ฮีทสโตรก (Heat Stroke) โรคลมแดด ภัยร้ายหน้าร้อนที่คนอยู่เมืองร้อนต้องระวัง
ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดกลับมาเป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้งหลังเอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิตจากโรคลมแดดขณะซ้อมแข่งรถ หลังจากนั้นเราก็ได้ยินข่าวผู้คนเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ท่ามกลางแดดร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ
ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยระบุว่า สภาพอากาศประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น อาจส่งผลต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก
สาเหตุของโรคฮีทสโตรก
มาจากร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเลือดและระบบสมอง ผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ เกษตรกร นักวิ่งมาราธอน ฯลฯ
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
คือผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่มากพอ ดื่มน้ำน้อย ติดสุราทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็กเล็กที่มีความสามารถในการระบายความร้อนจากร่างกายน้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ
รวมทั้งคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่ใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นยากระตุ้นการขับปัสสาวะที่ขัดขวางการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อน
สิ่งที่ควรทำ
ช่วงอากาศร้อนควรอยู่ในอาคารหรือบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอกระหาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาลสูง อาบน้ำบ่อยๆ ไม่เปิดพัดลมจ่อตัวเพราะพัดลมจะดูดความร้อนเข้าหาตัว ให้เปิดพัดลมแบบส่าย เปิดหน้าต่างระบายอากาศ
หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อน เวลา 11.00-15.00 น. ควรทำกิจกรรมช่วงเช้ามืดหรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ป้องกันตนเองด้วยการสวมหมวกปีกกว้าง สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาครีมกันแดด SPF15 ขึ้นไป ทั้งนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง มีอันตรายมาก เพราะเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นก๊าซพิษ มีผลต่อระบบประสาท ควรหลบเลี่ยง
อาการของโรคนี้
เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ เหงื่อไม่ออก ปวดศรีษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว รวมทั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
หากพบผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัว
-ให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถ หรือห้องที่มีความเย็น
-ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง
-ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
-ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่าหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ
หากผู้ป่วยเป็นลม หมดสติ
หายใจไม่สม่ำเสมอหรือหายใจช้าผิดปกติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันทีด้วยรถปรับอากาศหรือเปิดหน้าต่างรถเพื่ออากาศถ่ายเท หรือโทร 1669
ที่มา – กรมอนามัย (1), (2), (3), (4), กระทรวงสาธารณสุข
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา