ปี 2022 SCGP ทำรายได้ทะลุ 1.4 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้ทำให้ได้ทะลุ 1.6 แสนล้านบาท
ผลการดำเนินการในปี 2022 และผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 ปี ของ SCGP นั้นมีรายได้จากการขายในปี 2022 เพิ่มขึ้น 18% ขณะที่ในไตรมาสที่ 4 มีรายได้จากการขายลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน
วิชาญ จิตตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 เริ่มจากการซื้อสินทรัพย์บริษัท Cyberprint, พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยังได้รับรางวัล SET Awards 2022 ด้วย
SCGP เผยยอดขายตลอดทั้งปีอยู่ที่ 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% โดยมีกำไร 5.8 พันล้านบาท ลดลง 30% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ไตรมาสที่ 4 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 33,509 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2021
รายได้ที่เพิ่มขึ้นแบ่งตามสายธุรกิจที่หลากหลายทั้งการขยายฐานลูกค้าและเข้าซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจ Flexible Packaging การขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนสาเหตุที่ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วมีกำไรลดลงเพราะภาพรวมเศรษฐกิจทั้งโลกมีทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกตลาดทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
นอกจากนี้ สถานการณ์ในประเทศจีนที่มีการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา กระทบทั้งการผลิตและทำให้ความต้องการซื้อลดลงไปด้วย รวมทั้งกระทบต่อการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ความต้องการซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากหลายประเทศรวมถึงจีนเริ่มเปิดประเทศ
รายได้ของ SCGP ประจำปี 2022 แบ่งได้ดังนี้
รายได้จากยอดขายเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 124,223 ล้านบาท เป็น 146,068 ล้านบาท โดยมีสินค้าประเภทไฟเบอร์ และแพคเกจจิ้งโพลิเมอร์เพิ่มขึ้น 37%
รายได้จากยอดขายทั้งในไทยและต่างประเทศ พบว่าในไทยลดลงจากปีก่อนหน้า 43% เป็น 41% รายได้จากอินโดนีเซียลดลงจากปีก่อนหน้า 20% เป็น 18% ขณะที่ในเวียดนามมียอดขายเพิ่มขึ้น จาก 13% เป็น 15% อังกฤษและยุโรปมียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 4%
รายได้จากสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ สินค้าที่เกี่ยวพันกับรองเท้า, เสื้อผ้า หรือบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ มีรายได้จากส่วนนี้อยู่ที่ 72% ของยอดขาย เติบโต 1%
ส่วนกลยุทธ์สร้างการเติบโตในปี 2023 SCGP ได้กำหนดแผนเงินลงทุนไว้ 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2021-2025 พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ไว้ที่ 160,000 ล้านบาท โดนนายวิชาญมองว่าภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสแรกของปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเพราะจีนเปิดประเทศทำให้การท่องเที่ยวในอาเซียนฟื้นตัว รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่การผลิตเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
SCGP มุ่งเติบโต 5 กลยุทธ์ ดังนี้
- การ M&P และการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มุ่งเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
- การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันสำหรับผู้บริโภค
- การยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทาน เน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน
- การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือความไม่แน่นอน การวางแผนความเสี่ยงในการลงทุน การกระจายฐานลูกค้า
- ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus และมุ่งสู่ Net Zero เน้นเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ 100% จากจำนวนที่ผลิตทั้งหมดในปี 2025 และตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจุกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050
ที่มา – SCGP
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา