“อะไรคือเหตุผลที่ยังต้องมีจุฬา ในวันที่เรียนจากที่ไหนก็ได้”
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเสนอนโยบายเอาไว้เมื่อก่อนรับตำแหน่งอธิการบดีวาระที่ 2 ว่าต้องการให้จุฬามีระบบเรียนออนไลน์ 100% แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะบุคลากรภายในยังไม่คุ้นชิน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน COVID-19 ก็เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของคนทั่วโลกไป จุฬาฯ ก็เป็นเหมือนสถาบันการศึกษาอื่นๆ ถูกบังคับให้ต้องเรียนออนไลน์ 100% จนเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปีกว่า สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย การเรียนการสอนกลับมาเป็น on-site ได้เหมือนเดิม แต่ อ.บัณฑิต ยังเชื่อมั่นว่าการเรียนออนไลน์ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของการเรียนรู้ในอนาคต
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของจุฬาฯ คือการจับมือกับบริษัท Skooldio ที่ดำเนินธุรกิจด้านการเรียนรู้ และร่วมลงทุนใน Degree Plus แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง (เป็นการลงทุนผ่านบริษัท CU Enterprise และ CU Engineering Enterprise ของจุฬาฯ เอง) โดยวางเป้าหมายเริ่มต้นไว้ที่กลุ่มคนทำงานที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่จุฬาฯ เข้าไปร่วมลงทุน แต่ไม่จำกัดว่าผู้เรียนต้องเป็นนิสิตจุฬาฯ และยังมาพร้อมแนวคิดใหม่คือไม่จำกัดว่าผู้สอนต้องเป็นอาจารย์จากจุฬาฯ ด้วยเช่นกัน
Brand Inside มีโอกาสสัมภาษณ์ อ.บัณฑิต ถึงมุมมองที่มีต่อรูปแบบการศึกษาในยุคหลังโควิด รวมถึงตัวแทนจากพาร์ทเนอร์เทคโนโลยีการเรียนออนไลน์คือ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio และ นายวรพล รัตนพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Degree Plus ที่เข้ามาช่วยกันทำโปรเจคต์ก้าวใหม่ของการศึกษาครั้งนี้ มาให้มุมมองถึงโลกของการศึกษาที่เปลี่ยนไป
บทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันคืออะไร ในโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีคอร์สออนไลน์ มีคอร์สระยะสั้นของภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามา มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่
บัณฑิต: ก่อนพูดถึงคำว่ามหาวิทยาลัย ขอย้อนไปถึงรูปแบบของ “การเรียนรู้” ก่อน ต้องบอกว่าภูมิทัศน์ของการเรียนรู้ มันเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก
วิธีที่เราทำกันมาเป็นร้อยปีคือเวลาใครสักคนอยากได้ความรู้ ต้องไปรับฟังความรู้ผ่านครูอาจารย์เป็นหลัก แถมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารข้างนอกห้องเรียนมีค่อนข้างจำกัด
โครงสร้างของมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม (traditional university) ออกแบบมาให้เรียนรู้ผ่านกระบวนการสอน การบรรยาย (lecture) เป็นหลัก ถูกควบคุมและชี้นำโดยครูผู้สอน ดังนั้นมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมจะปรับตัวช้าหน่อย เพราะมีอำนาจผูกขาดอยู่ในระบบผู้สอน มีอำนาจเหนือผู้เรียน คนที่จะมาเรียนต้องมาเรียนในแบบที่ครูกำหนด มันมีความเป็นแบรนด์ของมหาลัยคุมตรงนี้อยู่
แต่โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะมาก ความรู้เปิดกว้างหมดแล้ว ความรู้เชื่อมโยงกันหมด ทำให้บริบทในการเรียนรู้ต่างไปจากระบบมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมมาก จนคนที่อยู่เฉพาะภายในมหาวิทยาลัยอาจนึกไม่ถึง คณาจารย์ที่คุ้นชินกับรูปแบบเดิมย่อมมีแนวโน้มยึดติดกับวิธีการสอนและการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ
คำถามสำคัญทำอย่างไรจึงเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเข้าถึงความรู้อื่นๆ ในวงกว้างได้ด้วย นอกเหนือจากที่ครูอาจารย์สอนในห้องเรียน เพราะถ้าเข้าถึงความรู้ได้มาก ผู้เรียนก็ได้ประโยชน์มากตามไปด้วย
ดังนั้นแนวโน้มในการเรียนรู้ การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ยังไงก็ต้องปรับตัว
แล้วจุฬาฯ เตรียมตัวอย่างไรบ้างสำหรับการเรียนออนไลน์ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนโควิดคืออะไร
บัณฑิต: จุฬาฯ เตรียมเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว เราเตรียมตัวหลายอย่าง แต่เป้าหมายหลักคือให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนได้มากขึ้น มีความยืดหยุ่นขึ้น
แต่ก่อนยุคโควิด การยอมรับเรื่องออนไลน์ยังไม่สูงนักในหมู่ครูอาจารย์ ตอนนั้นน่าจะมีอาจารย์ในจุฬาฯ ที่ใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือสักไม่เกิน 10% เอง
พอโควิดมาถึง โครงสร้างพื้นฐานด้านออนไลน์ที่เราเตรียมเอาไว้ จึงได้ใช้งานจริงๆ ถึงแม้ตอนนี้เปิดกลับให้เรียนออนไซต์ได้แล้ว แต่การเรียนออนไลน์ก็ยังอยู่ และมาถึงตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มีประโยชน์จริงๆ
ตอนนี้จุฬาฯ มีคอร์สออนไลน์ที่เรียกว่า Massive Open Online Course (MOOC) ประมาณ 100 วิชา คนเรียนจำนวนหลักแสน ก็ถือว่าไม่เลว แต่ถ้าถามว่า Chula MOOC แต่ละคอร์สปรับตัวได้ทันยุคสมัยแค่ไหน ก็ขึ้นกับผู้ให้ความรู้ในแต่ละเรื่องเป็นหลัก เพราะคุณภาพก็อาจแตกต่างกันไป ถ้าหากวิชาใน MOOC ไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มันก็ไม่ต่างอะไรจากความรู้บนโลกออนไลน์อื่นๆ แค่ทำให้มันเป็นภาษาไทยเท่านั้นเอง
ในยุคนี้ คุณค่าของจุฬาฯ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เป็นสถาบันที่ให้เฉพาะความรู้แล้ว เพราะความรู้มีอยู่ทุกที่ สมัยก่อนถ้าคนอยากเรียนวิชาการจากต่างประเทศ อาจต้องมาอาศัยครูอาจารย์ของจุฬาฯ ที่ไปเรียนความรู้เหล่านี้มาจากต่างประเทศ แล้วนำกลับมาสอนคนไทยอีกที แต่ยุคนี้วิชาการจากต่างประเทศยิ่งหาง่ายกว่าเดิมอีก หาจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมาที่จุฬาฯ
ถ้าย้อนกลับมาดูภารกิจมหาวิทยาลัย จึงต้องเป็นหน่วยงานที่ทำให้นิสิตสามารถเค้นเอาความรู้ มาทำให้เกิดประโยชน์ สร้างทักษะในการ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ เมื่อนิสิตที่เรียน มีโอกาสเอาความรู้ไปใช้กับของจริง จะเกิดความรู้เฉพาะตัว เกิดทักษะ เกิดประสบการณ์ เกิดปัญญา เอามาถ่ายทอดต่อได้ จุฬาฯ จึงจะมีคุณค่าต่อสังคมต่อไป
จุดอ่อนของ MOOC แบบนี้คือผลิตขึ้นมาได้ไม่นานก็อาจก็ล้าสมัยแล้ว ถ้าเป็นความรู้ทั่วไป (generic knowledge) มีคนอื่นๆ ข้างนอกทำดีกว่าเราเยอะแยะ จุฬาฯ ไม่ควรไปทำแข่ง แต่จุฬาฯ ควรไปทำความรู้ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงหน่อย มีประโยชน์ต่อการสร้างทักษะมากขึ้น ตรงนี้ก็ต้องพัฒนากันต่อไป
อาจารย์พูดถึงว่าความรู้มีอยู่ข้างนอกจุฬาฯ ด้วย จุฬาฯ จะเอาตรงนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
บัณฑิต: ตอนนี้จุฬาฯ นำความรู้จากข้างนอกมาใช้กับการเรียนการสอนข้างในอยู่ประมาณหนึ่งแล้ว ใช้มากใช้น้อยคงขึ้นกับครูอาจารย์เป็นหลัก สิ่งสำคัญที่ยังขาดอยู่คือการเปิดประตูให้นิสิตไปเอาความรู้จากข้างนอกมา แล้วให้ “นับ” เป็นความรู้ที่หลักสูตรยอมรับด้วย ตอนนี้เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ และก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
ผมกำลังชักชวนพี่ๆ น้องๆ ให้เปิดประตูตรงนี้ เปิดประตูให้นิสิตจุฬาฯ ออกไปหาสิ่งที่ดีที่สุดข้างนอก เหมือนจุฬาฯ มีโรงอาหารที่ดีของตัวเองอยู่แล้ว แต่เปิดให้นิสิตไปหาอาหารข้างนอกทานได้ แล้วเราต้องยอมรับได้ว่าเขาออกไปทานอาหารข้างนอกนั้นอิ่มได้เช่นกัน
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า อยากให้เด็กไทยทุกคนได้พบกับครูในแต่ละวิชาที่เก่งที่สุด
บัณฑิต: เรื่องนี้อยากผลักดันมาก ผมเคยคุยกับกระทรวงศึกษาธิการเอาไว้แต่ยังไม่ค่อยเขยื้อนเท่าไร สิ่งที่ผมเชื่อคือ หากผู้เรียนได้พบกับครูผู้ให้ความรู้ที่ดีที่สุด เก่งที่สุดในสายตาของเขาเหล่านั้น ครูจะช่วยที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนได้ดีที่สุด ดังนั้น ทำอย่างไรผู้เรียนจะได้เจอครูที่ดีที่สุด ตามจริตที่เขาชอบ
ครูที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่อาจารย์ในจุฬาก็ได้ สมมติเรียนวิชาพื้นฐานทางไฟฟ้ากับอาจารย์จุฬาแล้วยังไม่ค่อยถูกจริต ยังไม่ค่อยเข้าใจ เหมือนอาจารย์ต่างชาติที่สอนผ่าน Coursera ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรให้ ไปเรียนบน Coursera ได้ เรียนที่ไหนก็ได้ขอให้ได้ประโยชน์สูงสุด
การมาร่วมทำ Degree Plus ที่มองถึงตลาดคนทำงานแล้ว เรียนจบแล้ว แต่ต้องการมาเรียนเพื่อเอาความรู้เพิ่มเติม อาจารย์มองตลาดตรงนี้อย่างไร
บัณฑิต: การมาร่วมทำคอร์สออนไลน์กับ Degree Plus มาช่วยเติมตลาดที่จุฬาฯ ทำเองไม่ทัน
ความรู้ที่สอนในมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่เป็นความรู้ทั่วไป เป็น generic knowledge แต่ความรู้ที่เป็นเฉพาะทาง specific knowledge มักอยู่ที่ระดับปริญญาโท-เอก
ดังนั้นการสอนปริญญาตรีเพื่อปั้นเด็กไปทำงาน ในอดีตเราทำได้ดี เพราะงานส่วนใหญ่เป็น discipline based คืออิงตามสาขาวิชา เช่น จบนิติศาสตร์ไปทำงานกฎหมาย จบสถาปัตย์ไปออกแบบบ้าน อันนี้เข้าใจง่าย
แต่รูปแบบงานในปัจจุบันเปลี่ยนไป เพราะต้องการความรู้ความชำนาญหลายศาสตร์ประกอบกัน ผู้เรียนต้องรู้ในเชิงกว้างมากขึ้น ดังนั้น ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยลัยที่อิงกับ “ศาสตร์” แบบต่างๆ จะปรับตัวให้เข้าตลาดแรงงานแบบใหม่ได้ช้า เพราะอาจารย์ผู้สอนมีสังกัด “ศาสตร์” ตายตัว พอมาอยู่ในโลกที่ไม่มีศาสตร์ชัดเจนรวมทั้งประสบการณ์จริง ก็จะสับสนว่างานแบบนี้จะต้องให้เข้าเรียนคณะไหน ใครมาสอนบ้าง ตกลงกันไม่ได้ว่าต้องมีใครสอนบ้าง
ดังนั้นจึงต้องมีตัวช่วย คนนอกอย่าง Degree Plus เป็นตัวช่วยหนึ่ง ที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น
ในโลกของมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ส่วนใหญ่อาจค่อยได้ไปทำงานกับภายนอก อาจยังขาดทักษะในการเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง หรืออาจ ไม่ทราบว่าความรู้ที่สอนในห้องล้าสมัยไปหรือยัง แต่ที่ผ่านมาเสมือนมีอำนาจผูกขาด นิสิตมาเรียนก็ต้องเรียนตามที่กำหนดเท่านั้น จึงมีช่องว่างเยอะระหว่างโลกการศึกษากับโลกความเป็นจริง
การมาทำงานร่วมกับ Degree Plus ที่เป็นหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าจุฬา เช่น ในโลกความเป็นจริง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การที่จะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องมี่คะแนนเต็มสิบ ขณะนี้อาจทำได้ที่ระดับ 5 คะแนน แต่ถ้าต้องการเพิ่มไปที่ระดับ 6-10 คะแนน ต้องเชิญภาคเอกชนมาช่วย
ทีมของ Skooldio และ Degree Plus ทำงานกับโลกความเป็นจริงมามาก สอนให้กับภาคอุตสาหกรรมจริง เจอปัญหาหน้างานจริง รู้ว่าโลกความเป็นจริงต้องการอะไร คาดการณ์ตลาดแรงงานได้ดีกว่า ปรับตัวรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า ในขณะที่ระบบของจุฬาฯ จะสอนอะไรต้องมี course description มาคอยกำหนด ถ้าสอนนอกจากนี้เราไม่นับอยู่ในคอร์สแล้ว แต่ในวันที่เราเริ่มเขียน course description ความรู้เหล่านั้นมันก็ล้าสมัยไปบ้างแล้ว เพราะกว่าจะอัพเดตก็ต้องรอเวลาทุก 3-5 ปี
อย่างไรก็ดีหน้างานของจุฬาฯ มันกว้างมาก ดังนั้นตัวช่วยของจุฬาฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น Skooldio หรือ Degree Plus อย่างเดียว ยังมีที่ว่างทำได้อีกเยอะมาก บางคณะก็เริ่มเอา Coursera เข้ามาสอนแล้ว
แสดงว่ามุมมองของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ไม่ต้องทำระบบ MOOC เองทั้งหมดอีกต่อไปแล้ว?
วิโรจน์: อันนี้เป็นภาพสะท้อนของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศด้วย ในอดีตทุกมหาวิทยาลัยอยากมีหน้าร้านของตัวเอง ทุกคนอยากทำ e-learning เอง แต่ตอนนี้ทุกคนเห็นภาพตรงกันแล้วว่าต้องเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพราะผู้เรียนอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ ตอนนี้มหาวิทยาลัยดังๆ ส่วนใหญ่ก็ขยับขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ กันหมดแล้ว แต่ละมหาวิทยาลัยมีจุดเด่นแตกต่างกัน นำจุดเด่นของตัวเองมาใช้ประโยชน์บนแพลตฟอร์มอีกที
วรพล: Degree Plus มีจุดเด่นเรื่องการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม รู้ว่าคนเรียนในอุตสาหกรรมต้องการเนื้อหาด้านไหน แล้วหาอาจารย์ที่เก่งที่สุดในสายงานนั้นมาสอน เรามองตัวเองเป็น marketplace มองตัวเอง ที่เอาคนเก่งๆ มาสอน
ตัวอย่างคือสายงานวิศวกรรมตอนนี้ ทุกหลักสูตร ทุกสาขา ทุกคนอยากไปทำเรื่อง AI หมด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสอนเรื่องนี้ได้ จะไปพึ่งวิศวภาคคอม แค่สอนนักเรียนของตัวเองได้ก็เหนื่อยแล้ว ทำอย่างไรเราถึงขยายความรู้เหล่านี้ไปให้คนอื่นมาเรียนด้วยได้ด้วย หลักสูตรของ Degree Plus จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนเรียนมีจำนวนได้มากขึ้น โดยที่ยังมีคนสอนเท่าๆ เดิม
ตอนนี้เรามีความร่วมมือกับอีกหลากหลายหน่วยงาน เช่น การผลิตบุคลากรเพื่อเข้าทำงานในห้องทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือการปั้นวิศวกรโรงงานเข้าเขตอุตสาหกรรม EEC โดยนำจากคนที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. มาเรียนเอาวุฒิเป็นปริญญาตรี-โท ซึ่งหลายๆ โครงการเหล่านี้น่าจะเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า 2566
การเรียนเปิดกว้างให้เรียนข้างนอกได้ แล้วการวัดผลทำอย่างไร
บัณฑิต: พอกระบวนการเรียนรู้เปลี่ยน กระบวนการวัดผลขาออกก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย จากการสอบแบบดั้งเดิมที่ทำกันมาเป็นร้อยปี ครูผู้สอนเป็นผู้ออกข้อสอบเอง ก็อาจต้องเปลี่ยน ตรงนี้ต้องปรับทั้งระบบ มหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard ทำไปก่อนแล้ว จุฬาฯ เองก็ต้องปรับตัวด้วย
ถ้าเราเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้เป็นนอกห้องเรียน กระบวนการวัดผลต้องปรับตัวตาม การสอบแบบ paperwork สองครั้ง กลางเทอม-ปลายเทอม อาจไม่เหมาะแล้ว เราต้องวัดในเชิง formative assessment มากขึ้น ปรับเปลี่ยนมาดูที่ตัวเนื้องานแทน ต้องวัดให้ได้ว่า (1) ผู้เรียนมีความรู้จริงๆ ไหม และ (2) ผู้เรียนเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ไหม
รูปแบบการวัดผลต้องทำเป็นโครงงานมากขึ้น เป็นโปรเจคต์ให้ทำ เราอาจไม่ต้องวัดผลเป็นรายวิชา แต่เปลี่ยนมาเป็นการวัดผลชุดวิชา 3-4 วิชาพร้อมกันไปเลยก็ได้ เอาผู้เรียนไปทำโปรเจคต์ ไปทำชิ้นงานออกมาให้เห็น แล้ววัดผลว่าความคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) ดีขึ้นไหม นอกจากนี้ยังต้องให้คนที่อยู่นอกสถาบันการศึกษา เช่น นายจ้าง หรือคนที่จ่ายเงินให้มาเรียนเป็นคนประเมินว่า เรียนเสร็จแล้วนำไปใช้ได้หรือไม่
วิโรจน์: อยากเสริมว่าการทดสอบว่า “ผู้เรียนฉลาดขึ้น” มีความสำคัญน้อยลง สมัยก่อนเราใช้วิธีสอบก่อน-หลังเรียน (pre/post test) เพื่อดูว่าเรียนแล้วได้คะแนนมากขึ้นไหม การวัดผลแบบนี้เริ่มเห็นน้อยลง แต่ยุคสมัยใหม่จะวัดผลว่าผู้เรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไร เช่น หากไปเรียนวิชา data สิ่งที่วัดผลคือพนักงานเอาสิ่งที่ได้จากการเรียนมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ดีขึ้น ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าผู้เรียนจะสร้างโมเดล data ได้เก่งที่สุด
วรพล: อย่างแนวโน้มในต่างประเทศ รูปแบบการวัดผลคงขึ้นกับวิชาที่เรียน เช่น เรียนการตลาดมีต้องมีทำโปรเจคต์หรือพรีเซนต์ผลงาน ส่วนการเรียนในภาพรวม ถ้าเป็นระดับปริญญาโทมีการทำ capstone project ที่ผู้เรียนต้องออกไปทำงานให้ลูกค้าจริง แล้วให้ลูกค้าคอมเมนต์เลยว่างานดีไม่ดีอย่างไร เราจะเริ่มเห็นการทำโปรเจคต์เหล่านี้ในระดับปริญญาตรีมากขึ้น
การเก็บหน่วยกิตยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่หรือไม่ ใบปริญญาจำเป็นอยู่หรือไม่
บัณฑิต: เรื่องเก็บหน่วยกิตเป็นชิ้นส่วนที่เป็นทางการ (formal) ของการศึกษา หากผู้เรียนต้องการได้ปริญญาบัตร ดังนั้นจึงต้องมีองค์ประกอบที่เป็น formal อย่างหน่วยกิตเข้ามาร่วมด้วย
หากถามว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าผู้เรียนอยากได้สิ่งที่เป็น formal อยู่ไหม
ก่อนหน้านี้ คนที่เรียนในจุฬาฯ ต้องเรียนในจุฬาฯ เท่านั้น เพื่อเก็บหน่วยกิตที่จุฬาฯ แต่โลกวันนี้เปิดโอกาสให้คนไปเรียนข้างนอกได้แล้ว ก็ขึ้นกับนโยบายของจุฬาฯ ว่าเราจะเอาสิ่งที่เป็น informal มาวัดผลให้เป็น formal ได้ไหมและได้อย่างไร เพราะการวัดผลต้องมีมาตรฐานด้วย
วิโรจน์: มหาวิทยาลัยอาจยังมองว่าทุกอย่างต้อง formal แต่ในอีกมุม ฝั่งของอุตสาหกรรม เริ่มให้ความสำคัญกับปริญญา กับการรับรองวุฒิน้อยลง เพราะนายจ้างเลือกดูความสามารถในวิชาชีพ ดูทักษะแทน คนเป็นฟรีแลนซ์ก็มาทำงานได้ โลกยุคใหม่ไม่มีใครแคร์สักเท่าไร
แต่พอไม่มีมาตรวัดใดๆ เลย คนที่ทำหน้าที่รับพนักงานเข้าไปทำงาน ก็เริ่มลังเลว่ารับคนได้ถูกต้องหรือเปล่า ในช่วงแรกๆ ของ Skooldio สอนคอร์สเสร็จแล้ว ไม่ออกใบรับรอง (certificate) ผู้เรียนเลย เพราะยังไม่กล้า ยังไม่มั่นใจในคุณภาพของตัวเองมากพอ แต่สอนไปสักพักพบว่าทุกคนที่มาเรียนขอใบประกาศ ขอใบรับรองว่าเรียนจบแล้ว และเราพบว่าบริษัทนายจ้างขอดูใบรับรองเหล่านี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการ pre-screen ก่อนรับคนเข้าทำงาน
วรพล: Degree Plus เลือกทำสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างมหาวิทยาลัย กับคอร์สแบบ Skooldio คือการ “ตัดชิ้น” หลักสูตรให้เล็กลง คล่องตัวขึ้น เป็นชุดวิชา 3-4 วิชา คนที่เรียนแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะเอาใบรับรองของชุดวิชาไปสมัครงาน หรือจะเรียนหลายๆ ชุดวิชา เพื่อเก็บหน่วยกิตไปเทียบเป็นปริญญาด้วยได้
การศึกษามหาลัยแบบเต็มขั้นเคยเป็นสิ่งที่เข้าถึงยากสำหรับคนบางกลุ่ม เพราะใช้ทั้งเวลาและเงิน แต่แนวทางของ Degree Plus คือเปิดให้คนที่ทำงานแล้ว เวลาไม่เยอะ อาจเลือกมาเรียนทีละส่วนเล็กๆ ค่อยๆ เก็บไปทีละส่วนได้ แล้วระยะยาวสามารถนำชุดวิชามาแปลงเป็นดีกรี เป็นปริญญาได้ ก็ถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ทางการศึกษาให้กับกลุ่มคนที่กว้างขึ้น
ตอนนี้คอร์สแรกๆ ของเรายังไม่สามารถเก็บหน่วยกิตได้ เพราะยังเป็นการทดสอบการสอนครั้งแรก แต่พอทำไปสักพัก รุ่นที่ 2-3 เริ่มมีมาตรฐาน เราจะออกหน่วยกิตให้ได้ ซึ่งกระบวนการพัฒนาคอร์สใหม่จนมั่นใจ มีมาตรฐานจนออกหน่วยกิตได้ ในระบบมหาวิทยาลัยอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่พอเป็นวิถีของ Degree Plus ลดระยะเวลาลงมาเหลือเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
วิโรจน์: ในอีกมุม ก็อาจให้มองว่า Degree Plus เป็นเหมือนหลักสูตรเสริมที่นิสิตนักศึกษาปริญญาตรี มาเรียนเพื่อเติมความรู้ได้เช่นกัน ภาพระยะยาวคือ เรียนตรีจุฬาฯ มีใบปริญญาจุฬาฯ ไปสมัครงาน แล้วแนบใบรับรองคอร์สต่างๆ ของ Degree Plus ไปด้วยว่าได้เรียนอะไรนอกจากหลักสูตรปกติบ้าง เติมความรู้อะไรบ้างที่ทันโลกและภาคอุตสาหกรรมต้องการ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา