เมื่ออายุขัยของมนุษย์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อย่างน้อยคนที่เกิดในปี 2017 นี้ อายุขัยเฉลี่ยจะพุ่งไปอยู่ที่กว่า 100 ปี ระบบเกษียณอายุที่ 60 ปี นอกจากจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ยังจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย
อายุขัยเพิ่มขึ้น อายุเกษียณต้องเพิ่มขึ้นตามด้วย
จากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า ในปี 2050 อัตราส่วนของคนในภาคแรงงานที่เกษียณอายุจะเพิ่มมากขึ้นจากสัดส่วน 8:1 เป็น 4:1 พูดอีกอย่างคือ ในจำนวนคนทำงาน 4 คน จะมี 1 คนที่เป็นคนเกษียณอายุ
World Economic Forum ยังบอกว่า อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์นั้นเพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นตัวเลขได้คือ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์มีอัตราเพิ่มขึ้น 1 ปี ในทุกๆ 5 ปี ดังนั้น เด็กที่เกิดในปีนี้คือปี 2017 อายุขัยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่มากกว่า 100 ปีเลยทีเดียว
อย่างในประเทศญี่ปุ่น คนที่เกษียณอายุราชการในวัย 60 ปี จะมีชีวิตอยู่ไปอีก 45 ปี หรือเรียกได้ว่าจะมีอายุถึง 100 ปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่นานมาก และที่จริงแล้วระบบเกษียณอายุการทำงานแบบเดิมถูกออกแบบมาให้มีชีวิตอยู่เฉลี่ยเพียง 10 – 15 ปีหลังการเกษียณเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้น เราจึงควรทบทวนนโยบายการเกษียณและขยับตัวเลขเกษียณอายุการทำงานให้สูงขึ้นตามไปด้วย
เพิ่มอายุเกษียณ ลดช่องว่างการออมเงิน ลดผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
อีกปัญหาหนึ่ง ถ้าไม่เพิ่มอายุการเกษียณคือ “ช่องว่างในการออมเงิน” ในสหราชอาณจักรช่องว่างการออมเงินอยู่ที่ 8 ล้านล้านเหรียญในปี 2015 และในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านล้านเหรียญ ส่วนในระดับโลกในปี 2015 อยู่ที่ 70 ล้านล้านเหรียญ และในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านล้านเหรียญ
พูดง่ายๆ คือ แนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะเก็บเงินมากกว่าใช้นั้นเป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้ายังคงใช้ระบบการเกษียณแบบเดิม ช่องว่างในการออมเงินจะสูงขึ้น สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้จ่ายจะมีอัตราที่ลดลง ในขณะที่การออมเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจโดยรวม
ตัวเลขอายุเกษียณที่เคยเสนอในรัฐบาลของสหราชอาณาจักรในเดือนมีนาคมโดยนักธุรกิจ ระบุว่า “ควรจะเพิ่มอายุการเกษียณที่ 68 ปี และการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญควรจะปรับให้สอดคล้องกับรายได้มากขึ้น”
ที่สำคัญคือ นอกจากจะต้องเพิ่มอัตราการเกษียณอายุแล้ว การสร้างสภาวะที่คนหลังวัยเกษียณกล้าใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีหรือให้การศึกษาทางการเงินก็ได้ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ที่มา – Theregister
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา