จี้จุด Startup แบบไหนรอด-ไม่รอด ในสายตา AIS the Startup พร้อมแนวทางการปรับตัวเพื่อโตยั่งยืน

“ศรีหทัย พราหมณี” คือหัวหอกของ AIS the Startup ในตอนนี้ และจากประสบการณ์กว่า 5 ปีทำให้เธอมองเห็นจุดอ่อนในเรื่องความคิดเชิงธุรกิจของ Startup จำนวนมาก ที่หากยังไม่ปรับก็ส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในไทยเช่นกัน

อยากอยู่รอดต้องรู้จักปล่อย

ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS the Startup เล่าให้ฟังว่า Startup เกิดมาจากการพัฒนา Product เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มเติบโต การจมปรักอยู่กับเรื่องพัฒนา Product เพียงอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง การเรียนรู้เรื่องธุรกิจ และการบริหารงานเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น

“เข้าใจว่าทุกคนรักโปรดักต์ของตัวเองมาก และช่วงแรกอาจมองแค่ตอบโจทย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผ่านทีมงานแค่ 4-5 คน แต่หากทุกอย่างมันเติบโต และ Founder ไม่เติบโตได้ตามตลาด หรือหาทักษะการบริหารทางธุรกิจมากขึ้น โอกาสที่จะไปรอดก็อยาก ดังนั้นการยึดติดกับตัวเอง และไม่ยอมเรียนรู้อะไรใหม่ก็ยาก”

Zipevnet หนึ่งใน Startup ภายในโครงการ AIS the Startup ที่มีการปรับตัวเรื่องธุรกิจ และสามารถเติบโตได้ในระดับต่างประเทศ

สำหรับการปรับตัวที่ควรประกอบด้วย 3 ข้อคือ

  • Founder โดยเฉพาะเรื่องทักษะความเป็นผู้นำ และการวาง Structure ขององค์กร เพื่อรักษาการทำงานไว้ให้ได้ตลอด
  • Staff เพราะหาก Founder ปรับแล้ว การ Execute ไปที่พนักงานไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ
  • Product จากที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้เล็กๆ แต่ถ้าอยากขยายตลาด การปรับ Product ให้เข้ากับตลาดใหญ่ก็จำเป็น

ที่สำคัญคือการนำการปรับทั้งหมดมาพัฒนา Value Chain กับ Stakeholder Management ให้ดีที่สุด เพราะการจะก้าวไปสู่บริษัทที่มีโครงสร้างชัดเจน (Structure) เพื่อความยั่งยืน การวางแผนเรื่องพาร์ทเนอร์ภายนอก และภายในเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้หากต่างชาติเข้ามาในตลาด ก็เสี่ยงที่จะถูกดึงตัวเพื่อนร่วมงาน และถ้าอ้างว่าช่วย Startup ไทยก็คงไม่ยั่งยืน

Golfdigg อีกหนึ่ง Startup ในโครงการของ AIS ที่จากมองโมเดลธุรกิจแบบ Vendor ก็เปลี่ยนเป็นแบบ Partner เพื่อรักษาความเป็น Owner เอาไว้

ปัจจัยภายใน-นอกเพียบ รุ่งได้ก็เจ๊งได้

อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรม Startup ของไทยนั้นมีรายใหม่เข้ามามาก และส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเรียนรู้เรื่องธุรกิจมากนัก เน้นแต่การพัฒนา Product เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า Startup เริ่มจากโปรดักต์ที่ดีก่อน แต่สุดท้ายแล้วการเรียนรู้เรื่องธุรกิจก็จำเป็นในระยะยาวอยู่ดี และเรื่องธุรกิจนั้นมีอะไรมากกว่าแค่ Lean Canvas ที่ Startup อยากรู้

“การเอาตัวเองเป็นหลักมากกว่าตลาด, การทำ Product ในตลาดที่เล็กมากจน Scale ไม่ได้ รวมถึงการทำ Startup ตามแฟชั่น นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเจ๊ง นอกจากการไม่เรียนรู้เรื่องธุรกิจแล้ว แต่หากมี Passion จริงๆ ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่ามันเป็นไปได้ไหม และมันเป็นแค่ Passion เพื่อตัวเอง หรือเพื่อตลาดรวมหรือไม่”

Lean Canvas // ภาพโดย Ash Maurya (http://practicetrumpstheory.com/) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons
ขณะเดียวกันจะเติบโต หรือเจ๊ง มันก็มีปัจจัยภายนอก เช่นการทำงานกับระดับ Corporate เพราะนั่นจะทำให้ Startup มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นโดยอัตโนมัติ ผ่านการทำงานที่ทุกอย่างต้องเป๊ะ และปัจจัยทางกฎหมาย กับเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และโมเดลธุรกิจ เช่นทำ Startup เกี่ยวกับ IoT แต่โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตยังไม่พร้อมก็โตลำบาก

Incubator ต้องปรับ เปิดรับตลอดเวลา

“AIS เริ่มทำโครงการ Startup เมื่อปี 2011 และเราก็ปรับมาโดยตลอด ตั้งแต่การประกวด จนมาถึงการเปิดให้ส่งผลงานตลอดเวลา เพราะมองว่าตอนนี้ตลาดมันพร้อม ไม่ต้องมา Ignite มัน ถ้ามาให้จัดประกวดเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ และการเปิดตลอดเวลานั้นทำให้ปีที่ผ่านมามีผู้สนใจส่งผลงานเข้ามากว่า 700 ราย และเปิดโอกาสให้ AIS ได้พบกับธุรกิจใหม่จำนวนมาก”

ภายใน AIS D.C. ศูนย์รวม Startup และความคิดสร้างสรรค์แห่งใหม่

ทั้งนี้การทำงานร่วมกับ Startup ทำให้ AIS เริ่มปรับองค์กรไปในทิศทางนั้นเช่นกัน อาทิการนำ Startup Culture มาใช้ในบางแผนก โดยเฉพาะเรื่องการลองผิดลองถูกอย่างมีเหตุผล และรีบแก้ไขหากพลาด เหมือนกับวิสัยทัศน์ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบริษัทในภาวะที่เป็นเบอร์หนึ่งในทิศทางดิจิทัล เพื่อรักษาตำแหน่งเบอร์หนึ่งไว้เช่นเดิม

ส่วนเรื่องทิศทางหลังจากนี้ของ AIS the Startup จะเป็นไปในทางใด “ศรีหทัย” บอกว่า ตอนนี้ AIS มี AIS D.C. เป็นศูนย์รวมเกี่ยวกับ Startup เพื่อสนับสนุนกลุ่มนักพัฒนาภายใต้โครงการ ร่วมถึงบุคคลที่สนใจ และพันธกิจของโครงการนี้ก็เหมือนเดิมคือ มุ่งสนับสนุน Startup ในประเทศไทยเต็มที่, ไม่ได้เข้าไปถือหุ้น (เรื่องลงทุนเป็นของ Invent) และเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดี

“เราเหมือน Navigator ที่นั่งข้างๆ คนขับที่เป็น Startup เพื่อให้พวกเขาไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่ว่าจะ IPO เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรืออยากขยายตลาดให้ได้ก่อน เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา