จากที่ Brand Inside วิเคราะห์เกี่ยวกับแคมเปญของ Virgin Active ที่เปิดให้สมาชิก True Fitness เข้ามาใช้บริการฟรีถึงสิ้นเดือน มาคราวนี้ลองมาเช็คชีพจรของอุตสาหกรรมนี้กันบ้าง ว่าใครจะอยู่ใครจะไป แล้วสถานการณ์ในตอนนี้เป็นอย่างไร
ภาพรวมตลาด 3,500 ล้านบาทที่ลดลง
เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า รายได้รวมของหมวดธุรกิจการดำเนินงานของสถานที่ออกกำลังกายในปี 2559 มีทั้งหมด 3,572 ล้านบาท ผ่านบริษัทที่ยื่นงบการเงินมาให้ 127 ราย และตัวอุตสาหกรรมนี้มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งหมดถึง 512 ล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ที่ภาพรวมอุตสาหกรรมขาดทุนสุทธิ 91 ล้านบาท
แม้จะมีกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้ยื่นงบการเงินนั้นจะพบว่าปี 2558 มีบริษัทยื่นงบถึง 335 ราย จนอุตสาหกรรมนี้มีรายได้รวมกันกว่า 4,400 ล้านบาท ดังนั้นจากจำนวนผู้ยื่นงบที่ลดลงแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ที่ดุเดือด และคงไม่แปลกถ้า True Fitness จะปิดกิจการ เพราะรายได้ลดทุกปี แถมปี 2558 ก็ขาดทุนถึง 49 ล้านบาท
โดยถ้ามองเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือมีสินทรัพย์ถาวร เช่นเครื่องออกกำลังกายแบบต่างๆ รวมมูลค่าสูงกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป ในปี 2559 มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ยื่นงบการเงิน จากปี 2558 ที่มีถึง 5 บริษัท แต่เพียงแค่ 2 บริษัทก็มีรายได้รวมกันกว่า 3,297 ล้านบาท หรือกว่า 90% ของอุตสาหกรรมนี้แล้ว
รายใหญ่ล้ม สบช่องรายเล็กแย่งตลาด
ในทางกลับกัน เมื่อรายใหญ่เริ่มน้อยลง แต่กระแสรักสุขภาพยังคงเติบโตในประเทศไทย ทำให้เกิดฟิตเนสทางเลือกขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อรับช่วงต่อจากรายใหญ่ที่ทำธุรกิจไม่ไหว หรือกลุ่มผู้ใช้ที่เบื่อการออกกำลังกายด้วยเครื่องต่างๆ โดยในปี 2558 มีกลุ่มสถานที่ออกกำลังกายขนาดเล็ก หรือมีสินทรัพย์ถาวรไม่ถึง 50 ล้านบาท ส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถึง 324 ราย
ทำให้ภารวมอุตสาหกรรมสถานที่ออกกำลังกายในตอนนี้หากนับเป็นจำนวนก็จะเดินหน้าโดยธุรกิจรายเล็ก แต่ถ้ามองเรื่องมูลค่า เกือบทั้งหมดจะอยู่กับธุรกิจรายใหญ่ ส่วนขนาดกลาง หรือมีสินทรัพย์ถาวรระหว่าง 50-200 ล้านบาทนั้นแทบไม่มี อาจเพราะบริหารงานลำบาก และถ้าใหญ่ไปก็ไม่มีเงินลงทุน หรือเล็กไปก็คล่องตัวสู้รายย่อยไม่ได้
โอกาสรายอื่นซ้ำรอย True Fitness
เมื่อตรวจสอบธุรกิจสถานออกกำลังกายที่มีรายได้หลักร้อยล้านบาทใกล้เคียง True Fitness ประกอบด้วย
- บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Fitness First มีรายได้ปี 2559 ที่ 2,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.96% และมีกำไร 451 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.74% หากนับตั้งแต่ปี 2555 ตัวธุรกิจก็มีการเติบโตตลอด
- บริษัท เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Virgin Active มีรายได้ปี 2559 ที่ 476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.25% และขาดทุน 156 ล้านบาท หากนับตั้งแต่ปี 2556 ที่ก่อตั้งธุรกิจมีการขาดทุนหลักร้อยล้านบาทตลอด
- บริษัท วี ฟิตเนส จำกัด หรือ We Fitness มีรายได้ปี 2559 ที่ 365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% และขาดทุน 6 ล้านบาท หากนับตั้งแต่ปี 2556 มีการขาดทุน 26-74 ล้านบาทในแต่ละปี
เรียกว่าฟิตเนสรายใหญ่ส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุน (ยกเว้นฟิตเนส เฟิรส์ท) และหวังว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนกับ True Fitness ส่วนผู้ที่สมัครสมาชิกตลอดชีพเอาไว้ก็คงต้องทำใจซักนิดเมื่อเห็นงบการเงินที่บริษัทต่างๆ นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สรุป
เมื่อเจอกับภาพรวมตลาดที่แทบจะไม่เติบโต แสดงให้เห็นถึงโอกาสในตลาดฟิตเนสนั้นแทบไม่มี และรายใหม่ที่เข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการลงทุนทั้งสถานที่ และอุปกรณ์ก็ค่อนข้างสูง รวมถึงค่าสมาชิกจะแพงก็ไม่ได้ ดังนั้นการจะแข่งขันนี้ก็คงเป็นเพียงข้อแตกต่างในเรื่องคอร์สการฝึก หรือไม่ก็เทรนเนอร์ที่เก่ง ไม่เช่นนั้นก็คงอยู่ในตลาดได้ไม่นานแน่นอน
* ข้อมูลงบกำไรขาดทุนจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา