กระแสเรื่องรักษ์โลกมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยรับรู้ได้ถึงอากาศที่ร้อนขึ้นแบบชัดเจน ยิ่งปีนี้จะมีปรากฏการณ์เอลนีโญ แปลง่ายๆ ว่า ฝนจะไปตกหนักที่อเมริกาใต้แต่แห้งแล้งหนักๆ ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นคนไทยต้องสนใจเรื่องนี้จริงจังแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงภาคธุรกิจเองก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
เรื่อง ESG หรือ Environment, Social และ Governance จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องทำและถูกบังคับให้ทำด้วย แต่ก็เป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไม่น้อย เพราะสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับด้าน ESG จะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลให้ค่าสินค้าหรือบริการสูงขึ้นตามไปด้วย ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกแบบนี้ คนจะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นหรือ?
ต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ต้องทำจริง สิ่งแวดล้อมรอไม่ได้
กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM บอกว่า เป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาคธุรกิจต้องเข้ามาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม และก็เป็นความจริงที่สุดที่ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้นประมาณ 30% ดูง่ายๆ การจะผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ลดการใช้งาน ลดการใช้สารเคมี จัดการฝุ่นและขยะ ปรับเปลี่ยนการขนส่ง ทุกอย่างคือต้นทุนทั้งหมด แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ และทำทันที
ILM ทำเรื่อง ESG มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของตลาดตอนนี้คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มาสนใจสินค้าและบริการที่ตอบรับกับความยั่งยืน สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น แม้ราคาจะสูงกว่า สินค้าบางชิ้นก็ไม่ได้มีสีสันสวยงามเพราะมาจากวัสดุรีไซเคิล แต่ก็ได้รับความสนใจอย่างคาดไม่ถึง สร้างยอดขายให้ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
สำหรับ 5-6 ปีที่ผ่านมา ILM เน้นตั้งแต่เรื่องพลังงาน มีการติดตั้ง Solar Roof Top ด้านบนของ Index Living Mall เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น มีการจัดการ Waste Management การจัดการวัสดุส่วนเกินที่เกิดจากการผลิต, กระบวนการผลิตมีการติดตั้งระบบช่วยลดฝุ่นไม่ให้ฟุ้งกระจาย เพราะรู้ว่าปัญหา PM2.5 คือสิ่งที่กระทบกับชีวิตผู้บริโภค
Eco-Product Design ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม และคนใช้งาน
หนึ่งในรูปแบบที่ ILM สร้างสรรค์เพื่อให้ได้สินค้าที่เน้นสิ่งแวดล้อมคือการทำ Eco-Product Design ที่เน้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต จัดจำหน่ายและส่งถึงลูกค้า
กฤษชนก บอกว่า หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือการ Upcycled Product เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ทุกคนรู้ว่าไม้สักมีจำนวนจำกัดแต่ยังเป็นวัตถุดิบที่มีความต้องการ ดังนั้นในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก จะใช้วิธีนำไม้สักเก่ามาเข้ากระบวนการเพื่อผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ดีไซน์ใหม่ ในราคาที่ย่อมเยาลง และยั่งยืนเพราะสามารถใช้ได้นาน
สินค้าตกแต่งบ้าน เช่น พลาสติกรีไซเคิลมีการจัดโซนสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ ผ้าม่านที่กระบวนการผลิตใช้น้ำน้อย ไม่ใช้สารฟอกขาวซึ่งเป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อม ผ้าม่านที่ช่วยป้องกันความร้อนในบ้าน ช่วยผู้บริโภคในการประหยัดไฟฟ้าจากการเปิดแอร์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก
นอกจากนี้ในกระบวนการ Waste Management ปกติ ILM มีการจัดการขยะเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิลอยู่แล้ว ทั้งกระดาษ พลาสติก ทำได้อย่างถูกวิธี รวมถึงเรื่องการขนส่ง มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่ง โดยอยู่ระหว่างการทดลองขนสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้า ไปที่สาขา Index Living Mall เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ถ้าทำได้ดีเตรียมขยายผลในการใช้งาน รวมถึงการส่งไปถึงบ้านลูกค้าด้วย
จับมือชุมชนคีรีวง พัฒนาสินค้าใหม่ สร้างรายได้ให้ชุมชน
ILM มีสินค้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว คือ ชุดห้องนอน Summer Theme ใช้ผ้ามัดย้อมครามธรรมชาติ จากชุมชนคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช โดยเข้าไปร่วมมือกับชุมชน ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด มีการช่วยพัฒนาเทคนิคในการผลิตเพื่อมาใช้งานร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ ตัวไม้ทำจากไม้ยางพารา ที่เป็นป่าปลูก 100% ไม่ได้ตัดไม้จากป่าธรรมชาติ และมาจากไม้ยางพาราที่ไม่ผลิตน้ำยางแล้ว ยังไงก็ต้องโค่นทิ้งแน่นอน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากไม้ยางพาราที่ไม่มีน้ำยางแล้ว
แต่แน่นอนว่าการทำเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ก็ยังจำเป็นต้องใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ ดังนั้น ILM ได้ร่วมมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จัดโครงการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ เป็นการคืนไม้ให้กับธรรมชาติด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาตลอด แต่จากนี้ไปจะเน้นมากขึ้นกว่าเดิม
จริงอยู่ที่ว่า นี่คือสินค้ากระแส แต่ไม่ใช่กระแสชั่วคราว เป็นกระแสระยะยาวแน่นอน โลกฝั่งตะวันตกให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และเชื่อว่าโลกฝั่งตะวันออกจะสนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้หลายคนอาจจะมองว่า โลกร้อนไม่เกี่ยวอะไรกับเรา แต่ตอนนี้เห็นชัดว่า อากาศร้อนมากขึ้น ฝุ่น PM2.5 เรียกว่า คนได้รับความเดือดร้อนแล้วโดนตรง ซึ่งธุรกิจต้องปรับตัวและเข้ามามีส่วนช่วยในจุดนี้ให้มากขึ้น เชื่อได้ว่าในอีกไม่เกิน 10 ปี ถ้าไม่ช่วยกันจะเจอกับปัญหาที่หนักขึ้นอีก
พฤติกรรมผู้บริโภคตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดูจากสินค้าของ ILM ก็ได้รับการตอบรับที่ดี พลาสติกรีไซเคิล สีไม่สวย ราคาสูงกว่า แต่ก็ยังขายได้ดีเกินคาด แปลว่ามีคนจำนวนมากที่ยินดีจะจ่าย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าดีใจ และสินค้าลักษณะนี้ก็จะออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะเร็วพอที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกัน รวมถึงภาคธุรกิจด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา