เมื่อหุ่นยนต์มา แรงงานทักษะต่ำไม่ได้น่าห่วงที่สุด ที่จริงคือคนกลางๆ ต่างหาก

พูดกันมาตลอดว่าถ้าหุ่นยนต์เข้ามา แรงงานทักษะต่ำแย่แน่ แต่ล่าสุดมีรายงานของ OECD เผยว่า แรงงานทักษะปานกลางต่างหากที่น่าเป็นห่วง เพราะโดยลำพังแรงงานทักษะปานกลางก็ถูกแย่งงานด้วยแรงงานทักษะสูงและต่ำอยู่แล้ว

Photo: Pixabay

เมื่อหุ่นยนต์มา แรงงานทักษะปานกลาง น่าห่วงที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ รายงานจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD พบว่า แรงงานทักษะปานกลางที่มีอยู่ในอัตรา 49% ในปี 1995 ลดลงมาเหลือไม่ถึง 40% ในปี 2015

จะว่าไปแล้ว การลดลงของแรงงานทักษะปานกลางไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายเสมอไป เพราะกว่า 80% ของแรงงานเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปสู่การเป็นแรงงานทักษะสูง เช่น ในงานประเภทผู้จัดการ หรือนักวิทยาศาสตร์ อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม

แต่กลับกันในบางสายงานอย่างเช่นสายการเงิน แรงงานทักษะปานกลางก็ถูกแทนที่ด้วยแรงงานทักษะสูงอยู่ไม่น้อย หรืองานประเภทธุรการในโรงงานอุตสาหกรรมที่ถือเป็นแรงงานทักษะปานกลาง ก็จะถูกแทนที่ด้วยซอฟต์แวร์ที่ทำงานเชิงเทคนิคได้ดีกว่า

ส่วนอีก 20% ที่เหลือของแรงงานทักษะปานกลางได้ถูกแทนที่ด้วยแรงงานทักษะต่ำที่ขยับตัวขึ้นมา เช่น พนักงานขาย หรือพนักงานทำความสะอาดที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ซึ่งต้องใช้ทักษะทางร่างกายสูง และหุ่นยนต์ยังไม่สามารถมาแทนที่ได้

แผนผังแสดงจำนวนของแรงงานทักษะสูง-ปานกลาง-ต่ำ โดยแรงงานทักษะปานกลางเป็นกลุ่มที่มีจำนวนลดลงมากที่สุด

แต่นอกเหนือไปจากประเด็นการแทนที่แรงงานทักษะปานกลางด้วยแรงงานทักษะสูง แรงงานทักษะต่ำ หรือหุ่นยนต์ OECD พบอีกว่า “โลกาภิวัตน์” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ อย่างในประเทศจีนเองที่มีการลดงานของกลุ่มแรงงานทักษะปานกลางก็สืบเนื่องมาจากผลกระทบด้านการผลิตที่ต้องการลดต้นทุน จึงทำให้แรงงานทักษะปานกลางสูญเสียงานไปไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั้งหมดที่ว่ามานี้ยังเกิดขึ้นเพียงในประเทศร่ำรวย (rich countries) และเป็นประเทศสมาชิกของ OECD เท่านั้น

สรุป

โดยรวมแล้วการที่แรงงานทักษะปานกลางมีจำนวนลดลงมาจากการที่ได้ขยับตัวไปเป็นแรงงานทักษะสูง มากกว่านั้น แรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำก็เข้ามาแทนที่งานของกลุ่มแรงงานทักษะปานกลางด้วย แต่เมื่อประเด็นหุ่นยนต์เข้ามาในการสมการนี้ด้วย จึงทำให้แรงงานทักษะปานกลางเป็นกลุ่มที่จะมีจำนวนลดลงมากที่สุดนั่นเอง

ที่มา – QUARTZ, OECD

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา