เลือก “ประกันสุขภาพ” อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด

ทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับเราได้ง่าย แถมมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การระมัดระวังในการใช้ชีวิตอาจจะไม่ได้ช่วยให้คุณรอดพ้นจากเรื่องพวกนี้ได้ หรือใครที่คิดว่าร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ออกกำลังกายประจำแต่อยู่มาวันนึงล้มป่วยกะทันหัน ต้องนอนโรงพยาบาลรับการรักษาแบบไม่ทันตั้งตัวก็อาจจะทำให้เงินเก็บที่เก็บมานานหมดไปกับการรักษาพยาบาล ดังนั้นการมีประกันสุขภาพเอาไว้เพื่อป้องกันและสร้างความอุ่นใจให้กับเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ 

ประกันสุขภาพนอกจากจะช่วยดูแลเราในเรื่องค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงระดับการผ่าตัดแล้ว บางแผนยังดูแลโรคเฉพาะหรือคุ้มครองโรคร้ายมากกว่า 1 โรคอีกด้วย ทำให้เราไม่ต้องห่วงเลยว่าจะเข้าทำการรักษาแล้วเงินจะพอจ่ายหรือไม่ 

ประกันสุขภาพ

 

 

เราสามารถแบ่งประกันสุขภาพออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้ 

  1. ประกันสุขภาพส่วนบุคคล เป็นประกันที่เราเป็นผู้เอาประกันแค่คนเดียว การกำหนดความคุ้มครอง เบี้ยประกัน และรายละเอียดอื่นๆ จะถูกพิจารณาจากผู้เอาประกันเท่านั้น
  2. ประกันสุขภาพแบบกลุ่ม หรือที่เราเรียกกันว่าประกันกลุ่ม ถ้าใครที่เป็นพนักงานออฟฟิศก็คือประกันที่บริษัททำให้กับพนักงานทุกคนเป็นสวัสดิการ ซึ่งความคุ้มครองจะขึ้นอยู่กับแผนที่ทางบริษัทได้เลือกเอาไว้

ซึ่งประกันสุขภาพก็จะสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของความคุ้มครองเพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้เอาประกันที่มีหลากหลายความต้องการ 

ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก 

ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมในส่วนของการเจ็บป่วยเบื้องต้น มีการวินิจฉัยและประเมินจากแพทย์แล้วว่าไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น อุบัติเหตุเล็กน้อย ไข้หวัด โรคตามฤดูกาลที่รับยาและกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ ประกันจะคุ้มครองในส่วนของค่ายา ค่าตรวจ เป็นต้น

ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน

ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน เป็นการประกันที่คุ้มครองในส่วนของผู้เอาประกันที่แพทย์วินิจฉัยให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 ชม. ในส่วนของประกันจะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่ายา เป็นต้น

ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง

เป็นประกันที่สุขภายที่คุ้มครองผู้เอาประกันต้องรักษาโรคที่มีความซับซ้อนในการรักษา มีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์เฉพาะทาง การรักษามักจะมีความต่อเนื่อง ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่นกลุ่มโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท

ประกันอุบัติเหตุ

เป็นประกันที่คุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและได้เข้ารับการรักษาพยาบาล ประกันอุบัติเหตุจะครอบคลุมตั้งแต่อุบัติเหตุเล็กน้อย ไปจนถึงอุบัติเหตุใหญ่ที่ทำให้สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต 

ประกันชดเชยรายได้

เป็นประกันที่จะคุ้มครองผู้เอาประกันขณะที่ทำการรักษาและต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยจะเป็นการจ่ายค่าชดเชยรายได้รายวันที่ผู้เอาประกันไม่สามารถทำงานได้ ไม่ได้เป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้เอาประกัน

ภาพจาก pixabay

หลักการเลือกประกันสุขภาพให้เหมาะกับตัวเอง

เช็คสิทธิ/สวัสดิการที่มีของตัวเองก่อน

ตามปกติคนไทยทุกคนจะมีสิทธิบัตรทองกันอยู่แล้ว จะสามารถรับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลในพื้นที่ของตัวเอง หากมีการย้ายที่อยู่ก็สามารถย้ายสถานพยาบาลไปในพื้นที่ใหม่ได้ หากใครเป็นพนักงานบริษัทก็จะมีสิทธิประกันสุขภาพกลุ่มให้กับพนักงานอยู่แล้ว แต่หากประเมินแล้วว่าสิทธิที่ได้รับไม่พอหรือไม่ครอบคลุมบางเรื่องที่เราอาจจะได้รับการรักษา คุณอาจจะต้องเริ่มมองหาประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้แล้ว

เช็คร่างกายตัวเองว่ามีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงใดหรือไม่

อย่างต่อมาที่ควรเช็คกับตัวเองนั่นก็คือโรคประจำตัว หรือความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ จากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน มะเร็ง รวมถึงพฤติกรรมของตัวเองที่อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด เพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพบางประการอาจทำให้ไม่สามารถทำประกันในบางแผนได้

เลือกแผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองที่เหมาะสม

เมื่อเช็คแล้วว่าตัวเองมีสิทธิ/สวัสดิการอะไรบ้าง รวมทั้งความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคเรียบร้อย ต่อไปก็เป็นเรื่องของงบประมาณและรายละเอียดของแต่ละแผนประกันสุขภาพที่เราสนใจ พยายามเช็คให้ดีว่าเบี้ยประกันเป็นอย่างไร สะดวกชำระแบบรายปีหรือรายเดือน ความคุ้มครองนั้นครอบคลุมกับความต้องการของเราหรือไม่ 

ภาพจาก pixabay

แต่ละช่วงอายุควรทำประกันแบบไหนดี

วัยเด็ก (0-20 ปี) 

วัยนี้เป็นวัยที่มีความเสี่ยงทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากโรคตามฤดูกาล ซึ่งเบี้ยประกันของเด็กในช่วงอายุแรกจะค่อนข้างสูงเนื่องจากความเสี่ยงในเรื่องของการเจ็บป่วยค่อนข้างบ่อยมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ 

วัยทำงาน (21-30 ปี)

วัยทำงานถึงแม้จะเป็นช่วงวัยที่ดูจะมีสุขภาพที่แข็งแรงที่สุด ความเสี่ยงอาจจะเป็นเรื่องของโรคออฟฟิศซินโดรม ความเครียด หรือโรคที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น หากเริ่มทำประกันสุขภาพในช่วงอายุนี้ราคาเบี้ยอาจจะไม่ได้สูงเท่าช่วงอายุอื่นๆ รวมถึงบางแผนยังสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย 

วัยครอบครัวและวัยกลางคน (31-50 ปี)

ด้วยเรื่องของการงาน การเดินทาง และความรับผิดชอบที่หลายคนต้องดูแลครอบครัว เรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นการทำประกันสุขภาพของคนวัยนี้อาจจะต้องพ่วงเรื่องของโรคร้ายแรงไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะที่ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ก็จะเป็นเรื่องดี และไม่รบกวนเงินในกระเป๋าที่เราเก็บไว้ในยามฉุกเฉินหรือเพื่อใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือลูก 

วัยก่อนเกษียณ (51 ปีขึ้นไป) 

หากใครที่เพิ่งเริ่มทำประกันในช่วงอายุนี้อาจจะต้องมีการตรวจสุขภาพหรือเช็คประวัติค่อนข้างละเอียดมากขึ้น รวมทั้งเบี้ยประกันอาจจะมีราคาที่สูงขึ้นกว่าช่วงกลุ่มอายุอื่น แต่การทำประกันสุขภาพไว้ในช่วงอายุนี้เป็นเรื่องที่ดีมากเพราะมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้บ่อยมากขึ้น ไวต่อโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล รวมทั้งโรคร้ายแรงต่างๆ ที่อาจะมาแสดงอาการเอาในช่วงอายุนี้ การมีประกันจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและลดค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปหาต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล

จะเห็นได้ว่าประกันสุขภาพไม่ได้เหมาะกับช่วงอายุใดอายุหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ทุกคนควรมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคต เพราะการทำประกันไม่ใช่การเสียเบี้ยประกันไปเรื่อยๆ แต่ละเดือนแบบไร้ความหมาย

ที่มา: krungsri.com, iTAX media, cigna.co.th, set.or.th, FINNOMENA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา