แม้จากนี้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไทยจะเหลือเพียง 2 รายใหญ่ แต่ True ยืนยันว่า การแข่งขันยังดุเดือดเช่นเดิม โดยเฉพาะการทำสงครามราคาที่ทำกันมานาน และส่งผลเสียมากกว่าผลดีให้กับผู้เล่นทุกราย
ทำให้การทำตลาดหลังจากนี้ของ True ภายใต้การคุมบังเหืยนของ ฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ จะเน้นไปที่การให้คุณค่า (Value) เกี่ยวกับการใช้งานให้ลูกค้า
ล่าสุด True ได้ทำแคมเปญโปรโมชันใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด เพื่อยกระดับจากการแข่งเรื่องราคาสู่บริการอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในระบบมากขึ้น
True กับการเดินเกมแข่งเรื่อง Value
ฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ True เล่าให้ฟังว่า การแข่งขันเรื่องราคาคือเรื่องปกติในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และเป็นการแข่งขันที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะผู้เล่นทุกรายต่างปรับราคาแข่งขันในหลักวัน หรือเร็วสุด ๆ ในหลักชั่วโมงเพื่อจูงใจลูกค้าให้เข้ามาสมัครใช้งาน
“การลดราคาระหว่างเรากับคู่แข่งมันต่างกันไม่เกิน 2 วัน ถ้าเร็วสุด ๆ บางทีเจ้าหนึ่งทำโปรโมชันช่วงเช้า ตอนเย็นอีกเจ้าก็ต้องกดราคาลงมาแข่ง ซึ่งมันไม่ดีต่ออุตสาหกรรม และการแข่งขันด้วยคุณค่าคือทางออกของเรื่องนี้ เพราะฝั่งลูกค้าก็เริ่มมองเรื่องอื่น ๆ ที่มากกว่าแค่ราคา หรือปริมาณอินเทอร์เน็ต”
ในปี 2566 ทาง True จะเดินหน้ากลยุทธ์ทำตลาดด้วยความคุ้มค่า (Value) ในการใช้งานเพื่อจูงใจลูกค้าในระบบ รับกับเป้าหมายสร้างรายได้ให้เติบโตในอนาคต รวมถึงลดปริมาณการไหลออกของลูกค้าในระบบ โดยเฉพาะฝั่งลูกค้า TrueMove H ระบบเติมเงินที่ไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 65% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด 33.6 ล้านราย
อัดแคมเปญที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย
ล่าสุด True ส่งแคมเปญ UP2U ที่ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในธุรกิจต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร, ร้านเครื่องสำอาง, โรงภาพยนตร์, ผู้ให้บริการเกม และธุรกิจประกันภัย โดยเมื่อสมัครแพ็กเสริม 200 บาท จะได้อินเทอร์เน็ต 10 GB พร้อมเลือกรับสิทธิประโยชน์ หรือคูปองแทนเงินสดมูลค่าสูงสุด 200 บาท
สิทธิประโยชน์ข้างต้นอาทิ รับชมภาพยนตร์ฟรีในเครือเมเจอร์, ได้คูปองเพื่อไปรับประทานอาหารในเครือไมเนอร์, แมคโดนัลด์ และทรูคอฟฟี่ รวมถึงได้คูปองเพื่อใช้ในร้านเครื่องสำอางเซโฟร่า เป็นต้น โดยผู้ใช้สามารถเลือกสมัคร และยกเลิกได้ตลอดเวลา ทั้งเลือกสมัครเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ หรือคูปองแทนเงินสดหลายบริการพร้อมกัน
“ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีแคมเปญในลักษณะนี้ โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่เรามี TrueID เพื่อรับชมภาพยนตร์ที่บ้าน และถ้าลูกค้าใช้ทรูน่าจะได้รับชมที่โรงภาพยนตร์ด้วย จึงดำเนินความร่วมมือกับกลุ่มเมเจอร์ และต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม”
เสริมความแข็งแกร่งด้วยฐานลูกค้าใหม่
ขณะเดียวกัน UP2U ยังช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้กับบริษัท ผ่านพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจต่าง ๆ ที่มีฐานลูกค้ารวมกันหลายล้านราย และอาจยังไม่เป็นลูกค้าของ True ทำให้เมื่อพวกเขารับรู้ถึงแคมเปญดังกล่าวจะช่วยเข้ามาเพิ่มยอดผู้ใช้งานให้กับ True ได้
“เป้าหมายของผู้สมัครใช้งาน UP2U อยู่ที่ 2.8 แสนร้าย และการเดินหน้าแคมเปญนี้จะช่วยเพิ่มยอดใช้บริการเฉลี่ย (ARPU) ของฝั่งเติมเงินไปให้เลยจุดสูงสุดที่เคยทำได้ 160 บาท/ราย/เดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 90-110 บาท เพราะการแข่งขันเรื่องราคามันกดตัวเลขนี้ลง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเรา”
นอกจากนี้ UP2U ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ของธุรกิจ TrueMove H เพิ่มขึ้น 5-6% จากปีก่อน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจในเวลานี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างเน้นเพิ่มรายได้ มากกว่าการเพิ่มจำนวนลูกค้าในระบบ เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สรุป
ตั้งแต่ต้นปี 2566 AIS และ True ต่างเดินหน้าอัดโปรโมชันต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้บอกเหตุผลตรง ๆ ว่าต้องการจูงใจลูกค้า dtac ให้เข้ามาอยู่ในระบบ แต่ผู้ใช้ dtac เองก็คงอยู่ระหว่างตัดสินใจ ซึ่งงานนี้ก็ต้องดูว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และการอัดแคมเปญแบบนี้จะไปได้อีกนานแค่ไหน
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา