บันเลือง ชินอินเตอร์ อาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่รู้หรือไม่ว่า บริษัทดังกล่าวคือผู้บุกเบิกตลาด Activity Tracker หรือสายรัดข้อมือวัดค่าการออกกำลังกายในประเทศไทย ผ่านการนำเข้า Fitbit มาทำตลาดเมื่อเกือบสิบปีก่อน
Fitbit สามารถสร้างยอดขายเป็นกอบเป็นกำให้บริษัท แต่ปัจจุบัน บันเลือง ชินอินเตอร์ ไม่ได้เป็นผู้นำเข้าสินค้านั้นแล้ว ทำให้บริษัทต้องหาสินค้าแบรนด์ใหม่มาจำหน่าย และปั้นให้เป็นเครื่องจักรผลิตเงินในอนาคต
วันนี้ บันเลือง ชินอินเตอร์ เลือก My First ผู้ผลิตสินค้า Kids Tech จากสิงคโปร์ ต้องขายนาฬิกาอัจฉริยะสำหรับเด็กราคา 6,990 บาท และสินค้าอื่นที่ต้องจูงใจผู้ปกครอง แล้วบริษัทจะทำได้ดีเหมือนที่เคยทำไว้กับ Fitbit หรือไม่
จุดเริ่มต้นของ บันเลือง ชินอินเตอร์
ประวิทย์ ชินประเสริฐ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บันเลือง ชินอินเตอร์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 1995 ในชื่อ ชินอินเตอร์ นำเข้าสินค้าไอที และเทคโนโลยีแบรนด์ต่าง ๆ มาจำหน่ายในประเทศไทย โดยในปี 2002 สามารถทำรายได้ได้กว่า 150 ล้านบาท
จากนั้นปี 2007 บริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญผ่าน Ban Leong Technologies บริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที และเทคโนโลยีจากสิงคโปร์ เข้ามาร่วมลงทุน พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บันเลือง ชินอินเตอร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำตลาด Activity Tracker แบรนด์ Fitbit
“เวลานั้นตลาด Activity Tracker มันใหม่มาก และคนเริ่มใส่กับสุขภาพมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เราจะได้อานิสงส์ผ่านยอดขายที่เติบโตก้าวกระโดด ซึ่งเราจำหน่ายมาระยะหนึ่งจนปัจจุบันตลาดนี้มันเริ่มอิ่มตัว และต้องไปหาแบรนด์อื่นเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจหลังจากนี้”
Kids Tech คือตลาดที่บริษัทต้องไป
ปัจจุบัน บันเลือง ชินอินเตอร์ จำหน่ายสินค้าไอที และอุปกรณ์เสริมราว 10 แบรนด์ เช่น Logitech, Targus และ Coolermaster เป็นต้น โดยกลุ่ม Kids Tech ที่บริษัทจะนำเข้ามาเพิ่มคือ My First แบรนด์สินค้าที่ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับเด็กโดยเฉพาะ
My First มีการทำตลาดหลายประเทศทั่วโลก และมีสินค้านาฬิกาอัจฉริยะ หรือ Smartwatch สำหรับเด็กเป็นเรือธง นอกจากนี้ยังมีกล้องถ่ายภาพ, หูฟัง และปากกาวาดรูป 3 มิติ ทั้งจำหน่ายในช่องทางที่ไม่ใช่ร้านขายของเล่น เพื่อวางภาพลักษณ์แบรนด์เป็น Kids Tech Company ไมใช่บริษัทจำหน่ายของเล่น
“ตลาดสินค้าอัจฉริยะสำหรับเด็กยังมีโอกาสอยู่มาก แม้สินค้าเราจะมีราคาค่อนข้างสูง เช่น นาฬิการาคา 6,990 บาท ทำให้ต้องจูงใจผู้ปกครองมาซื้อ แต่เราเชื่อว่า ด้วยคุณภาพ และความใส่ใจเรื่องเทคโนโลยีของผู้ปกครอง จะทำให้ตลาดนี้เติบโต และหากเราเข้ามาก่อนย่อมสร้างการรับรู้ในตลาดได้ดีกว่า”
ตลาดนี้ต้องเติบโต 200-300% หลังจากนี้
ประวิทย์ ย้ำว่า แม้ยังไม่มีการสำรวจตลาดสินค้าเทคโนโลยีสำหรับเด็ก แต่มีโอกาสที่ภาพรวมตลาดดังกล่าวจะเติบโต 200-300% หลังจากนี้ และคาดหวังการทำตลาด My First ได้สำเร็จใกล้เคียงกับที่เคยทำได้กับสินค้าแบรนด์ Fitbit เพราะต่างเป็นสิ่งใหม่ในตลาดเหมือนกัน
“จริง ๆ เราจะเอา My First เข้ามาทำตลาดก่อนโรคโควิด-19 ระบาด แต่สุดท้ายต้องเลื่อนมาทำในปีนี้ และแม้ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงชะลอตัว มันก็ยังมีโอกาสในตลาดนี้อยู่ ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะนำเข้าแบรนด์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย”
Ban Leong Technologies จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยรายได้ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2023 ที่สิ้นสุดเดือน ก.ย. 2022 อยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลง 7.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ในไทยอยู่ที่ 6.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ น้อยกว่ารายได้ในสิงคโปร์ที่ปิด 77 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
สรุป
ตลาดอุปกรณ์เสริมไอทีมักจะมีสินค้าใหม่ที่ฮิตติดตลาดทุก ๆ 5-10 ปี ทำให้ผู้นำเข้าต้องอ่านตลาดให้ออกว่าหากนำเข้ามาแล้วจะเติบโตก้าวกระโดดได้หรือไม่ ซึ่งกลุ่ม Activity Tracker และ Gaming แสดงให้เห็นแล้ว ดังนั้นต้องลุ้นกันว่า Kids Technology จะประสบความสำเร็จในอนาคตหรือไม่
อ้างอิง // Ban Leong Technologies 1, 2
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา