เมื่อความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยหลักที่บริษัทจะดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน หลายบริษัทใหญ่เริ่มปรับนโยบายให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อลดความเครียดและป้องกันไม่ให้พนักงานหมดไฟ
หลายวิธีใช้ได้ผล แต่หลายนโยบายก็ไม่ตอบโจทย์จนหลายบริษัทต้องล้มเลิกไป
ล่าสุด Microsoft และ Goldman Sachs ได้ประกาศนโยบายลางานไม่จำกัดวัน ให้อิสระกับพนักงานมากขึ้น ในยุคของความยืดหยุ่นในการทำงาน เหมือนจะได้ผลดีเพราะสร้างความผ่อนคลายให้กับพนักงาน
Microsoft ไม่ใช่บริษัทแรกที่นำนโยบายแบบนี้มาใช้ มีบริษัทอื่นอีกมากที่ใช้นโยบายนี้และหลายแห่งก็ต้องล้มเลิกไปเพราะแทนที่จะทำให้พนักงานพักผ่อนได้ในเวลาที่ควรพัก และทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่มีความพร้อม การลางานไม่จำกัดกลับทำให้พนักงานไม่กล้าลางานและฝืนทำงานจนหมดไฟ
งานวิจัยและการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานชี้ว่าในที่สุดแล้วการลางานไม่จำกัดบ่อยครั้งนำไปสู่การลางานที่จำกัดอยู่ดี
หมายความว่าไง? ลาไม่จำกัด = ลาที่จำกัด…
จากเดิมที่พนักงานมีวันลาจำกัดก็จะรู้สึกว่าต้องใช้วันลาตามสิทธิของตัวเอง แต่พอมีวันลาไม่จำกัด พนักงานกลับมองว่าการหยุดงานเป็นการ “ยืมเวลา” มาใช้มากกว่าเพราะเกิดความกดดันว่าการลางานเท่ากับแสดงให้บริษัทเห็นถึงความขี้เกียจ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าพนักงานยังต้องทำงานในวันที่ลาอยู่ดี
ข้อมูลจากเว็บไซต์ SHRM และจาก Namely ที่ดูแลด้านทรัพยากรบุคลให้กับบริษัทนับ 1,000 แห่งเผยว่า ในที่สุดแล้ว พนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ใช้นโยบายวันลาไม่จำกัดจะลางานน้อยกว่าพนักงานที่มีวันลาจำกัดต่อปี
บริษัทควรจะมีแผนอย่างไร หากอยากใช้นโยบายลาไม่จำกัดต่อไป?
Neha Khurram ผู้ก่อตั้ง The Hiring Community แพลตฟอร์มพูดคุยระหว่างเจ้าของบริษัทและฝ่ายทรัพยากรบุคคลเผยว่า บริษัทที่จะใช้นโยบายไม่จำกัดวันลาควรจะกำหนดขั้นต่ำวันลาที่สามารถลาได้ เช่น อาจจะเป็นลาได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์ หรือพยายามกระตุ้นเตือนให้พนักงานใช้วันลา รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้พนักงานตัดขาดออกจากงานในวันหยุด
หรือจะเอาวันลามาแลกเงิน???
Allison Rutledge-Parisi รองประธานอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Justworks ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านทรัพยากรบุคคลเสริมว่า การให้ลางานแบบไม่จำกัดวันยังทำให้เกิดปัญหาที่ว่าพนักงานไม่สามารถเลือกที่จะไม่พักร้อน และนำวันลามาแลกเป็นเงินได้
บริษัทด้านเครือข่ายไอทีและการจัดหางาน Facet เป็นบริษัทหนึ่งที่เคยใช้นโยบายลางานไม่จำกัดและยกเลิกไปเพราะพบว่าพนักงานลางานน้อยลง ซึ่ง Robert Sweeney ซีอีโอของบริษัทเผยว่าการมีวันพักร้อนไม่จำกัดเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง เพราะถ้าพักร้อนมากเกินไปจนมีผลต่อคุณภาพงานและอาจถูกไล่ออกได้อยู่ดี
หลายบริษัทยกเลิกนโยบายลาไม่จำกัด เพราะมันทำให้พนักงานรู้สึกผิด
บริษัทรับสมัครงาน Unknown ในอังกฤษก็เป็นอีกบริษัทที่ยกเลิกนโยบายนี้ไปในปี 2021 เพราะพบว่าพนักงานไม่ยอมลางานเพราะรู้สึกผิด โดยเปลี่ยนนโยบายกลับมาเป็นแบบลางานได้จำกัด โดยกำหนดวันลาเป็น 32 วันหรือราว 4 สัปดาห์ต่อปีแทน
ไม่แน่ว่านโยบายไม่จำกัดวันลาจะใช้ได้ผลกับพนักงานของ Microsoft และ Goldman Sachs หรือไม่ ทั้ง 2 บริษัทอาจจะต้องหาวิธีที่จะไม่ทำให้พนักงานฝืนทำงานจนหมดไฟแบบที่ Facet และ Unknown เคยเผชิญมาก่อน หรือถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การกลับไปใช้วันลาแบบจำกัดและเพิ่มวันลาให้มากขึ้นอาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด
ที่มา – Business Insider, SHRM
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา