- ปี 2564 สัดส่วนจำนวนผู้หญิงที่เป็นระดับ CEO ทั่วโลก แม้ว่าจะมีเพียง 5.3% ของจำนวน CEO ทั้งหมด แต่ก็เป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 สะท้อนถึงบทบาทของผู้หญิงในองค์กรที่มากขึ้น
- ขณะที่ไทย ผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท แม้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม APEC แต่สัดส่วนก็ขยับเพียงเล็กน้อยหรืออยู่ที่ 19% ของคณะกรรมการบริษัททั้งหมดในปี 2564 และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ราว 23%
- ปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงไทย ตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้นต่อบทบาทของผู้หญิงทั้งในมิติเชิงเศรษฐกิจและในมิติเชิงสังคม อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังมีโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่างๆ เป็นต้น
- นับจากนี้ ไม่เฉพาะบทบาทผู้หญิงเท่านั้น การให้ความสำคัญด้านความหลากหลายและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ เชื้อชาติ รวมถึงทักษะความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ ควรเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันรุนแรงและซับซ้อน
การประชุม APEC 2022 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพนั้น หนึ่งในการประชุมที่เกี่ยวข้องคือ การประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum: WEF) ซึ่งจะพูดถึงประเด็นด้านความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) รวมถึงบทบาทและพลังทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงในบริบทต่างๆ ทั้งในมิติทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม
ความเสมอภาคและเท่าเทียม (Gender Equality) … เพิ่มบทบาทของผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉพาะในมิติทางด้านเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้นำในระดับโลก หรือได้รับการยอมรับมากขึ้น สะท้อนได้จาก ข้อมูลปี 2564 มีประเทศที่มีผู้หญิงเป็น Head of stage หรือว่า Head of government ถึง 28 ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก บังกลาเทศ และล่าสุดคือ อิตาลี ทั้งนี้ ในปี 2564 สัดส่วนจำนวนผู้หญิงที่เป็นระดับ CEO ทั่วโลก แม้ว่าจะมีเพียง 5.3% ของจำนวน CEO ทั้งหมด แต่ก็เป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 สะท้อนถึงความมีบทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิง
ขณะที่ไทย หากพิจารณาบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งงานระดับสูง (คณะกรรมการบริษัท) พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จาก จำนวนผู้หญิงที่เป็นคณะกรรมการบริษัท (ที่จดทะเบียนในตลาด SET และ mai) เพิ่มขึ้นจาก 1,429 คนในปี 2563 มาอยู่ที่ 1,614 คนในปี 2565 หรือหากพิจารณาจำนวนบริษัท พบว่า กว่า 88% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการอย่างน้อย 1 คน หรือกว่า 26% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการของแต่ละบริษัทอย่างน้อย 30% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจบริการ เช่น พาณิชย์ ขนส่งและโลจิสติกส์ การแพทย์ สื่อและสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บทบาทของผู้หญิงในธุรกิจไทย น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยสะท้อนได้จาก จำนวนแรงงานผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในยุคที่ผู้หญิงแต่งงานช้าลง หรือมีลูกน้อยลง ก็น่าจะทำให้แรงงานผู้หญิงกลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์กร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งงานระดับสูงของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรืออยู่ที่ราว 19% ในปี 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม APEC (ไม่รวมบรูไนและเวียดนาม) แต่ยังถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ราว 23% และถ้าเรากลับมามองสถานภาพแรงงานของผู้หญิงในภาพรวม จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) เกี่ยวกับการประสบปัญหาจากการทำงานของผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ ในปี 2564 พบว่า กว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เป็นเรื่องของค่าตอบแทน เช่น ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม ได้ค่าตอบแทนล่าช้า ได้ค่าตอบแทนไม่เต็มจำนวนที่ตกลงไว้ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาอื่นๆ เช่น งานขาดความต่อเนื่อง (21%) งานหนัก (13%) ไม่มีสวัสดิการ (10%) เป็นต้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 จะเห็นว่า อัตราการว่างงานของผู้หญิงในช่วง โควิด-19 สูงกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (เช่น ค้าส่งค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร) มีสัดส่วนแรงงานที่เป็นผู้หญิงมากกว่าหรือราว 55% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงทำให้อัตราการว่างงานในช่วงเวลาดังกล่าวสูงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ที่พบว่า ในช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบการหญิงมีแนวโน้มปิดกิจการของตัวเองมากกว่าผู้ชายราว 20% นำมาซึ่งโจทย์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือบรรดาธุรกิจภาคเอกชน ควรตระหนักและให้ความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าว
ความเท่าเทียมและเสมอภาคในการทำงานคือ การให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อให้บทบาทของผู้หญิงไทยเป็นที่ยอมรับหรือได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและเร่งสร้างแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้หรือทักษะต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการขององค์กร รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่จะเติบโตในสายอาชีพที่ทำ การได้รับค่าตอบแทนรวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสมและเท่าเทียม ยกตัวอย่างในบางประเทศ เช่น นอร์เวย์ สวีเดน มีการกำหนดนโยบายให้สิทธิ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถลาคลอดได้เท่าๆ กัน (Parental leave) เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีการสร้างงานหรือผลักดันอุตสาหกรรม S-Curve ที่เหมาะสมกับแรงงานผู้หญิง เพื่อส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจ Wellness tourism อย่างธุรกิจนวดและสปา หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ อย่างธุรกิจ Nursing home ซึ่งผู้หญิงอาจจะมีทักษะหรือจุดแข็งต่างๆ ในการทำอาชีพดังกล่าว เป็นต้น หรืออาจจะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการจ้างงานแรงงานผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนผู้หญิงทำงานน้อยเพื่อยกระดับความเท่าเทียมกันในที่ทำงาน ยกตัวย่างเช่น สำนักงานตำรวจในแอฟริกาใต้ที่มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงก้าวเข้าสู่อาชีพตำรวจซึ่งรวมทั้งการส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพด้วย เป็นต้น
และไม่เพียงแต่ ความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศในมิติเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายควรช่วยกันดูแลประเด็นของผู้หญิงในเชิงสังคมด้วย เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงยังเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่างๆ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนจากผลกระทบของวิกฤตซ้อนวิกฤต ความเสี่ยงที่ผู้หญิงอาจจะตกเป็นเหยื่อจากความไม่ปลอดภัยต่างๆ อาจมีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกรวมถึงไทยต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงประเด็นนี้กันมากขึ้น สะท้อนผ่านความพยายามในการออกแบบบริการที่คำนึงถึงประเด็นนี้ ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น มีการออกมาตรการสร้างระบบขนส่งสาธารณะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น เช่น การจัดตู้ขบวนรถไฟโดยสารและช่องชานชาลาสถานีรถไฟเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น รวมไปถึงรถบัสโดยสารประจำทางที่มีเฉพาะผู้หญิง เพื่อป้องกันการถูกลวนลามบนรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น ขณะที่ ในไทย ก็มีการจัดตู้ขบวนรถไฟโดยสารหรือบางอาคารมีชั้นจอดรถสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะบ้างเช่นกัน
เมื่อมองไปข้างหน้า ไม่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ทุกฝ่ายควรร่วมกันขับเคลื่อนการให้ความสำคัญด้านความหลากหลายและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ เชื้อชาติ รวมถึงทักษะและประสบการณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้หรือความคิดเห็น ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันรุนแรงและซับซ้อนขึ้น โดยปัจจุบัน มีธุรกิจภาคเอกชนรายใหญ่ของไทย เช่น สถาบันการเงิน ธุรกิจพลังงาน ที่ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับประเด็นด้านความหลากหลายของพนักงานผ่านการจ้างงาน และมีการวางแผนผลักดันให้พนักงานมีความก้าวหน้าในอาชีพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ภายใต้การปฏิบัติที่ชัดเจนและโปร่งใส เป็นต้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา