เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ สร้างรายได้หลายพันล้านบาทต่อปีที่ญี่ปุ่น

หากพูดถึงการพักผ่อนหย่อนใจยามค่ำคืน บาร์โฮสต์คงเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สถานที่ที่คนเลือกไป โดยเฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องนี้ 

ย่านคาบุกิโจที่มีบาร์โฮสต์กว่า 200 แห่ง บางร้านเน้นบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง บางร้านเน้นความหรูหรา เรียกว่าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันได้ดี ส่งผลให้บาร์โฮสต์ในย่านนี้สามารถทำยอดขายรวมกันกว่า 3,000 ล้านเยน ถึง 30,000 ล้านเยนต่อปีเลยทีเดียว (ประมาณ 770 ล้านบาท ถึง 7,700 ล้านบาท)

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ที่ญี่ปุ่น
TOKYO, JAPAN – March 14, 2015 : Shinjyuku is the Japan’s largest red light district features countless shops, bars and nightclubs.

อะไรทำให้บาร์โฮสต์ในญี่ปุ่นได้รับความนิยมถึงขนาดนี้ Brand Inside จะพาไปไขข้อสงสัยและเปิดเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจบาร์โฮสต์อยู่มาได้อย่างยาวนานกัน 

กว่าจะเป็นบาร์โฮสต์ในปัจจุบัน เคยเป็นธุรกิจสีเทามาก่อน

ย้อนกลับไปในอดีต บาร์โฮสต์ย่านคาบุกิโจนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของแกงค์อันธพาล หากใครอยากเข้ามาเปิดบาร์โฮสต์ในย่านนี้จะถูกบังคับให้จ่ายเงินส่วนหนึ่งก่อน แต่เมื่อถึงคราวต้องจ่ายภาษีอันธพาลกลุ่มนี้ก็หาทางหลบเลี่ยง ทั้ง ๆ ที่มีรายได้มากมายจากการรีดไถเงินลูกค้าอย่างไม่เป็นธรรม 

จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ.2000 เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านความรุนแรง อันธพาลกลุ่มนี้จึงถูกตำรวจจับกุมตัวไป ทำให้ไม่สามารถไล่รังแกคนอื่น ๆ ในย่านได้เหมือนเมื่อก่อน 

หลังจากนั้น 4 ปีสถานบันเทิงที่อยู่ภายใต้แกงค์อันธพาลก็ถูกสั่งให้ปิดตัวไปทีละแห่ง จนเหลือแค่บาร์โฮสต์ที่ให้บริการอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น 

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ที่ญี่ปุ่น
tokyo, japan, 05 07 2017 : view of host club in kabukicho at shinjuku

บวกกับการเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนทั่วไปช่วยกันสอดส่องดูความปลอดภัยของสถานบันเทิงต่าง ๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น ถ้าบาร์โฮสต์แห่งไหนปฏิบัติกับลูกค้าไม่ดีก็จะมีคนโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข่าว ถือเป็นการช่วยควบคุมธุรกิจไปในตัว

ก้าวแรกสำหรับการเป็นโฮสต์ที่ญี่ปุ่น

สำหรับใครที่อยากทำอาชีพโฮสต์มีแนวทางเข้าวงการนี้ 2 วิธี วิธีแรกคือสมัครกับเว็บไซต์จัดหาโฮสต์ และวิธีที่สองคือรอแมวมองมาทาบทาม 

ในหลาย ๆ ครั้งแมวมองมักโน้มน้าวใจโดยใช้เหตุผลว่าจะช่วยจ่ายค่าทำศัลยกรรมให้ พอเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ เข้า จึงเกิดแฟชันและเทรนด์การศัลยกรรมตามสไตล์ใบหน้าของโฮสต์ชื่อดังย่านคาบุกิโจ

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ที่ญี่ปุ่น
Very cool young Japanese host

หลังจากนั้นเมื่อรับเข้าทำงานจะมีการตกลงเรื่องเงินเดือนกัน โดยเงินเดือนพื้นฐานจะอยู่ที่ 180,000 เยน ถึง 200,000 เยน (ประมาณ 46,000 บาท ถึง 51,000 บาท) 

ถ้าโฮสต์คนไหนมีความสามารถมากจะได้รับค่าจ้างเพิ่มเติมตามผลงาน และมีโอกาสเลื่อนขั้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 250,000 เยน ถึง 300,000 เยน (ประมาณ 64,000 บาท ถึง 77,000 บาท)

ศิลปะการฟังและการสังเกตคือเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าติดใจบาร์โฮสต์

ไม่ว่าใครก็ย่อมอยากได้คนรับฟังความทุกข์และความสุขใจต่าง ๆ  ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว บาร์โฮสต์จึงตอบโจทย์ความต้องการนี้ เพราะนอกจากจะถูกเทรนให้เป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว โฮสต์หลาย ๆ คนยังมีแนวทางการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยแก้ปัญหาคาใจให้ลูกค้าด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสาว ๆ ส่วนหนึ่งถึงชื่นชอบการมาบาร์โฮสต์ 

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ที่ญี่ปุ่น
Male host and lady having alcohol and fun

นอกจากหน้าที่ที่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดีแล้ว ยังมีเคล็ดลับอีกมากมายที่ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจได้ด้วยหลักการทางจิตวิทยา เช่น 

  • อย่าเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการถามว่าทำไมถึงมาที่บาร์โฮสต์ เพราะลูกค้าจะรู้สึกเหมือนโดนสอบสวน แต่ให้เริ่มทักทายจากสิ่งที่สังเกตได้จากภายนอกก่อน เช่น ชมการแต่งหน้า การแต่งกาย หรือเครื่องประดับที่ใช้
  • ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเข้าใจโดยใช้วิธีพูดทวน เช่น ถ้าลูกค้าเล่าว่าเมื่อเช้าเจอเรื่องเศร้ามา โฮสต์ก็อาจพูดทวนว่า “เจอเรื่องเศร้ามาเหรอครับ”
  • ถ้าโฮสต์อยากทราบข้อมูลส่วนตัวเรื่องไหน ให้ลองเล่าเรื่องของตัวเองในประเด็นนั้นให้ลูกค้าฟังก่อน เช่น ถ้าอยากทราบว่าลูกค้ารู้สึกไม่มั่นใจในเรื่องอะไร ทางโฮสต์จะเล่าความไม่มั่นใจของตัวเองให้ฟังก่อน 
  • ใช้ประโยคที่ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เช่น “เรื่องนี้ผมบอกคุณคนแรกเลยนะครับ” หรือ “เรื่องนี้ผมบอกคุณคนเดียวนะครับ”

ต่อมาคือศิลปะการสังเกต ซึ่งจะเน้นไปที่การสังเกตสีหน้า ท่าทาง และการเคลื่อนไหวของลูกค้าระหว่างสนทนากัน ตัวอย่างเช่น

  • ถ้าลูกค้าใช้มือแตะจมูกบ่อย ๆ อาจแปลว่าเธอกำลังรู้สึกเขินอาย ให้โฮสต์ลองพูดเสียงเบาลง เพื่อไม่ให้โต๊ะอื่นได้ยินบทสนทนา 
  • ถ้าลูกค้าเอามือขึ้นมาวางบนโต๊ะ (จากเดิมที่ซ่อนมือไว้ใต้โต๊ะ) และถ้าลูกค้าขยับกระเป๋าออกจากตัก (จากเดิมที่วางกระเป๋าไว้บนตัก) นั่นแปลว่าลูกค้าเริ่มรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายขึ้นแล้ว 
  • หากคิ้วของลูกค้าขยับไปมาระหว่างสนทนา นั่นแปลว่าเธอกำลังสนใจในสิ่งที่คุยกัน โฮสต์จึงสามารถพูดคุยเรื่องนั้นต่อ
  • ในทางกลับกัน ถ้าลูกค้านั่งงอขาข้างหนึ่งและเหยียดขาอีกข้างหนึ่ง หรือนั่งไขว่ห้างและยกปลายเท้าชี้ขึ้นตลอดเวลา นั่นเป็นสัญญานว่าบทสนทนาเริ่มน่าเบื่อ โฮสต์จึงควรหาจังหวะเปลี่ยนเรื่องคุย

นอกจากนี้ โฮสต์บางคนอาจถูกเทรนให้ใส่ใจรายละเอียดถึงขั้นที่ต้องสังเกตสิ่งเหล่านี้ของลูกค้า เช่น วิธีการหายใจ การเคลื่อนไหวของดวงตา การพูดเร็วช้า น้ำเสียงสูงต่ำ เพื่อที่โฮสต์จะจับจังหวะได้ว่าควรให้บทสนทนาดำเนินไปในทิศทางไหน 

เรียกได้ว่ากว่าจะเป็นโฮสต์ที่เชี่ยวชาญได้ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ไม่น้อยเลย ด้วยเหตุนี้จึงมี ‘โรงเรียนฝึกสอนโฮสต์’ ถือกำเนิดขึ้นมา 

กว่าจะเป็นโฮสต์ฝีมือดีย่อมมีครูที่เก่งอยู่เบื้องหลัง 

คุณทาคายูกิ มาคิตะ ผู้บริหารโรงเรียนฝึกอบรบโฮสต์ในเครือ ‘Group Dandy’ ซึ่งเป็นบริษัทโฮสต์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนจะเป็นอย่างทุกวันนี้ เขาเคยทำงานเป็นโฮสต์เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลานั้น เขาพยายามเก็บเกี่ยวเคล็ดลับต่าง ๆ จากรุ่นพี่โฮสต์ผู้เป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้า เพื่อศึกษาว่าพวกเขาทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ 

เมื่อสะสมประสบการณ์จากการลงสนามจริงได้ในระดับหนึ่งเขาจึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนโฮสต์ เพื่อช่วยให้ผู้ที่สนใจทำหน้าที่โฮสต์ได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านคอร์สเรียนจิตวิทยาเกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งการบริหารธุรกิจบาร์โฮสต์ ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น เทคนิคการดึงดูดลูกค้าและหลักการดูแลพนักงาน 

โดยความฝันสูงสุดของเขาคืออยากช่วยให้คนทั่วไปสามารถประสบความสำเร็จได้ แม้จะไม่ได้มาจากครอบครัวที่ฐานะดี หรือได้รับการศึกษาที่สูงก็ตาม ปัจจุบัน ‘Group Dandy’ มีพนักงานในเครือกว่า 1,300 คนและมีร้านค้าในการดูแลกว่า 40 แห่ง หลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2012

เทคนิคการบริหารบาร์โฮสต์ชื่อดัง

คุณฮิคารุ อิจิโจ ประธานบริษัท BJ ONE’S CREATION ผู้บริหารโฮสต์คลับหลายแห่งในย่านคาบุกิโจให้คำแนะนำว่า ถ้าอยากให้โฮสต์คลับมีรายได้ดี โฮสต์ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่แข่งกันฉายเดี่ยว 

เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ที่ญี่ปุ่น
A fun look at the host club at night

ทำไมการทำงานเป็นทีมถึงสำคัญ ?

โดยทั่วไปย่อมมีโฮสต์หลาย ๆ คนวนเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าอยู่แล้ว ถ้าโฮสต์ทุกคนช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งความสบายใจ ลูกค้าก็จะอยากกลับมาอีก แต่ถ้าโฮสต์แต่ละคนแย่งกันทำคะแนน ลูกค้าจะสัมผัสได้ถึงการแข่งขัน ส่งผลให้ไม่อยากกลับมาที่บาร์โฮสต์แห่งนั้นอีก

ในทางกลับกัน ถ้าโฮสต์ทุกคนในโต๊ะช่วยกันสร้างบรรยากาศดี ๆ ลูกค้าก็มีโอกาสที่จะประทับใจโฮสต์หลาย ๆ คน และอยากกลับมาใหม่ ไม่ใช่ปักใจชอบแค่โฮสต์คนใดคนหนึ่ง เพราะถ้าวันใดโฮสต์คนนั้นหายไปทางร้านก็จะเสียลูกค้าไปด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก bunshunjp, tvtokyo1, 2, note, diamondjp, hostdanwork

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา