เพราะ ESG คือเรื่องใหญ่: KBank เร่งเครื่องพาลูกค้าเปลี่ยนผ่าน สู่ธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน

เจาะกลยุทธ์ด้าน ESG ปี 2566 ของ ธนาคารกสิกรไทย เตรียมตัวทำอะไรบ้างเพื่อสร้างการเติบโตที่สอดคล้องกับยุคสมัยและสร้างผลตอบแทนระยะยาวอย่างยั่งยืน

สิ่งแวดล้อม กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ วงการวิทยาศาสตร์หยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงกันมากขึ้น เวทีระหว่างประเทศพยายามประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้บริโภคถามหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเก่า แม้แต่ฝั่งนักลงทุนเองก็เริ่มเอาความยั่งยืนเข้ามาเป็นเกณฑ์พิจารณาคู่กับผลประกอบการ คำถามในแวดวงธุรกิจที่ตามมาก็คือว่า แล้วบริษัทควรจะวางกลยุทธ์ธุรกิจต่อไปอย่างไรในโลกที่ปัจจัยแวดล้อมในการทำธุรกิจเปลี่ยนไป?

วันนี้ Brand Inside จะพาไปดูว่า ธนาคารกสิกรไทย วาดภาพกลยุทธ์ด้าน ESG ปี 2566 เอาไว้อย่างไร เตรียมตัวทำอะไรบ้างเพื่อสร้างการเติบโตที่สอดคล้องกับยุคสมัยและสร้างผลตอบแทนระยะยาวอย่างยั่งยืน

เปิดแนวคิด ทำไมธุรกิจต้องสนใจสิ่งแวดล้อมและสังคม?

“ปกติแล้วปลายปีแบบนี้บริษัทจะต้องออกมารายงานทิศทางธุรกิจไปจนถึงผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นฟัง แต่ปีนี้เราเปิดโจทย์อีกแบบหนึ่ง คือรายงานทิศทางธุรกิจที่นอกเหนือจากเรื่องกำไร” คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เริ่มต้นการแถลงกลยุทธ์ ESG ปี 2566 ด้วยประโยคที่สะท้อนบริบทการทำธุรกิจในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

ทุกวันนี้ลูกค้าหันมาสนใจตลอดว่าสิ่งที่บริษัททำกระทบต่อความเป็นอยู่ในระยะยาวอย่างไร นักลงทุนใช้เกณฑ์ ESG เข้ามาพิจารณาการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช้แค่เรื่องที่วางไว้ข้าง ๆ ธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็น ‘เรื่องธุรกิจ’ เลยต่างหาก

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในปีหน้าจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ในตลาดยุโรปกับสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนเกินกำหนด หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทําให้ต้นทุนสูงขึ้น ใช้เงินลงทุนมากขึ้น กระทบความสามารถแข่งขัน นอกจากนี้ยังอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย เห็นได้ชัดว่าถ้าไม่เริ่มปรับตัวตอนนี้อาจสายเกินไป คุณกฤษณ์อธิบายต่อ

ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงวางกลยุทธ์โดยขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และตั้งเป้าเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแน่นอนว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวคนเดียว ธนาคารจึงเริ่มจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารก่อนและขยายออกไปด้วยการชวนให้ลูกค้าและพันธมิตรใน ecosystem เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

เจาะกลยุทธ์ ธนาคารกสิกรไทยทำอะไรบ้าง?

ESG เป็นหลักการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Society and Governance) ซึ่งธนาคารกสิกรไทยวางกลยุทธ์สำหรับการดำเนินธุรกิจปี 2566 ที่คำนึงถึงหลัก ESG ให้ ครอบคลุมทุกด้าน

ด้านสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยปรับการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคารเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

solar farm solar cell

และมีความมุ่งมั่นที่ใหญ่กว่านั้นคือการช่วยให้ลูกค้าธุรกิจของธนาคารมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกันโดยธนาคารทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธนาคาร จัดลำดับกลุ่มอุตสาหกรรมเร่งด่วน และวางแผนกลยุทธการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) 

ซึ่งปีนี้วางแผนไปได้ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Portfolio Emission)

นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2565 ธนาคารให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท และเตรียมจัดสรรเงินทุนต่อเนื่องรวม 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 

มากไปกว่านั้น ธนาคารได้พัฒนาบริการ Beyond Financial Solutions โดยผสานเทคโนโลยีและความร่วมมือกับพันธมิตรสร้างความร่วมมือทั้ง Ecosystem ออกโครงการที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงินเพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายยิ่งขึ้น และกระจายสู่วงกว้างได้มากขึ้น อาทิ โครงการ SolarPlus ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และโครงการส่งเสริมการเช่าใช้งานรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า EV Bike ที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลาย ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ด้านสังคม

กสิกรไทยเน้นบทบาทการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนมค.-กย.) ธนาคารปรับปรุงกระบวนการพิจารณาสินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณา  การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการทำงานด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และประสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งมอบบริการสินเชื่อควบคู่กับการให้ความรู้ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายเล็กมากกว่า 5 แสนราย และเล็งขยายสินเชื่อรายเล็กให้ได้ 1.9 ล้านราย ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบทบาทให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ผ่านการออกแคมเปญสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ โดยคาดว่าจะเข้าถึงลูกค้าได้กว่า 10 ล้านราย ในปี 2566 

ด้านธรรมาภิบาล

หรือการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณา ESG credit เพื่อที่เม็ดเงินสินเชื่อที่ปล่อยออกไปจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดให้สินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% แล้ว

ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร?

แน่นอนกว่าการปรับตัวตอบรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย (KResearch) ได้ให้คำแนะนำที่ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถหยิบไปใช้ได้เอาไว้ ดังนี้

  • ประเมินความเสี่ยงด้าน ESG รอบด้าน เพื่อกำหนดแผนธุรกิจขององค์กรที่จะช่วยคว้าโอกาสใหม่และลดความเสี่ยงระยะยาว เพื่อสร้างกำไร ศักยภาพแข่งขัน ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความอยู่รอด
  • ปรับตามเทรนด์ที่โลกจับตา เช่น ร่วมลงทุนกับนักลงทุน ทำธุรกิจกับคู่ค้า และให้ความสำคัญกับลูกค้าที่มีพฤติกรรมให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
  • ลดก๊าซเรือนกระจก ลงทุนในเทคโนโลยีการผลิต เปลี่ยนการใช้พลังงาน ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตและลดต้นทุนจากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก

วัดและจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรายงานในแบบ 56-1 และการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงการรายงานต่อหน่วยงานภาครัฐที่นับวันจะทวีความจำเป็นมากขึ้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าธนาคารกสิกรไทยพยายามตีโจทย์ในการแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการโอบรับความร่วมมือจากทั้ง Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ลูกค้ารายใหญ่ ธุรกิจรายย่อย และประชาชนทั่วไป ด้วยตระหนักว่าปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวคนเดียว จึงต้องวางตัวเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างให้กับธุรกิจอื่น ๆ และชักชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน

ด้วยกลยุทธ์ด้าน ESG ที่ครอบคลุมทุกประเด็น จึงเห็นได้ชัดว่า ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้นำและแบบอย่างในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นทั้งความเสี่ยงสำหรับผู้ที่ไม่ปรับตัว เป็นวิถีชีวิตแบบใหม่เป็นแนวทางและโอกาสในการทำธุรกิจในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา