- ยอดขายรวมโตโยต้าครึ่งปีแรก 109,078 คัน ลดลง 11.4% มีส่วนแบ่งตลาด 29.7% แต่เชื่อตลาดครึ่งปีหลังดีขึ้น รถรุ่นใหม่พร้อม น่าจะช่วยกระตุ้นยอด ตั้งเป้าทั้งปี 240,000 คัน
- ตลาดส่งออกตะวันออกกลาง ฐานใหญ่โตโยต้ากระทบหนัก ส่งผลลดกำลังการผลิต กลายเป็นที่มาโครงการ จากด้วยใจ มีพนักงานสมัครใจออกกว่า 900คน
- ไม่สนใจโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาล ขาดโครงสร้างพื้นฐาน ใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ยังหนุนใช้เครื่องยนต์ Hybrid ซึ่งโตโยต้าพัฒนามานานต่อไป
- ตลาด CLMV มีแนวโน้มที่ดี เชื่อไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกได้
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน Honda เปิดตัวเลขยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยืนยันว่านำมาเป็นอันดับ 1 ดักคอไว้ก่อน จนถึงวันนี้ TOYOTA แถลงยอดขายครึ่งปีแรกบ้าง เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดเผยตัวเลขยอดขาย 109,078 คัน ลดลง 11.4% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 29.7% ยืนยันว่ายังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ยอมรับว่า โตโยต้า มียอดขายที่ลดลงเยอะพอสมควร
โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ที่มียอดขาย 35,700 คัน ลดลง 33% ซึ่งเป็นผลมาจากที่ 4 เดือนแรกของปีนี้ VIOS หยุดผลิตไป
อย่างไรก็ตาม โตโยต้ายังหวังว่าทั้งปี จะทำยอดขายได้ 240,000 คันตามเป้าที่วางไว้ เพราะอย่างน้อยที่สุด VIOS จะกลับมาขายในตลาดอีกครั้ง (หลังจากเปลี่ยนพลังภายในใหม่แล้ว) และจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ตามออกมาด้วย
แต่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นพระเอกของ โตโยต้า คือ รถกระบะ REVO ที่ทำยอดขายได้ 54,864 คัน ลดลง 7.6% และแพ้ให้กับ ISUZU ที่ขายได้ 61,946 คัน แซงหน้ากันไปชัดๆ เพราะราคาของ REVO ที่ค่อนข้างสูงกว่านั่นเอง และยังมี Ford และ Mitsubishi ที่ทำตลาด ที่ทำยอดขายได้ดี ดึงส่วนแบ่งตลาดไปได้อีกไม่น้อย
นี่คือโจทย์ยากที่ โตโยต้า ต้องแก้ไขให้ได้ในครึ่งปีหลัง หรืออาจต้องไปว่ากันอีกทีปีหน้า ซึ่ง ประธานของโตโยต้า ก็ยอมรับว่าเป็นทั้งความรับผิดชอบและงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
ตลาดส่งออกชะงัก ส่งผลลดกำลังผลิต
ข่าวเรื่องโครงการ จากด้วยใจ ที่ให้พนักงานที่เป็นลูกจ้างสมัครใจลาออก และจ่ายเงินชดเชยนั้น มีพนักงานขอเข้าร่วมโครงการกว่าพันคน แต่มีที่ผ่านเข้าโครงการกว่า 900 คน เป็นผลมาจากยอดส่งออกรถยนต์ไปขายต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 60-70% (ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเต็มที่ 770,000 คัน/ปี) แต่มีข้อตกลงว่า ถ้ากำลังการผลิตกลับมาเป็นปกติ โตโยต้า จะรับพนักงานเหล่านี้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง โดยให้ค่าจ้างและสวัสดิการตามเดิม และจะนับอายุงานต่อจากเดิมด้วย
สำหรับตลาดส่งออกรถยนต์ในไทยทั้งหมดอยู่ที่ 60% ซึ่งการส่งออกที่ลดลงนั้น โตโยต้ามีตลาดหลักคือภูมิภาคตะวันออกกลาง มีผลมาจากราคาน้ำมันโลกปรับลดเหลือ 40 เหรียญต่อบาเรล กระทบกับรายได้ และทำให้ยอดนำเข้ารถยนต์ลดลง จากเดิมอยู่ที่ 150,000 คันต่อปี เหลือ 100,000 คัน ลดลงกว่า 35% ขณะที่ตลาด EU มีมิตซูบิชิ ครองตลาดอยู่
เบรคโครงการรถไฟฟ้า ไทยยังต้องศึกษาอีกมาก
โครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาล โตโยต้า มองว่า รัฐบาลต้องศึกษาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ดี เช่น ญี่ปุ่น ที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเกินกว่าครึ่งของตลาด แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมีหลายประเด็น ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและคุณสมบัติของรถยนต์ เช่น
- แบตเตอร์รี่ชาร์จไฟฟ้าได้เร็วเพียงพอหรือไม่
- วิ่งได้ไกลแค่ไหน เพียงพอกับความต้องการหรือไม่
- น้ำหนักของแบตเตอร์รี่ และความปลอดภัยในการใช้
- สถานีชาร์จไฟฟ้า กระจายทั่วประเทศเพียงพอหรือไม่
- มีไฟฟ้าเพียงพอให้ใช้หรือไม่ กรณีที่เอกชนทำสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ รัฐบาลต้องมีไฟฟ้าที่มากพอด้วย
ดังนั้นในความเห็นของโตโยต้า รัฐบาลต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียด ซึ่งโตโยต้า ยังสนับสนุนการใช้เครื่องยนต์ Hybrid มากกว่า ถ้าได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ จะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้น และนำมาให้บริการได้จำนวนมากขึ้น
ตลาด CLMVT อนาคตที่กำลังเติบโต
ตลาดรวมรถยนต์ในประเทศไทย เดิมโตโยต้าคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 720,000 คัน ลดลง 10% จากปี 58 ที่มียอดขาย 800,000 คัน แต่จากครึ่งปีแรก ที่มียอดขายรวม 367,000 คัน คาดว่าทั้งปีจะมียอดขายปรับเพิ่มเป็น 740,000 คัน แสดงว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ติดลบจากปีที่แล้วน้อยลง
ขณะที่ ตลาดอาเซียน ทุกตลาดมีการเติบโตตามแนวโน้มของโลก โดย เรียงตามลำดับดังนี้
- อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย มียอดขาย 1 ล้านคน
- อันดับ 2 คือ ไทย ยอดขาย 740,000 คัน
- อันดับ 3 คือ มาเลเซีย มียอดขาย 600,000 คัน
- อันดับ 4 คือ ฟิลิปปินส์ มียอดขาย 400,000 คัน
ด้านตลาด CLMV มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยตลาดเวียดนามมียอดขาย 200,000 คันต่อปี โตโยต้าอยู่ระหว่างการหาตัวแทนจำหน่ายภายใน ตลาดลาว มียอดขาย 20,000 คัน จากนโยบายที่ห้ามนำเข้ารถมือสอง โดยมีการเติบเฉลี่ย 10% ต่อปี พม่า มียอดขายประมาณ 5,000 คัน และกัมพูชา มียอดขาย 3,000 คัน ซึ่งพม่าและกัมพูชา ยังมีการนำเข้ารถมือสองอยู่ แต่อยู่ระหว่างการออกกฎระเบียบภายใน ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา