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ต่าง ๆ นานา รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของการเมืองการปกครองต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น

ผมมองว่า ถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ในรัฐบาลชุดนี้ ในสภาชุดใหม่นี้ ก็คือการออกกฎหมายพรบ.ภาพยนตร์ ที่มีลักษณะที่เป็นการส่งเสริม สนับสนุน มากขึ้น อันนี้ก็คือสิ่งที่คาดหวังไว้”

 

ดูหนังจบสักเรื่อง ออกมาดื่มสักแก้ว แล้วถกประเด็นที่ตกตะกอนจากจอเงิน จะดีแค่ไหนหากเรามีพื้นที่แบบนี้ให้มากขึ้นอีกสักหน่อย ให้การดูหนังไม่ใช่เรื่องรีบร้อน หากยังไม่มีแพลนไปไหน แวะมานั่งเล่นกันที่ Doc Club & Pub พื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ แม้จะไม่ใช่คอหนังก็ยังเอ็นจอยกับพื้นที่นี้ได้เช่นกัน

“เราเชื่อออย่างหนึ่งก็คือว่า ดูหนังเสร็จ มันมีเรื่องที่เราอยากจะแชร์ แล้วคิดว่าคนอื่นก็อยากจะแชร์ สิ่งที่อยากจะแชร์ก็ไม่เหมือนกัน ในสังคมตอนนี้ เราอาจอยู่ในโซเชียลมีเดียมากเกินไป ถ้าเกิดการพบหน้ากัน การสนทนาก็จะเปลี่ยนไปอีกแบบนึง 

เราก็เชื่อว่าการสนทนาแบบนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะเอาชนะคะคานกันในโลกอินเทอร์เน็ต อยากให้พื้นที่ของเรามันทำหน้าที่แบบนี้”

 

“Public Space ในบ้านเรามันขาด เราคิดว่าพื้นที่นี้ มันน่าจะช่วยมาเติมเต็มให้กับคนได้มาเจอโอกาสใหม่ ๆ ได้มาฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ ได้มาแลกเปลี่ยนกับคนใหม่ ๆ”

 

ในพื้นที่เล็ก ๆ นี้ เปี่ยมไปด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ ที่อยากผลักดันวงการภาพยนตร์ให้ไปได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็น มีตัวเลือกอันหลากหลาย ไม่ใช่แค่ Blockbuster ที่จับจองรอบฉายค่ายใหญ่ เพียงเพราะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ภาพยนตร์ควรเป็นสื่อบันเทิงที่เข้าถึงได้และมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่านั้น 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา