การทำธุรกิจโดยเน้นเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นหนึ่งในแผนสำคัญขององค์กรทั่วโลก ซึ่งองค์กรในประเทศไทยมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ และพยายามปรับตัวเพื่อไปถึงเป้าหมายดังกล่าว
แต่การทำธุรกิจโดยเน้นเรื่องความยั่งยืนมักจะขัดแย้งกับการทำธุรกิจโดยเน้นผลกำไร ทั้งยังต้องลงทุนสูงในช่วงเริ่มต้น ทำให้หลายองค์กรไปถึงเป้าหมายนี้อย่างยากลำบาก
Brand Inside มีโอกาสสัมภาษณ์ กัณณวันต์ สกุลจิตตเจริญ กรรมการผู้จัดการ คินดริล ประเทศไทย และเวียดนาม เพื่อฉายภาพการนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวดังนี้
คินดริล เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน
กัณณวันต์ สกุลจิตตเจริญ กรรมการผู้จัดการ คินดริล ประเทศไทย และเวียดนาม เล่าให้ฟังว่า หากพูดถึงชื่อ คินดริล หลายคนอาจไม่คุ้นเท่าไร เพราะ คินดริล คือหนึ่งในบริษัทที่แยกออกมาจาก ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เพื่อเดินหน้าให้บริการเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับองค์กรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เติบโตในโลกยุคดิจิทัล
และหนึ่งในเรื่องที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการทำตอนนี้คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน เพราะฝั่งผู้บริโภคเริ่มใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐมีการกระตุ้นด้วยนโยบายให้ทุกองค์กรต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการสำรวจองค์กรต่าง ๆ พบว่า 89% ต้องการก้าวไปสู่องค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
“แม้ทุกองค์กรต้องการไปถึงจุดนั้น แต่มีแค่ 22% ขององค์กรที่เราสำรวจเท่านั้นที่มีแผนเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างชัดเจน ส่วนอีก 50% ยังต้องการมาตรการบางอย่างเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ เพื่อตั้งเป้าหมาย และเดินหน้าเรื่องดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ”
ESG กลายเป็นหัวใจของการวางแผนธุรกิจ
ปัจจุบัน ESG หรือ Environment, Social และ Corporate Governance จึงกลายเป็นหัวใจของการวางแผนธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรที่ทำได้สำเร็จ เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และข้อมูลที่จำเป็นในการสนับสนุน รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้เรื่องดังกล่าวขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คินดริล มองว่า ประโยชน์ขององค์กรที่เดินหน้าเรื่องความยั่งยืนจะประกอบด้วย
- การเติบโตขององค์กร
- ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
- การลดความเสี่ยงจากมาตรการต่าง ๆ และความคาดหวังของนักลงทุน
- เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในองค์กร
“บริษัทวิจัยการ์ตเนอร์รายงานว่า 85% ของนักลงทุนมองเรื่อง ESG เป็นหนึ่งในปัจจัยในการลงทุน และ 91% ของกลุ่มธุรกิจธนาคารเริ่มวัดผลเรื่องความยั่งยืน ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มอยากใช้สินค้าจากองค์กรที่ทำ ESG มากขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรต้องเริ่มลงทุนเรื่องความยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม การสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืน กับผลกำไรยังมีอุปสรรค เช่น 64% ขององค์กรที่ คินดริล สำรวจแจ้งว่า องค์กรยังไม่มีความพร้อมในการทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน และสามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องนี้ได้น้อย ที่สำคัญยังไม่มีการบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องนัก
สร้างสมดุลระหว่างกำไร และความยั่งยืนไม่ง่าย
นอกจากนี้ 55% ยังแจ้งว่า กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งใบประกาศต่าง ๆ และ 53% มองว่า กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึง 49% แจ้งว่า มีความท้าทายในเรื่องผลลัพธ์การดำเนินงานที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องความสำเร็จ ที่สำคัญ 41% ยังมองว่า คนในองค์กรไม่มีแรงจูงใจเท่าที่ควร
“หลายองค์กรยังกังวลเรื่องผลลัพธ์การลงทุนเรื่องความยั่งยืนที่ยังไม่ชัดเจน และคนในองค์กรเองก็ไม่มั่นใจ รวมถึงไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างทำธุรกิจให้กำไร และมีความยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรไม่น้อยที่ยังแก้ปัญหานี้ไม่ตก”
ปัจจุบัน คินดริล มีการเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนเพื่อเป็นตัวอย่างให้องค์กรที่สนใจ ผ่านการตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2040 พร้อมแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อช่วยขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เช่น การใช้พลังงานทดแทนเพื่อให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ภายใน 3-5 ปีหลังจากนี้
สื่อ โทรคมนาคม และพลังงาน ตื่นตัวที่สุด
สำหรับธุรกิจที่มีการเดินหน้าแผน ESG และทำธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืนมากขึ้นประกอบด้วย ธุรกิจสื่อ, โทรคมนาคม และพลังงาน เพราะทั้งหมดนี้ล้วนมีแรงจูงใจ และได้รับแรงขับเคลื่อนจากฝั่งผู้บริโภคมาช่วยกระตุ้น รวมถึงมาตรการจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ
“อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ฝั่งธุรกิจค้าปลีก และที่เกี่ยวกับการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน อาทิ การจัดซื้อสินค้าในท้องถิ่น และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงฝั่งธนาคารที่เริ่มมีการปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจที่เน้นเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน”
ทั้งนี้ คินดริล ย้ำว่า ความยั่งยืนคือความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่งขององค์กร ดังนั้นเพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มใจของทุกคนคือเรื่องจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
สรุป
ESG และการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนคือเรื่องจำเป็นในการวางแผนธุรกิจนับแต่นี้เป็นต้นไป เพราะผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานรัฐ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นถ้าองค์กรใดยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลงก็อาจตกขบวนการเติบโตของธุรกิจหลังจากนี้ได้
อ้างอิง // Kyndryl
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา