อินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้โลกทั้งใบเชื่อมต่อกันได้ในเวลาไม่เกินอึดใจ พาผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาสนทนาในพื้นที่เดียวกันได้ แต่ก็พาผู้คนมาหยุมหัวกันผ่านตัวอักษรได้เช่นกัน
การสนทนา โต้เถียงบนโลกอินเทอร์เน็ต ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะในชีวิตจริงคนเราก็มีการถกเถียงกัน เป็นเรื่องปกติของการสนทนาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต่างออกไปจนหลายคนสัมผัสได้ เมื่อต้องต่อบทสนทนายืดยาวกับใครสักคนบนโลกออนไลน์ คือ ความมั่นใจและความเกรี้ยวกราด ที่หลายคนพกมาเต็มกระเป๋า
อะไรทำให้คนเรามั่นใจมากขึ้น หรือแม้แต่เกรี้ยวกราดมากขึ้น เมื่ออยู่หลังแป้นพิมพ์ ลองหาคำตอบให้เรื่องนี้กัน
สอดคล้องกับบทความของ นายแพทย์ Adam P. Stern ใน Harvard Health Blog ในหัวข้อ ‘The psychology of Internet rage’ ได้ยกเอาผลสำรวจจาก FiveThirtyEight.com เกี่ยวกับพฤติกรรมการสนทนาบนโลกอินเทอร์เน็ต จาก 8,500 คน พบว่า การพูดคุยบนอินเทอร์เน็ตนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการชี้ถูกผิด ต่อบทสนทนา ให้มุมมอง ความคิดเห็นของตนเอง รองลงมา จะเป็นการสร้างความสนุกสนาน หรือหยิบยกประเด็นน่าสนใจขึ้นมาสักอย่าง และนั่นเอง ทำให้การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตของเรา จะประกอบไปทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
และยิ่งเป็นหัวข้อที่ชาวเนตมีความมั่นใจ ว่าตนมีความรู้ในเรื่องนี้อยู่เหมือนกันนะ จะยิ่งทำให้มีเรื่องของอารมณ์ เข้าไปอยู่ในบทสนทนานั้นด้วย จากที่ควรจะเป็นแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพียงอย่างเดียว ซึ่งในทางจิตวิทยา เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Backfire Effect’ ถือเป็นอคติทางปัญญาอย่างหนึ่ง อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น เวลาใครสักคนเชื่อในสิ่งใดมากๆ อยู่อย่างหนึ่ง (โดยสิ่งนั้นอาจจะถูกหรือผิดก็ได้) แล้ววันหนึ่ง มีคนมาแย้งว่าสิ่งที่เชื่ออยู่นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนะ มาพร้อมหลักฐานกางให้ดู แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ในทันที ว่าสิ่งที่เชื่อมาตลอดนั้นเป็นสิ่งผิด พูดง่ายๆ ก็คือ ปฏิเสธสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของตนเอง แม้อีกฝ่ายจะมีหลักฐานก็ตาม
สิ่งเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างใส่อารมณ์ ที่อาจจะมากเกินจริงไปเสียด้วยซ้ำ แล้วอะไรทำให้คนเรามั่นใจที่จะทำแบบนั้น?
‘PC Bravery’ คำศัพท์ที่ถูกเพิ่มไปใน Urban Dictionary หมายถึง ความมั่นใจผิดๆ ที่มาจากการอยู่หลังหน้าจอ รวมไปถึงการพูดอะไรสักอย่าง (บนโลกออนไลน์) ในแบบที่ชีวิตจริง บทสนทนาต่อหน้าจริงๆ จะไม่พูดแบบนี้ ถือเป็นคำที่เจ็บแสบทั้งตัวคำศัพท์เองและความหมายของมัน
เมื่อเราอยู่หลังหน้าจอ ในตอนที่เราแสดงความคิดเห็นออกไป โดยเฉพาะในด้านลบ เราไม่ได้เห็นการตอบสนองของอีกฝ่ายต่อหน้า เราทำได้เพียงสื่อสารกันผ่านตัวอักษรเท่านั้น อีกฝ่ายเป็นใครสักคนที่ไม่ได้รู้จักและมั่นใจว่าจะไม่ได้เจอกันในโลกจริง และนั่นยิ่งทำให้ความรู้สึกของอีกฝ่ายไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร
กรณีศึกษาจาก งานวิจัย ‘Cyberbullying: Hiding behind the screen’ ของ Dr.Erin Peebles ได้กล่าวถึงเรื่อง Cyberbullying บนโลกอินเทอร์เน็ตไว้ว่า เป็นเหมือนช่องว่างให้ใครก็เข้ามาเป็นฝ่ายกระทำได้ เพราะการที่ฝ่ายกระทำไม่ต้องมาเห็นการตอบสนองของเหยื่อ เจอกับเหยื่อโดยตรง ทำให้พวกเขารู้สึกผิดน้อยลง ไม่มีหลักฐานทิ้งไว้บนร่างกาย และโอกาสถูกจับได้น้อยกว่า
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่อย่าง Cyberbullying หรือแค่การถกเถียงกันบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่จะเห็นได้ว่า ความมั่นใจที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่ไม่ต้องปะทะกันโดยตรง แล้วคิดว่าอีกฝ่ายจะไม่สามารถหาตัวตนของเราเจอ จนการถกเถียง กลายเป็นสงครามขนาดย่อม ที่ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธเป็นตัวหนังสือ
สุดท้ายแล้ว การพึงระลึกไว้เสมอว่า หากเราได้สนทนากับอีกฝ่ายในชีวิตจริง เราจะใช้คำพูดอย่างไร อาจช่วยลดความรุนแรงของบทสนทนาที่กำลังจะไปไกลเกินกว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ได้
อ้างอิง
https://www.health.harvard.edu/blog/the-psychology-of-internet-rage-2018051713852
https://fivethirtyeight.com/features/we-asked-8500-internet-commenters-why-they-do-what-they-do/
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา