เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในยุโรปทางเหลือ ติดกับฟินแลนด์ ยูเครน อยู่ในกลุ่มประเทศทะเลบอลติก (มี 3 ประเทศคือ เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย) บอกเลยว่า เป็นประเทศที่คนไทยหลายคนไม่รู้จัก เป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีจุดช้อปปิ้ง ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว แต่นโยบายด้านดิจิทัลของรัฐ ถือได้ว่านำหน้าทุกประเทศทั่วโลก
เรื่องสำค้ญที่คนไทยน่าสนใจตอนนี้คือ เอสโตเนีย คือประเทศที่ใช้ระบบ i-Voting หรือการโหวตผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งหนึ่งในการโหวตนั้นก็คือ การเลือกตั้ง ที่สามารถทำแบบออนไลน์ได้ ถ้าเป็นคนเอสโตเนีย ทำได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงด้วย นี่อาจเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของไทย และอาจช่วยแก้ปัญหาที่ไทยกำลังเจอกับการจัดการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ในเวลานี้
เจาะลึกเอสโตเนีย ประเทศที่คนเข้าถึง Digital ได้ 100%
ครั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย ได้ไปศึกษาเรื่องการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในภาครัฐของเอสโตเนีย เรียกง่ายๆ ว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบ e-Government และพัฒนาสู่ Digital Government มีบริการภาครัฐที่เป็น e-Service มากถึง 99% มีบางงานเท่านั้นที่ต้องมาทำที่หน่วยงานของรัฐ เช่น การจดทะเบียนหย่า เพราะติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย แต่ทุกบริการยังสามารถไปทำที่หน่วยงานรัฐได้ทั้งหมด
ทางเอสโตเนีย บอกว่า การเป็น Digital Government ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ลดต้นทุนการให้บริการภาครัฐ และทำให้ประชากร 1.3 ล้านคน เข้าถึง Digital ได้แบบ 100% ทุกคนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ แน่นอนว่าด้วยขนาดประเทศที่เล็ก จำนวนประชากรที่น้อย อาจทำให้การจัดการจุดนี้ไม่ยากเท่าประเทศใหญ่ แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่นำไปปรับใช้ได้
สำหรับนักธุรกิจสาย Startup จะรู้ดีว่า เอสโตเนีย มีนโยบายดึงดูดคนที่ทำธุรกิจด้าน Startup สามารถจดทะเบียนมาเป็นประชากรของเอสโตเนียได้ มีการส่งเสริม สนับสนุน ทั้งด้านการลงทุน ด้านภาษี และสิทธิพิเศษอีกมาก เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจยุคใหม่สายเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
รู้หรือไม่ว่า เอสโตเนีย เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ประชากรมีรายได้ต่อหัวเท่ากับประเทศไทย ผ่านมา 30 ปี ตอนนี้รายได้ต่อหัวของเอสโตเนียมากกว่าไทย 5 เท่า ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาด้าน Digital ทั้งประเทศ
i-Voting การเลือกตั้งออนไลน์ทำได้ทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง
นี่เป็นเรื่องจริง เอสโตเนีย เป็นประเทศแรกในโลกที่มีการเลือกตั้งออนไลน์ และทำได้ทั่วโลก 24 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความสะดวก ประหยัดงบประมาณ ขณะที่หลายประเทศ รวมถึงไทย มีการใช้งบไปกับการจัดเลือกตั้งเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นปี 2566 ที่ไทยใช้งบประมาณเกือบ 6,000 ล้านบาท แต่ยังพบปัญหาทั้งการเลือกตั้งนอกราชอาณาจัก การเลือกตั้งล่วงหน้า และยังไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
แต่สำหรับเอสโตเนีย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก สามารถเลือกตั้งได้ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา มีคนเลือกตั้งผ่าน i-Voting ประมาณ 51% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้เลือกตั้งออนไลน์มากกว่าครึ่งของคนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่คนที่เหลือยงนิยมไปเข้าคูหาเลือกตั้งด้วยกระดาษตามปกติ
ประเด็นสำคัญคือ i-Voting ช่วยลดปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ เพราะคนเอสโตเนีย สามารถเข้าไปเลือกตั้งออนไลน์แล้วเปลี่ยนใจเข้ามาเลือกใหม่กี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะถึงเวลาปิดการเลือกตั้ง ดังนั้นไม่ว่าจะถูกบังคับ หรืออยากเปลี่ยนใจเอง ทำได้อย่างเต็มที่ หรือในวันเลือกตั้งจริง เกิดอยากไปเข้าคูหากาบนกระดาษก็ทำได้ทันที ระบบออนไลน์ที่หน้าคูหาจะยกเลิกระบบที่เราเลือกไว้ในออนไลน์ให้อัตโนมัติ
ระบบ i-Voting ของเอสโตเนีย มีการใช้และพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2005 เรียกว่าใช้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ผ่านการใช้งานจริง ปรับเปลี่ยนจนรู้แล้วว่า นี่คือส่ิงที่เหมาะสมกับเอสโตเนียที่สุด และหลังการเลือกตั้งจบ ผลคะแนนออกมาแล้ว การลงคะแนนของประชาชนทุกคนจะถูกลบทิ้งทั้งหมด
ภาครัฐ-เอกชนผลักดัน Digitalization สร้างบริการ e-Service
สิ่งที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการ Digitalize บริการภาครัฐ คือ พรรคการเมืองต่าง ๆ เห็นไปในทางเดียวกันว่า ประเทศจะต้องพัฒนาด้าน Digital ต่อเนื่องไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงมีการปรับกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิด Digitalization ภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา นอกจากองค์กรด้าน IT แล้ว ยังมีภาคธนาคาร ที่ต้องการให้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วยต้นทุนการให้บริการที่ถูกกว่าการเปิดสาขา
บริการแรกๆ ที่เป็น e-Service คล้ายกับไทย คือ การยื่นภาษี แต่สิ่งที่นำหน้าไทยไปไม่น้อยคือ เอสโตเนียมีการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งหมด ดังนั้นประชาชนจึงเข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง เงินได้ การหักลดหย่อนต่างๆ จากนั้นก็แค่กดยืนยัน Submit ก็จบ ทำให้ปัจจุบันมีคนยื่นภาษีออนไลน์กว่า 90% และใช้เวลาไม่กี่คลิกเท่านั้น
และอย่างที่บอกว่าทุกบริการของรัฐเป็น e-Service ซึ่งเอสโตเนียรวบรวมไว้ที่ State Portal Website (eesti.ee) เป็น One-stop Shop ไม่ต้องแยกไว้หลายที่ หลายเว็บ หลายแอป มาที่นี่ที่เดียวมีทุกบริการรวมไว้ทั้งหมด และทำให้ระบบหลังบ้านต้องมีความแข็งแกร่ง รองรับการใช้งานที่มีจำนวนมาก และเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด
และนอกจากบริการของรัฐแล้ว ที่เว็บนี้ยังรวมข้อมูลของประชาชนแต่ละคนไว้ด้วย (คล้ายๆ ระบบทะเบียนราษฏร์ของไทย) สามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราได้ทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานรัฐต่างๆ สามารถเข้ามาดูได้เช่นกันทำให้ไม่ต้องคอยถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชนเวลาทำธุรกรรมใดๆ และเอื้อต่อการใช้บริการออนไลน์ทั้งหมดด้วย และด้วยระบบ Data Tracker ทำให้ประชาชนเจ้าของข้อมูลรู้ได้ว่ามีหน่วยงานใดเข้ามาดูข้อมูลอะไรของเราบ้าง ตรวจสอบได้ทันที
สามเสาหลักที่เป็นรากฐาน e-Service ของเอสโตเนีย
สามเสาหลักที่เป็นรากฐาน e-Service ของเอสโตเนีย คือ Confidentiality, Availability และ Integrity
เสาที่หนึ่ง Confidentiality คือ การที่คนสามารถยืนยันตัวตนผ่าน e-identification ได้อย่างปลอดภัย มั่นใจว่า ข้อมูลต่าง ๆ เป็นความลับ ปัจจุบันมี “อุปกรณ์” ในการยืนยันตัวตน 3 รูปแบบ คือ 1) บัตรประชาชนที่มี chip 2) Mobile ID ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3) Smart ID แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้ จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 โดย PIN 1 ใช้กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่าง ๆ PIN 2 ใช้ในการลงนาม Digital Signature ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษ มีผลผูกพันทางกฎหมาย ปัจจัยที่ทำให้ e-Identity ในเอสโตเนียประสบความสำเร็จ คือ รัฐบาลบังคับให้ทุกคนมี Digital Identity โดยให้มาพร้อมกับบัตรประชาชน นอกจากนี้ รัฐยังเปิดให้ภาคเอกชนต่าง ๆ นำ e-Identity ไปใช้ในการยืนยันตัวตน ทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารที่นำไปใช้ยืนยันตัวตนลูกค้า เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ e-Identity เทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้ในการยืนยันตัวตนออนไลน์ คือ Splitkey ของ Cybernetica ซึ่งทำให้คนสามารถใช้มือถือและแทบเล็ตในการลงนาม Digital Signature
เสาที่สอง คือ Availability หมายถึง ข้อมูลต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยสิ่งที่สนับสนุนสิ่งนี้คือ X-Road พัฒนาโดยบริษัท Cybernetica โดย X-road เป็น Secure Data Exchange Infrastructure ที่ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้อย่างปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่ง โครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลของเอสโตเนียเป็นแบบ Decentralized คือ แต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของตนเอง เมื่อหน่วยงานอื่นต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวสามารถดึงข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ทำให้ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเดียวกันซ้ำในสองที่ (Once-only Principle) มั่นใจได้ว่า ข้อมูลถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลที่อยู่จะถูกจัดเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์เพียงที่เดียว หากหน่วยงานอื่นต้องการทราบว่า บุคคลนี้อาศัยอยู่ในเมือง Tallinn หรือไม่ สามารถดึงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ โดย e-Service ของหน่วยงานอื่น จะถามมาที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ว่า บุคคลนี้อาศัยอยู่ใน Tallinn หรือไม่ และได้รับคำตอบเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการตอบคำถามเท่านั้น (Need-to-know Basis) หากมีการย้ายบ้าน ก็แจ้งย้ายบ้านกับทะเบียนราษฎร์เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องไปแจ้งหน่วยงาน
อื่น ๆ โดยข้อมูลจะถูกส่งผ่าน X-road แต่ X-road ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนก็จัดเก็บข้อมูลและส่งข้อมูลผ่าน X-road เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร มหาวิทยาลัย ฯลฯ
เสาที่ 3 คือ Integrity หรือ ความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูล จึงมีการนำ KSI Blockchain ที่บริษัท Guardtime ให้กับรัฐบาลเอสโตเนีย มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของ Sensitive Data การพัฒนา KSI Blockchain มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เอสโตเนียโดน Cyberattack ในระดับประเทศ จึงต้องหาวิธีรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมี Data Embassy คือ การ Back Up ข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลหายไป หรือเกิด Cyberattack
เอสโตเนียในปัจจุบันเป็นแหล่งรวม Start-up ของโลกแห่งหนึ่ง เห็นได้จากการที่เอสโตเนียเป็นประเทศที่มี Start-up per Capita สูงที่สุดในโลก มี Unicorn per Capita สูงที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลก สาเหตุสำคัญคือ การที่รัฐบาลทำให้เอสโตเนียมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ มี Ease of Doing Business ในระดับสูง เช่น สามารถตั้งบริษัทได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีโครงการ e-Residency คือ การที่คนต่างชาติมาสมัครเป็นพลเมืองของเอสโตเนีย และตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนีย บริหารจัดการบริษัทได้แบบออนไลน์ 100% ลดความยุ่งยากในการติดต่อกับรัฐบาล ทำให้เข้าถึง European Single Market โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เอสโตเนีย จากโครงการ e-Residency เอสโตเนียได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษี ชดเชยภาษีที่เก็บได้น้อยลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงเกิดการสร้างงานทางอ้อมภายในประเทศ และมีการใช้จ่ายหรือใช้บริการบริษัทอื่น ๆ นอกจากนี้ เอสโตเนียยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดึงดูด โดยยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่นำกลับมาลงทุนต่อ รวมทั้งชุมชน Start-up สนับสนุนกันและกัน แบ่งปันความรู้กัน เนื่องจาก Start-up ในเอสโตเนีย ไม่แข่งขันกันแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ เพราะต่างมีตลาดของตนเองในต่างประเทศ
ในอนาคต เอสโตเนียมีแนวทางพัฒนาด้านต่าง ๆ ดังนี้
รัฐบาลต้องการเป็น Proactive Government ที่จะนำบริการหรือสิทธิที่ประชาชนแต่ละคนพึงได้รับไปยื่นให้กับประชาชนโดยไม่ต้องมาสมัคร เพราะประชาชนบางคนก็ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการใดบ้าง เช่น เมื่อคลอดลูก โรงพยาบาลจะแจ้งเกิดให้ พ่อแม่ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร จะได้รับข้อความให้เลือกบัญชีที่จะรับเงินทันที โดยไม่ต้องไปแจ้งกับหน่วยงานที่ให้สวัสดิการเองว่าตนเองมีลูกแล้ว เป็นต้น
- นำ AI Chatbot มาช่วยในการโต้ตอบกับประชาชน ให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐ พัฒนา Speech Recognition เพื่อให้สามารถคุยกันได้โดยใช้เสียง ทำให้คนที่มีปัญหาไม่สามารถพิมพ์โต้ตอบ สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม
- ใช้งานระบบต่าง ๆ ในต่างประเทศได้ (Cross-border Digitalization) ซึ่งในปัจจุบันใช้ได้แล้ว เช่น e-Prescription สามารถให้หมอที่หาประจำออกใบสั่งยาให้ และแสดงบัตรประชาชนซื้อยาในฟินแลนด์ได้ เป็นต้น
- ทำ Personalized Medicine คือ การนำข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางพันธุกรรมมาประมวลผล เพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนในการป้องกันโรค ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาโรค
- มุ่งสู่ Green ICT ด้วยการหาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์ในการลด Carbon Footprint ที่เกิดการจากจัดเก็บข้อมูลและดำเนินการด้านดิจิทัล
สรุป
ประเทศเอสโตเนีย อาจเป็นประเทศที่เล็กมากเมื่อเทียบกับไทย แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญว่า การพัฒนาประเทศเป็น Digitalization เชื่อมต่อข้อมูลและบริการภาครัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน ลดความยุ่งยากซับซ้อน ประหยัดงบ ยกระดับประเทศได้จริง ที่สำคัญคือ การเลือกตั้งแบบออนไลน์ ที่สามารถทำได้ ปลอดภัย แก้ปัญหาได้หลายส่วน รวมถึงการสนับสนุน Startup ที่ช่วยยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเอสโตเนียได้อย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไทยน่าจะศึกษาและนำมาปรับใช้ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา