ลืมภาพเดิมๆ ที่ว่าแรงงานราคาถูก จะต้องเป็นแรงงานจีนไปได้เลย เพราะค่าจ้างแรงงานในภาคการผลิตของจีนสูงกว่าไทยไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้บริษัทในจีนเลยหันไปจ้างหุ่นยนต์มาทำงานแทน ส่งผลให้คนจีนตกงานกันไม่น้อยเลยทีเดียว
แรงงานจีนไม่ใช่แรงงานราคาถูก
จีนไม่ใช่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้ค่าจ้างในภาคการผลิตต่อเดือน (สำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว 2015) อยู่ที่ 4,126 หยวนหรือประมาณ 20,675 บาท เมื่อเทียบแล้วค่าจ้างพอๆ กับบราซิล และมากกว่าเม็กซิโก ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย
ผลการสำรวจล่าสุดของ China Employer-Employee Survey (CEES) ที่พบว่า ค่าแรงในจีนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ถ้าไปดูผลสำรวจที่ศึกษาบริษัทในจีนกว่า 1,200 แห่ง และคนงานอีกกว่า 11,300 คนในพื้นที่อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่างมณฑลกวางตุ้งและมณฑลหูเป่ย พบว่า กว่า 26% ของพนักงานในแถบนี้ตกงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่อายุต่ำกว่า 28 ปี ถึงกว่า 37% อีกด้วย
จ้างคนต้องมีสวัสดิการ จ้างหุ่นยนต์ง่ายกว่าเยอะ
ตอนนี้ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำมาสู่ปัญหาใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมของจีน เพราะบริษัทในจีนไม่สามารถปรับตัวเพื่อแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่มากไปกว่านั้นคือ ตามกฎหมายแรงงานของจีนได้ระบุไว้ว่า “บริษัทต้องจ่ายเงินสวัสดิการให้กับลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย อยู่ที่ประมาณ 40% ของค่าจ้าง” หรือพูดง่ายๆ คือ ค่าจ้างที่ขึ้นอย่างรวดเร็วและกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการที่ค่อนข้างสูงทำให้บริษัทต้องหาทางออกใหม่เพื่อลดต้นทุน
ลดต้นทุน รัฐสนับสนุน หุ่นยนต์คือทางออก
แน่นอน จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ ทางออกที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับบริษัทจึงเป็นการ “เพิ่มหุ่นยนต์” เข้ามาแทนที่แรงงานคน เพราะอีกเรื่องที่สำคัญคือ การเพิ่มหุ่นยนต์เข้ามาในภาคการผลิตของบริษัทต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐจีน เช่น ได้รับการยกเว้นการคืนภาษี หรือได้รับเงินอุดหนุน โดยเฉพาะถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจีนจะสนับสนุนให้นำหุ่นยนต์เข้าไปในภาคการผลิตสูงมาก
Cheng Hong ผู้อำนวยการสถาบันด้านการพัฒนาของ Wuhan University ถึงกับบอกว่า “เรา [ประเทศจีน] เหมือนกับเด็กที่โตเร็วเกินไป … ตอนนี้เราได้พบแล้วว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ทำให้ต้องประสบกับปัญหาที่เราไม่ได้คาดคิดไว้”
สรุป
แรงงานจีนไม่ใช่แรงงานราคาถูก เพราะค่าจ้างพุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทต้องการลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตเพื่อลดต้นทุน และที่สำคัญภาครัฐยังสนับสนุนอีกด้วย
บทเรียนสำหรับเรื่องนี้คือ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่สูงอย่างรวดเร็วไม่ได้ส่งผลดีเสมอไปนัก อย่างในกรณีนี้ทำให้คนจีนตกงานกันไม่น้อย ในขณะที่บริษัทซึ่งมีทรัพยากรและอำนาจในการต่อรองมากกว่าก็หันไปพึ่งพาหุ่นยนต์แทนการจ้างแรงงานคนที่ต้องแบกรับ
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา