ภาพยนตร์ที่สะท้อนความจริงในสังคม=ห้ามฉาย ปัญหาใต้พรมที่ใครก็ห้ามพูด? ย้อนรอยหนังไทยที่ถูกเซนเซอร์ ห้ามฉาย แม้จัดเรตติ้งแล้วก็ตาม

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านทีวี โทรทัศน์ ภาพยนตร์ มีการจัดเรตติ้ง และเซนเซอร์เนื้อหาเพื่อให้สอดรับกับความเหมาะสมของคนดู เสมือนเป็นกฎหมายหรือข้อห้ามด่านแรกในการพิจารณาผลิตเนื้อหา ถึงแม้จะมีการจัดเรตติ้งโดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แล้ว แต่ก็ยังทำให้ “ภาพยนตร์ไทย” หลายต่อหลายเรื่องถูกพิจารณาห้ามฉายหนังบนโรงภาพยนตร์ 

ภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์” ของผู้กำกับ  “ไมค์ ภณธฤต” ผู้ที่สร้างเฟรนไชส์หนัง พี่นาค ซึ่ง“หุ่นพยนต์” เป็นเรื่องราวของ ธาม ดั้นด้นเดินทางมาหาพี่ชาย ที่วัดบนเกาะดอนสิงธรรม เพื่อแจ้งข่าวร้ายกับการจากไปของพ่อและแม่ เมื่อธามเดินทางมาถึงก็ได้พบกับ เจษ หลานชายของเจ้าอาวาสคนเก่า และมีข่าวลือว่าพี่ชายของเขาได้หนีหายสาบสูญหลังจากลงมือฆ่าอดีตเจ้าอาวาสจนมรณภาพ

ธามไม่เชื่อกับข่าวลือพอ ๆ กับการไม่นับถือหุ่นปั้นพ่อปู่สิงธรรมที่ดูเหมือนภูติผีมากกว่าเทพที่คอยปกปักรักษา จนกระทั่งเกิดเหตุอาเพศในหมู่บ้าน เมื่อมีหญิงสาวคนหนึ่งสูญหาย สัตว์ร้ายออกเพ่นพ่าน ผีตายโหงออกอาละวาด ชาวบ้านโกรธแค้นเตรียมตั้งพิธีกรรมสาปแช่งถึงมือมืด

โดย “หุ่นพยนต์” คือ ภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดที่ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีมติให้เรต ฉ20 กลายเป็นเรตติ้งหนังที่สูงลิบและต้องจำกัดอายุผู้ชมอย่างเคร่งครัด อาจเพราะหนังเรื่องนี้มีแกนเรื่องหลัก ๆ เชื่อมโยงเกี่ยวกับความเชื่อและกระทบต่อพุทธศาสนา ที่ทางคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเป็นห่วงว่าหนังจะมีเนื้อหาที่สอดแทรกแนวคิดที่หมิ่นเหม่ต่อเรื่องสถาบันศาสนา และมีคำสั่งให้มีการแก้ไขเนื้อหาโดย 

1.ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์

2.ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลือง และมีคำหยาบคายให้น้อยลงเท่าที่จะสามารถทำได้

3.ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อเต๊ะทาน

4.ตัดฉากเณรกอดผู้หญิง ในการต่อสู้ฉากหนึ่งในภาพยนตร์  (เณรกอดแม่เพื่อปกป้องแม่จากตัวละครที่โดนผีเข้า)

5.ตัดฉากท่องศีล (ข้อ 2) ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ

6.มีข้อสังเกตว่าพระหรือเณรในเมืองไทยต้องโกนคิ้ว แต่ทั้งเรื่องไม่มีพระเณรที่โกนคิ้วเลย

ส่งผลทำให้ผู้กำกับและทีมงาน  “หุ่นพยนต์” เลื่อนฉายหนังออกไปไม่มีกำหนด เดิมทีหนังกำหนดเข้าฉายเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา 

ภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์” ไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกคณะกรรมการฯ ให้เรตติ้ง ฉ20 ยังมีภาพยนตร์ไทยอีกหลายเรื่องที่ถูกห้ามฉาย โดยให้เหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือ เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี

หากย้อนไปเมื่อปี 2553 ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม กำกับโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เนื้องเรื่องเล่าผ่านตัวละคร ธัญญ่า สาวประเภทสองคือตัวละครหลักของภาพยนตร์ต้องเลี้ยงดูน้องสาวและน้องชายที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นปัญหาภายในครอบครัวทำให้เด็กทั้งสองตัดสินใจหนีออกจากบ้านและนำไปสู่การเลือกอาชีพขายบริการ  

ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ 2553  และได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Dragons and Tigers Competition  ต่อมาได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพ เมื่อ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลังการฉายรอบปฐมทัศน์ ภาพยนตร์ไม่ผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลว่า มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากบางส่วนมีการนำเสนอภาพของขององคชาต การร่วมเพศ และการค้าประเวณี และประกาศห้ามฉาย ต่อมาได้มีการพยายามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้รอบจำกัดผู้ชม ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญระหว่างเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์กับรัฐธรรมนูญไทย จัดโดยมูลนิธิหนังไทย, หอภาพยนตร์, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย, เครือข่ายคนดูหนังแห่งประเทศไทย และนิตยสารไบโอสโคป แต่ก็ได้มีการระงับการฉายภาพยนตร์รอบพิเศษนั้น

ต่อมาในปี 2555 ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาภาพยนตร์ และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย 

“เชคสเปียร์ต้องตาย” ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร ดำเนินเรื่องควบคู่กันไป มีเหตุการณ์สองส่วน คือละครเวที และโลกภายนอกในเหตุการณ์ร่วมสมัย มีตัวละครนำชื่อ “เมฆเด็ด” (Mekhdeth) เป็นขุนนางที่ล้มอำนาจกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เมฆเด็ดลุ่มหลงในอำนาจ เกิดหวาดระแวงว่าจะถูกล้มล้าง จนต้องฆ่าใครต่อใครเพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป เรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่ชื่อว่า “บุญรอด”

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้รับเรท “ห” หรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย 

โดยทางคณะกรรมให้เหตุผลว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติทั้งนี้เนื่องจากในภาพยนตร์มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการนำฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 มาใช้ และการให้ปิศาจในเรื่องสวมชุดสีแดงเปรียบเหมือนการกล่าวหาเสื้อแดง ท่ามกลางการเมืองไทยคุกรุ่น 

ยังมีกรณีอื่นๆ ที่ภาพยนตร์ผ่านการเซ็นเซอร์ แต่ต้องแลกกับการยอมแก้ไขเนื้อหา เช่น ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) สารคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร ผลงานของนนทวัฒน์ นำเบญจพล 

ซึ่งเมื่อปี 2556 คณะกรรมการฯ สั่งห้ามฉาย ระบุเหตุผลว่าบทบรรยายช่วงต้นไม่ถูกต้อง มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ กระทบความมั่นคงของชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น คณะกรรมการฯ ก็เปลี่ยนมติ สั่งให้ดูดเสียงคำบรรยายช่วงต้นออกไป 2 วินาที แล้วจัดเรตให้เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือ น 18+ 

สรุป การจัดเรตติ้งเนื้อหาของคณะกรรมการฯ ส่งผลต่อการกำกับดูแลของสื่อ ซึ่งนั้นก็ไม่ได้มีใครคัดค้านกับระบบเซ็นเซอร์ของภาครัฐ แเต่ก็เชื่อว่าคนดูมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะรู้ว่าปัญหาสังคมทั้งหมดที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ หรือ สื่อเเขนงต่าง ๆ  ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็นว่า ภาพยนตร์ไทยที่ฉายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงเนื้อหาไปทางสร้างเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มให้คนดูมากกว่าการสะท้อนความจริงในสังคม แต่เรายังเห็นภาพความจริงของสังคมปรากฏตามหน้าสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เมื่อนำความจริงและปัญหาในสังคมมาสะท้อนผ่านภาพยนตร์ ก็ถูกพิจารณาจากคนบางกลุ่มให้เรต ฉ 20 หรือ กระทั่งห้ามฉายในประเทศ จึงกลายเป็นฝุ่นใต้พรม ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็ทราบกันดี 

ข้อมูลตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ระบุว่า

มาตรา 26 “ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 26 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัด อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้

(1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู

(2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป

(3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป

(4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป

(5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป

(6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู

(7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส

หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

กฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.2552

ข้อ 6 “ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศหรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือผู้อื่น

(2) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด

(4) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา