เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งในเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม สภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ไปจนถึงประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก ยิ่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทั่วโลกก็ได้ตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณของสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนนำไปสู่การพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีฐานมาจากความเชื่อและแนวคิดที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน” และในวันที่ 10 ธันวาคม 2491 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก
ในปัจจุบัน สิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ อย่างไรก็ดี ในยามที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ เราได้เห็นโอกาสและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของดีแทค ถึงมุมมองและบทบาทของผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่อการปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล ความท้าทายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการเติบโตทางเทคโนโลยี และการยกระดับสิทธิมนุษยชนในกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของดีแทค
การเชื่อมต่อคือสิทธิขั้นพื้นฐาน
“สิทธิมนุษยชนในมุมของผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้น จะหนีไม่พ้นเรื่องของ digital inclusion หรือการเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งที่ดีแทค เราแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระดับ คือระดับที่หนึ่ง ทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงบริการและอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อตัวเองได้ ในระดับที่สอง พอเข้าไปในโลกดิจิทัลแล้ว เราใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า และในระดับสุดท้าย คือเข้าถึงแล้ว เราจะใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเรา ครอบครัว หรือกับสังคมชุมชนของเรา” รัชญากล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน จะพบว่า สิทธิในข้อมูลข่าวสาร (right to information) และเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) จัดเป็นสิทธิมนุษยชนข้อสำคัญที่ดีแทคจำต้องปกป้องและส่งเสริม เพื่อนำมาซึ่งการบริการที่ปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าเทียม
“ดีแทคเชื่อว่าบริการโทรคมนาคมนั้นเป็นตัวกลาง (enabler) สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และบริการขั้นพื้นฐานของผู้คนในสังคม เราจึงยึดถือคุณค่าแห่งความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ศักดิ์ศรี และการเคารพซึ่งกันและกัน เป็นพื้นฐานความคิดในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์องค์กร รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเรา” เธออธิบาย
เพราะธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘มนุษย์’
ภาคธุรกิจถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยของสังคมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เพราะแทบทุกธุรกิจย่อมมีความเกี่ยวข้องกับ ‘มนุษย์’ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
“เราเชื่อว่าคนคือหัวใจของการเติบโต การดำเนินงานของเราจึงยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง นอกจากเรื่องสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงดิจิทัลแล้ว สิทธิแรงงานยังเป็นอีกประเด็นที่เราให้ความสำคัญ เราปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความหลากหลาย และเคารพในเสรีภาพการแสดงออกของพนักงาน” รัชญากล่าว
เพื่อให้ธุรกิจสามารถระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนได้มีประสิทธิภาพ ดีแทคจึงต้องอาศัย กระบวนการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชน (human rights due diligence) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เห็นภาพกว้างเพื่อระบุความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า และอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยดีแทคจัดให้มีการสอบทานดังกล่าวทุกๆ 2 ปี
“กระบวนการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนนั้นมีลักษณะคล้ายกับการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กร (corporate risk management) แต่การสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนจะยึดความเสี่ยงต่อ ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลางของกระบวนการ ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ลูกค้า พนักงาน พนักงานของบริษัทคู่ค้า ครอบครัวของพวกเขา ผู้อาศัยใกล้กับที่ตั้งเสาสัญญาณ เจ้าหน้าที่รัฐที่ประสานงานร่วมกัน ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ต้องการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมเพื่อการดำรงชีวิต” รัชญาอธิบาย
ดาบสองคม
ทั้งนี้ กระบวนการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนจะเริ่มต้นจากการระบุผลกระทบ (adverse impacts) หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น จากนั้นจึงประเมินถึงบทบาทขององค์กรต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขั้นตอนถัดมา จึงเป็นการประเมินระดับความรุนแรง (severity) ความถี่หรือความน่าจะเกิด (likelihood) และการพิจารณาถึงผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกระบวนการประเมินนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และป้องกัน
“เมื่อพิจารณาแล้ว หากพบว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ บริษัทจะต้องมีการจัดการความเสี่ยงนั้นๆ ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม เช่น การกำหนดนโยบาย การสร้างระบบการควบคุมป้องกัน หรือแม้แต่การจับมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อสร้างกลไกควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบหรือสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ การสนับสนุนงานวิจัย และการสร้างความตระหนักในระดับสาธารณะ” รัชญาอธิบาย
ในกระบวนการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนนั้น จะมีการระบุประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ (salient risk) ซึ่งไม่จำเป็นต้องส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจหรือเป็นประเด็นที่บริษัทก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงเสมอไป แต่อาจเป็นประเด็นที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ผู้คนในจำนวนมากและรุนแรง จนนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่างๆ อาทิ การกีดกันทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ หรือการนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน
“ความท้าทายในเรื่องสิทธิมนุษยชนในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นเกี่ยวโยงกับการเชื่อมต่อ หรือ connectivity ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เราสามารถใช้บริการดังกล่าวในฐานะตัวกลางหรือ ‘enabler’ ให้การสื่อสารและการส่งต่อข้อมูลให้มันรวดเร็วขึ้น แต่พอทุกอย่างมันเร็ว มันอาจทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดความปลอดภัย หรือข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มนึง ซึ่งดีแทคต้องมีการประเมินและพัฒนาปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางปฏิบัติของเราเท่าทันกับสถานการณ์และบริบททางสิทธิมนุษยชนที่เปลี่ยนแปลงไป” เธอทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา