ธุรกิจอาหาร เป็นธุรกิจที่เราจะเห็นร้านใหม่ ๆ แบรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน และสามารถมีชื่อเสียง ถูกพูดถึง ได้รับความนิยม ไปจนถึงปิดกิจการหรือหายไปจากตลาดได้ตลอดเวลา เพราะในอุตสาหกรรมนี้เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Monopolistic Compensation) ผู้เล่นใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ตลอดเวลา (Low Barrier to Entry)
ดังนั้น เราจะเห็นแบรนด์ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ตั้งแต่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภคที่หลากหลายและแตกต่างกัน กล่าวได้ว่า อาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มูลค่าตลาดสูงเพราะไม่ว่าอย่างไร คนก็ต้องกินทุกวัน แต่นั่นก็ทำให้การแข่งขันสูงตามไปด้วย ยิ่งปัจจุบัน อาหารมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเชื้อชาติ ไปจนถึงความสามารถในการสั่งแบบ Delivery
นั่นเป็นที่มาของการมาเปิดมุมมองธุรกิจร้านอาหาร กับ ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร Founder & CEO of YUZU GROUP หรือ บริษัท ส้มพาสุข จำกัด ถึงวิธีการทำงาน การบริหารงาน และแนวคิดในการสร้างสรรค์ “ทุกรสชาติความสุข…เพื่อคุณ”
ประสบการณ์และความทรงจำ แนวทางของธุรกิจร้านอาหาร
ปรมินทร์ บอกว่า ธุรกิจอาหารมีโอกาสอีกมหาศาล หากสามารถสร้างความแตกต่าง สร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์และแบรนด์ได้ชัดเจน ซึ่งแนวทางที่ YUZU GROUP เน้นคือ การสร้างประสบการณ์ สร้างความทรงจำให้กับผู้บริโภค เพราะทุกคนไปร้านอาหารไม่ได้ไปเพื่อรับประทานเพียงอย่างเดียว แต่ไปเพื่อพบปะ พูดคุย ให้ความสำคัญกับ Moment มากขึ้น นอกจากใส่ใจเรื่องผลิตภัณฑ์แล้ว บรรยากาศ อุณหภูมิ เสียงเพลง ความรู้สึก ล้วนมีความสำคัญ
ดังนั้นที่ YUZU GROUP จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง จากร้านอาหารในเครือทั้งหมด ที่ใส่ใจทุกประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่ Yuzu Omakase รสชาติความสุข…คัดสรร, Yuzu Suki รสชาติความสุข…ไม่รู้จบ, Yuzu Sushi รสชาติความสุข…ที่ลงตัว, Yuzu Ramen รสชาติความสุข…ไม่ซ้ำใคร, Yuzu Honey รสชาติความสุข…สดชื่น และ Thai Thai Boat Noodles รสชาติความสุข…ครบเครื่อง
ไม่ว่าผู้บริโภคจะไปร้านไหนของ YUZU GROUP ก็จะได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจ และเป็นความทรงจำที่ดี ทำให้อยากกลับมาใช้บริการใหม่ เพราะนี่คือ รสชาติความสุขสำหรับทุกคน
บริหารจัดการร้านอาหารไม่ง่าย รายละเอียดมากกว่าที่คิด
ปรมินทร์ เล่าต่อไปว่า การมาทำธุรกิจร้านอาหาร มองจากหน้าร้าน ลูกค้าจะเห็นความราบรื่น อาหารออกมาตามเมนูที่ลูกค้าสั่ง ถึงมือลูกค้าในรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของ YUZU GROUP ได้มาตรฐานเหมือนกัน แต่รู้หรือไม่ว่า รายละเอียดที่อยู่เบื้องหลัง เรียกว่าไม่ง่ายเลย มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายส่วนมาก
เริ่มตั้งแต่ฝ่ายบริหาร จัดการวัตถุดิบ เรื่องพนักงาน การทำตลาด โปรโมทแบรนด์และสินค้า เรื่องการเงินและบัญชี ทั้งหมดต้องสอดคล้องกันเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ รักษามาตรฐาน ผู้บริโภคมีความสุข ธุรกิจสามารถอยู่ได้
อีกฝ่ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ฝ่ายปฏิบัติการ เริ่มตั้งแต่ภายในครัว การทำอาหารแต่ละเมนู แต่ละจาน ที่ต้องพิถีพิถันใส่ใจทุกขั้นตอน การให้บริการหน้าร้านโดยน้อง ๆ พนักงาน รวมถึงการฝึกอบรม และอีกส่วนคือ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ YUZU GROUP มีเมนูที่โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น และต้องถูกปากผู้บริโภคด้วย
ทั้งหมดต้องอาศัยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีการวิเคราะห์ วางกลยุทธ์ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถเกิดขึ้นและเติบโตต่อไปในอนาคต หนึ่งในเครื่องมือที่ ปรมินทร์ บอกว่าต้องใช้เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพคือ ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เป็นระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาวได้อีกด้วย
ถูกที่ ถูกเวลา และ ถูกคน องค์ประกอบที่ต้องมาพร้อมกัน
ในการทำธุรกิจร้านอาหารนอกจากรายละเอียดเบื้องหลังที่กล่าวมาแล้ว แนวคิดในการทำงานก็มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีให้กับผู้บริโภค ที่ YUZU GROUP ให้ความสำคัญกับทีมงานอย่างมาก เพราะเชื่อว่า “คน” คือองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
องค์กรจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทุกคนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และต้องรู้แนวทางที่จะเดินไปร่วมกัน เพราะอย่าลืมว่าการจะเดินไปข้างหน้า ถ้าทิศทางไม่ชัดเจน ไม่เป็นเส้นตรง ก็อาจเดินวนเป็นวงกลมก็ได้เช่นกัน
ดังนั้น ปรมินทร์ ใช้แนวคิด “ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน” เป็น 3 ส่วนที่ต้องมาพร้อมกันเสมอ และทั้งหมดต้องสื่อสารภายในองค์กรให้ชัดเจนด้วย รสชาติอาหารต้องดีเหมือนกันทุกสาขาทุกจาน รสชาติต้องเป็นไปในแบบที่เราตั้งใจนำเสนอ การให้บริการของพนักงานทุกคน ทุกองค์ประกอบคือความยั่งยืนของร้านอาหาร
ยึดหลัก 4C จากมุมมองของผู้บริโภค
ปรมินทร์ บอกว่า โมเดลการตลาดของ Bob Lauterborn เป็นสิ่งที่น่าสนใจ มีการปรับมุมมองจากเดิมที่ใช้หลัก 4P คือ Product, Price, Place และ Promotion เปลี่ยนเป็น 4C ซึ่งพิจารณาจากองค์ประกอบเดียวกัน แต่มองในมุมผู้บริโภค คือ
- Customer ลูกค้า – สร้างการตลาดจากมุมมองลูกค้าว่าทำไมต้องมาซื้อสินค้าและใช้บริการของเรา พวกเขาคาดหวังอะไรจากผลิตภัณฑ์นี้
- Cost ค่าใช้จ่าย – เปลี่ยนจากโฟกัสที่ราคา มาดูที่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ ลูกค้าต้องรู้สึกคุ้มค่าที่มาซื้อหรือใช้บริการ
- Convenience ความสะดวก – เน้นที่ความรู้สึกสะดวกของลูกค้า ไม่ยึดติดกับสถานที่ (Place) แปลว่า สามารถสั่ง Delivery ได้
- Communication การสื่อสาร – เน้นการสื่อสารเพื่อให้เห็นคุณค่า คุณภาพและที่มา เพื่อสร้างมูลค่าให้อาหารของแบรนด์
นอกจากนี้ YUZU GROUP ยังเน้นให้พนักงานมี Growth Mindset กล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง ท้าทายกรอบความคิดเดิม ๆ เพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่างไม่กลัวความบกพร่องหรือล้มเหลว เช่น การคิดค้นเมนูอาหารหรือการคิดค้นวิธีการนำเสนอใหม่ ๆ
กล่าวได้ว่า YUZU GROUP เป็นเหมือนพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง สามารถต่อยอดความคิด เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ดังนั้น ผังองค์กรจึงมีพื้นที่ให้ตำแหน่งและหน้าที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เพื่อรองรับบุคลากรที่โดดเด่นเพิ่มมากขึ้น
บทสรุป ความสำเร็จที่ต้องเดินไปด้วยกัน
ปรมินทร์ เล่าให้ฟังถึงสมัยเรียนที่ Columbia University ว่า Professor Jesse Scinto บอกไว้ว่า “If you want to succeed in life, all you have to do is ask.” ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จสิ่งที่ต้องทำคือถาม…
แปลว่า ถ้าเราไม่รู้ เราต้องถาม ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง การถามเป็นวิธีที่ทำให้รู้คำตอบ และต้องถามจนกว่าจะมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และนั่นกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่นำมาใช้กับการทำธุรกิจร้านอาหารของ YUZU GROUP
และเช่นเดียวกับแนวทางที่ให้ไว้กับพนักงานว่า ต้องกล้าที่จะออกจากกรอบเดิม ๆ กล้าที่ล้ม แต่ล้มแล้วต้องไม่ยอมแพ้ เพราะนิยามความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความสำเร็จจึงไม่ใช่ภาพ ๆ เดียว หรือเส้นชัยเดียว แต่คือ ความสามารถในการแก้ปัญหา รู้สึกท้าทายและสนุกที่สามารถแก้ปัญหาได้ และอยากให้ทุกคนใน YUZU GROUP รู้สึกร่วมไปด้วยกัน
YUZU GROUP มีร้านอาหารในเครือหลากหลาย คลิกไปดูกันได้ที่นี่ https://yuzugroup2018.com/
ข้อมูลเพิ่มเติม: Fecebook : https://www.facebook.com/YUZUGROUP2018
Website : https://yuzugroup2018.com
Linktree : https://www.linktr.ee/yuzugroup2018
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา