พาไปชมไฮไลท์จากงาน Decarbonize Thailand Symposium 2022 ที่รวบรวมเอาทุกภาคส่วนมาร่วมหาทางออกด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในไทย
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามากขึ้นจากหลายภาคส่วนในระดับโลก ตั้งแต่ภาครัฐจนถึงหน่วยงานเอกชน อย่างในประเทศไทยเองก็มีบริษัทไม่น้อยที่ออกมาประกาศกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของดัวเองออกมาควบคู่ไปกับการประกาศกลยุทธ์ทางธุรกิจทั่วไป แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือเราเริ่มจะได้เห็นเวทีระดมสมองเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายภาคส่วนกันหนาตาขึ้นกว่าเก่า
Decarbonize Thailand Symposium 2022 คือหนึ่งในสัมมนาด้านพลังงานที่เกิดขึ้น โดยมีความสำคัญคือการเป็นงานที่รวมเอา 8 พันธมิตรธุรกิจชั้นนำ สตาร์ทอัพ และผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาครัฐ มากกว่า 30 คน ขึ้นมาร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางออกในการลดคาร์บอนที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Workshop เพื่อระดมสมอง บูธโชว์เคสจาก 24 สตาร์ทอัพนานาชาติ ไปจนถึงกิจกรรม Networking เพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือลดคาร์บอนในอนาคต ซึ่งทาง Brand Inside มีโอกาสไปเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ และอยากจะแบ่งปันไฮไลท์ภายในงานให้ผู้อ่านได้ติดตามไปพร้อมกัน
ประเทศไทย ทำไมต้องยั่งยืน?
หมุดหมายแรกที่น่าสนใจของงานสัมมนาครั้งนี้คือการพูดถึง “เหตุผลว่าทำไมไทยต้องสนเรื่องความยั่งยืน” โดย เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในช่วงการเปิดงานสัมมนาครั้งนี้
“ประเทศไทยเจอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหนักเป็นอันดับที่ 9 ของโลก แม้ว่าจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับรอง ๆ ลงมา” เกียรติชายอธิบายถึงปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญ “งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม”
“หากประเทศไทยไม่ปรับตัวแสดงเจตจำนงที่แน่ชัด ก็จะได้รับผลกระทบเพราะจะยากในการทำธุรกิจตลาดสากลเนื่องจากจะถูกมองว่าเป็นผู้ก่อปัญหา” เกียรติชาย ระบุ นอกจากนี้ อาจจะพลาดกระแสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ อย่างที่ทุกวันนี้เราได้เห็นสตาร์ทอัพด้านพลังงานมากขึ้น ซึ่งในการประชุม COP26 ปีก่อน ไทยก็ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 แล้วเป็นที่เรียบร้อย
สถานการณ์การปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย
อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจ คือเวทีพูดคุยระหว่าง กระทรวงพลังงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสภาอุตสาหกรรม ที่พูดถึงภาพรวมสถานการณ์การปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย
ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 300 ล้านตันต่อปี อยู่ที่อันดับ 20 ของโลกโดยประมาณ ภาคส่วนที่ปล่อยมากที่สุดคือภาคการผลิตไฟฟ้า รองลงมาคือคมนาคม เกษตร อุตสาหกรรม ตามลำดับ โดยมีบางภาคเป็นบวก (หรือดูดซับคาร์บอนได้) เช่น ภาคป่าไม้ เกียรติชายอธิบายถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย
ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่อุตสาหกรรมพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดว่า “ไม่ว่าจะผลิตอะไร จะทำอะไรในอุตสาหกรรมไหน ก็จะต้องมีการใช้พลังงานทั้งสิ้น” แต่ก็มีโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีพลังงาน 5 มิติ ในการเข้ามาลดทอนปัญหาได้แก่ Renewable Energy, Energy Efficiency, Electrification, Hydrogen และ Carbon Capture Utilisation and Storage เป็นต้น
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พูดถึงภาคอุตสาหกรรมว่า แม้จะไม่ได้เป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้น ๆ แต่ด้วยความที่เป็นภาคส่วนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมภาคอุตสาหกรรมจึงจริงจังกับเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างมากเช่นกัน
ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน เนื่องจากอยู่ในฐานด้านชีวภาพที่ดี แถมยังมีต้นทุนในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนมากกว่าประเทศอื่น ๆ คือทิ้งรอยเท้าคาร์บอนเอาไว้ราว 300 ล้านตันต่อปี ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียอยู่ที่ 1,000 ล้านตัน และ 2,000 ล้านตัน ตามลำดับ
นวัตกรรมคือทางออก
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ไม่น้อยคือการร่วมนำเสนอเคส จัดแสดงนวัตกรรม และแชร์ประสบการณ์ของสตาร์ทอัพ 8 ทีมสุดท้ายในโครงการ Decarbonize Thailand Sandbox ได้แก่ ANNEA, PAC Corporation, ETRAN, AltoTech, Thai Carbon, Krosslinker, ReJoule และ TIE-con ซึ่งทำงานด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่หลากหลาย เช่น พลังงานลม ศักยภาพการใช้พลังงาน ไปจนถึงวัสดุศาสตร์
ผู้เข้าร่วมเล่าให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลาของโครงการ Decarbonize Thailand Sandbox 2022 จะได้ทำงานเพื่อค้นหาโซลูชั่นด้านพลังงานร่วมกับ Corporate Mentor จากกลุ่ม บี.กริม, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ. ไออาร์พีซี และ บมจ. ปตท. โดยยังได้มีโอกาสเข้าร่วม Masterclass Workshops และได้รับการสนับสนุนสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่เหมาะสมในการทำงานตลอดโครงการ
นอกจากนี้ ภายในงานก็ยังมีการจัดแสดงโชว์เคสจากสตาร์ทอัพในโครงการ Decarbonize Startup Sandbox และสตาร์ทอัพไทยและระดับภูมิภาคอื่น ๆ รวมแล้วกว่า 24 ทีม อีกด้วย
จะไขปัญหา ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญ
งานในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นงานสัมมนาที่มีครบทุกรสชาติ เพราะนอกจากจะมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญและบอกเล่าประสบการณ์ของสตาร์ทอัพด้านพลังงานแล้ว ผู้เข้าร่วมยังมีโอกาสได้ลงมือทำด้วยตัวเองผ่าน Workshop ที่มีให้เลือกเข้าร่วมกว่า 6 กิจกรรมใน 2 ธีม คือ การวางกลยุทธ์ลดคาร์บอน และเทคโนโลยีด้านภูมิอากาศ ยกตัวให้เห็นภาพ เช่น การทำรายงาน ESG และ การประเมินสตาร์ทอัพด้าน Climate-Tech เป็นต้น
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด งานครั้งนี้ปิดท้ายด้วยงาน Networking Reception ที่เปิดพื้นที่สังสรรค์ให้ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างโอกาสความร่วมมือลดคาร์บอนในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมในงานมากกว่า 1,000 คนเลยทีเดียว
สรุป
พูดได้ว่า Decarbonize Thailand Symposium 2022 คือหนึ่งในสัมมนาด้านพลังงานแห่งปี เพราะมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานเอกชนจากหลายสาขา เข้ามาร่วมในกิจกรรมที่ครบรส ทั้งการบรรยาย การเปิดประสบการณ์ โชว์เคสสตาร์ทอัพ และการสร้างเครือข่าย ที่มีประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือในการลดคาร์บอนที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและประเทศไทยในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา