“รถยนต์ไฟฟ้า” เป็นประเด็นที่ถูกจับตาหลังจากรัฐบาลไทยมีเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมตั้งความหวังให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็น product champion ลำดับที่ 3 ของไทยในอนาคตต่อจากรถปิกอัพและอีโคคาร์
คำถามคือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ไทยพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และนำมาใช้งานจริง
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงจะสามารถพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ครบวงจร เนื่องจากการพัฒนายังต้องการเวลาในการเรียนรู้เทคโนโลยี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมรถยนต์สมัยใหม่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดัน “รถยนต์ไฟฟ้า” เป็นยุทธศาสตร์ชาติ และกำหนดให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry) โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาคเช่นที่เคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ระบบสันดาป แรงผลักดันดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
มีบริษัทรถยนต์หลายค่ายสนใจลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว โดยค่ายรถหลักที่มีฐานการผลิตในไทยยังคงเลือกที่จะขยายลงทุนรถยนต์ลูกผสมที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งไทยมีความได้เปรียบอยู่แล้ว ส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ในไทย ปัจจุบันมีค่ายรถตัดสินใจลงทุนในไทยแล้ว คือ FOMM (สัญชาติญี่ปุ่น) และ VERA (สัญชาติไทย)
วิจัยกรุงศรีคาดว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง โดยมีแรงจูงใจจากการประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้มากกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ระบบสันดาปที่ใช้น้ำมัน และการพัฒนาแบตเตอรี่ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งมีขนาดที่เล็กลง น้ำหนักเบาลง ใช้เวลาชาร์จน้อยลง สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และราคาแบตเตอรี่ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป จนมีผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าปรับลงมาใกล้เคียงกับรถยนต์ระบบสันดาปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมามองอุตสาหกรรมรถยนต์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศ พบว่าไทยอาจใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ครบวงจร เนื่องจากยังมีข้อจำกัดและความไม่พร้อมบางประการ ดังนี้
- การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่หยุดนิ่งระหว่างรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางการลงทุน และการปรับตัวของอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนยานยนต์
- ไทยยังอยู่ในระยะแรกของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่คิดเป็นต้นทุนประมาณ 50% ของราคารถยนต์
- การผลิตไฟฟ้าในไทยเน้นผลิตจากก๊าซธรรมชาติซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง และการขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน มักสะดุดจากปัญหาการต่อต้านจากชุมชน รวมทั้งการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อรองรับระบบ Vehicle-to-Home (V2H) ของไทยยังอยู่ในระยะทดลอง
- จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่ทั่วถึง และรัฐยังไม่กำหนดมาตรฐานประเภทหัวชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศ จากการที่ค่ายรถยนต์มีหัวชาร์จไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ซึ่งหากกำหนดหัวชาร์จไฟฟ้าตามมาตรฐานประเทศใดประเทศหนึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถสัญชาติอื่น
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ค่ายรถที่มีฐานการผลิตในไทยยังคงให้ความสำคัญ
ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่น่าจะยังเป็น niche market ต่อไปอีกหลายปีจนกว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าจะปรับลงมาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน และประเด็นความกังวลต่างๆ ในการใช้งานได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นความเพียงพอของสถานีชาร์จไฟฟ้า ประสิทธิภาพแบตเตอรี่ เป็นต้น
ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นรูปธรรมในไทยอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในการเรียนรู้เทคโนโลยี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมรถยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและชิ้นส่วนยานยนต์ขั้นสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องการความร่วมมืออย่างจริงจังของทั้งหน่วยงานรัฐ สถานศึกษา รวมถึงภาคเอกชนทั้งค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ของไทยในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา