Invent เปลี่ยนหัว แต่ยังคงแนวคิดสนับสนุน Startup กลุ่ม TMT พร้อมทุ่มงบ 200 ล้าน/ปี เหมือนเดิม

หลัง “ธนพงษ์ ณ ระนอง” ผู้ปั้น Invent หนึ่งใน Corporate Venture Capital (CVC) ตัวท็อปของไทย มากว่า 5 ปี ตัดสินใจออกจากองค์กรไปเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา แล้วอย่างนี้ Invent จะยังคงมีวิสัยทัศน์ และพันธกิจเหมือนเดิมหรือไม่

คงแนวคิดเดิม เน้นสนับสนุนกลุ่ม TMT

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Invent คือหนึ่งใน CVC ที่มีบทบาทในการสนับสนุน Startup ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรแรกๆ ที่เข้าไปลงทุน Startup ระดับท็อปของไทยอย่าง Ookbee และ Wongnai แถมการลงทุนเหล่านั้นยังเริ่มกลับมาเป็นรายได้แล้ว หลัง Computerlogy กับ Shopspot ที่ลงทุนไปต่างๆ ก็ Exit แล้วเช่นกัน

คิมห์ สิริทวีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สานงานบริหารการลงทุน และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุน Invent บมจ.อินทัช โฮดิ้งส์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากธนพงษ์ ณ ระนอง ออกจากบริษัทไป ก็ใช้เวลาไม่นานในการแต่งตั้งผู้ดูแลโครงการนี้ใหม่ และถึงจะเปลี่ยนผู้ดูแล แต่เป้าหมาย และรูปแบบการสนับสนุนยังคงเหมือนเดิม

คิมห์ สิริทวีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สานงานบริหารการลงทุน และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุน Invent บมจ.อินทัช โฮดิ้งส์ // ภาพจาก Intouch

“ผมอยู่อินทัชมากว่า 20 ปี และทำโครงการ Invent มาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นถึงเป็นคนใหม่ที่ขึ้นมา เป้าหมายก็ยังคงเรื่องการลงทุน Startup กลุ่ม TMT หรือ Telecommunication, Media และ Technology เหมือนเดิม เพื่อ Support การลงทุนภาพใหญ่ และเน้นกลุ่มที่มีธุรกิจชัดเจน เริ่มมีลูกค้า รายได้ ที่สำคัญคือเป็น Series A ขึ้นไป”

ลงทุน 200 ล้านบาท ปีนี้เล็งอีก 2-3 ราย

สำหรับการลงทุนนั้น Invent มีการเตรียมงบประมาณไว้ราว 200 ล้านบาท/ปี เช่นเดิม และปัจจุบันลงทุนใน Startup ไปทั้งหมด 11 ราย โดยปีนี้เตรียมลงทุนอีก 2-3 รายหากเข้าเกณฑ์ และเจรจาธุรกิจกันลงตัว หลังเพิ่งตัดสินใจลงทุนใน Digio ที่เป็น Startup กลุ่ม Fintech รายแรกที่โครงการเข้าไปลงทุน

รูปแบบธุรกิจของ Digio ในอนาคต หลังจากมีโปรดักต์หลักเป็น mPOS และการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเชื่อมต่อการชำระเงินต่างๆ

อย่างไรก็ตามการลงทุนในระยะเวลา 5 ปีของ Invent นั้น ถึงจะตั้งงบประมาณปีละ 200 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วใช้ไปเพียงหลัก 300 ล้านบาทเท่านั้น โดย Startup ที่ได้รับเงินลงทุนสูงสุดคือ Ookbee ที่ได้ไปกว่า 50 ล้านบาท แต่ที่ยังคงไว้คือเรื่องการเข้าไปถือหุ้นในจำนวนน้อย และให้อิสระในการทำงานของ Startup อย่างเต็มที่ พร้อมกับช่วยเหลือเรื่องงานหลังบ้านต่างๆ

Digio โอกาสโตไกล ต่างประเทศ-เข้าตลาดหลักทรัพย์

นพพร ด่านชัยนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด (Digio) เสริมว่า ก่อนหน้านี้ต้องการเติบโตทางธุรกิจด้วยตนเอง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งธุรกิจโตเกินกว่าจะควบคุมได้ ดังนั้นการเปิดรับ CVC เข้ามาลงทุนเพิ่มจึงจำเป็น และการร่วมกันครั้งนี้น่าจะช่วยให้บริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเดินหน้าธุรกิจในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วย

จำนวนร้านค้าที่ใช้บริการของ Digio และยอดเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งปีนี้จะเติบโตเป็นเท่าตัวอย่างน้อย

สำหรับ Digio วางตัวเป็น PTP หรือ Payment Technology Provider มีสินค้าสำคัญคืออุปกรณ์ mPOS หรือเครื่องรับชำระบัตรเครดิตผ่าน Smartphone ในปี 2559 มีรายได้ 190 ล้านบาท มาจากค่าธรรมเนียมที่ธนาคารแบ่งให้เป็นหลัก และปีนี้เตรียมเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือย่างน้อยเท่าตัวจากปี 2559

สรุป

ถึงจะเป็นแปลงผู้บริหารอย่างไร Invent ก็ยังคงวิสัยทัศน์ และพันธกิจเดิม คือสนับสนุน Startup ระดับ Series A ขึ้นไป เพื่อยกระดับให้ Startup เหล่านั้น Scale ธุรกิจได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องเป้าหมายรายได้ก็คงไม่ใช่เสาหลักของธุรกิจ เพราะ InTouch เองก็ลงทุนใน AIS, Thaicom และอีก 40 บริษัท ที่ส่งผลกำไรให้กับตัวบริษัทอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา