ถอดบทเรียน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทำงานเหมือน SME ทำธุรกิจ

พูดถึง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คนทั่วประเทศรู้จักดีว่าเขาทำหน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้ง ชนะการเลือกตั้งแบบคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 อย่างมาก เวลานี้ทำงานมาแล้วกว่า 4 เดือน งานหลักที่ถูกพูดถึงที่สุดหนีไม่พ้น การรับมือและแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่สิ่งที่คนทำธุรกิจโดยเฉพาะ SME น่าจะสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ คือแนวคิดการทำงานแบบ SME ของชัชชาติ

งาน Digital SME Conference Thailand 2022 จัดโดย Digital Tips มี SME จากทั่วประเทศจำนวนไม่น้อยมาร่วมงาน และหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยเขาบอกว่า SME คือหนึ่งในหน่วยธุรกิจหลักของไทยที่มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ แม้จะเป็นหน่วยธุรกิจเล็กๆ แต่สร้างเม็ดเงินคิดเป็น 34% ของ GDP

ชัชชาติ ได้เปรียบตัวเองว่าเหมือนกับ SME เพราะเริ่มต้นการทำงานด้วยตัวคนเดียว ไม่มีเงินทุนมากมาย เปิดตัวการทำงานในชุมชนเล็กๆ เน้นการเดินเพื่อรับรู้ความต้องการของประชาชน ลงพื้นที่จริงและที่สำคัญคือไม่มีสังกัดจึงทำงานได้อิสระ ต่างจาก Large Enterprise (LE) ซึ่งเหมือนกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ท่านอื่นๆ ที่มีสังกัดพรรคการเมือง

ดังนั้นจึงขอนำเสนอแนวคิดในการเริ่มต้นทำงานสไตล์ชัชชาติ ที่ SME น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยเริ่มต้นจาก 3 คำถามสำคัญ

เราเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำหรือไม่?

คำถามแรกก่อนเริ่มต้นลงมือทำ ต้องถามตัวเองก่อนว่า เราเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำหรือไม่ จะอาศัย Passion อย่างเดียวไม่พอ และอาจจะไม่รอด ต้องมีองค์ความรู้ ต้องรู้ว่าทำอย่างไร สำหรับชัชชาติเอง ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหารคน บริหารเมือง กรณึศึกษาในต่างประเทศจำนวนมาก หาแนวร่วม หาทีมงาน รับฟังและเรียนรู้จากคนที่รู้ คนที่เก่ง ซึ่งมีอยู่เยอะมาก

สำหรับ SME ก็เช่นเดียวกัน หลายคนเริ่มต้นจากตัวเองหรือคนในครอบครัว หากเป็นการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ถามตัวเองว่า นี่คือเรื่องที่เชี่ยวชาญหรือไม่ หาความรู้มากพอหรือยัง เพราะ Passion ใครก็มีได้ แต่ความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญ คือตัวชี้วัดโอกาสในความสำเร็จ

สิ่งที่เราทำเกี่ยวข้องกับโลกหรือไม่?

ตอบคำถามข้อแรกได้แล้ว มาดูคำถามข้อที่ 2 คือ สิ่งที่เราทำเกี่ยวข้องกับโลกหรือไม่ คือ เป็นเรื่องที่ตลาดมีความต้องการ มีโอกาสทางธุรกิจ ไม่ใช่ทำต่อๆ กันมา บางครั้งต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และเคารพในสิ่งที่ไม่รู้ เรียกว่านำความรู้จากข้อแรกมาปรับใช้ให้เข้ากับโลก

เช่น ในการทำงานของผู้ว่าฯ (รวมถึงการทำธุรกิจของ SME) การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ต้องหลากหลายและตรงเป้าหมาย ต้องรู้ว่า Facebook เหมาะกับคนที่อายุมากหน่อย Twitter คือวัยรุ่น Instagram คือคนหนุ่มสาวแฟชั่น และ TikTok คือกลุ่มเด็ก อะไรที่ไม่รู้ต้องลอง อะไรที่ลองแล้วต้องเรียนรู้

สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่หรือไม่?

คำถามที่ 3 คือ สนุกกับสิ่งที่ทำหรือไม่ การเป็นผู้ว่าฯ มีภารกิจ มีความคาดหวัง นอกจากการตั้งใจทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ต้องสนุกกับสิ่งที่ทำด้วย ถ้าไม่สนุกคือ จบเลย ลักษณะเดียวกับ SME ที่เป็นธุรกิจของตัวเอง ต่างจากมนุษย์เงินเดือน ที่ต่อให้ไม่สนุกก็ต้องทำและได้เงินเดือนตอบแทน แต่ SME ถ้าไม่สนุก คือ จบเช่นกัน

เมื่อถาม 3 คำถามแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การทำ Design Thinking โดยสิ่งที่ต้องมีสำหรับการทำธุรกิจ SME ประกอบด้วย Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test เป็น 5 ขั้นตอนที่ ชัชชาติ ใช้ในการทำงานจริง และนำมาปรับใช้กับ SME ได้

  • Empathize คือการเข้าใจผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุข ทั้งกับ ทีมงาน/พนักงาน และ ประชาชน/ลูกค้า
  • Define เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุด เช่น กทม. ปัญหาไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ไม่มีใจ เช่น น้ำท่วมมีโครงการอุโมงยักษ์แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเพราะท่อตัน ดังนั้นต้องมองปัญหาให้ออก การทำ SME ก็เช่นเดียวกัน
  • Ideate ต้องระดมสมอง คิดเยอะๆ หลายๆ คนช่วยกันคิดยิ่งดี หาคำตอบที่หลากหลาย อย่าตกหลุมรักกับคำตอบแรก
  • Prototype เร่ิมทำจากเล็กๆ ก่อนเพื่อดูโอกาสและความเป็นไปได้
  • Test ขยายตลาดทดสอบทดลอง และพร้อมปรับเปลี่ยนหากไม่สามารถตอบโจทย์ได้

ชัชชาติ บอกว่า หลายครั้งที่เรากระโดดไปข้อ 3 เลย คือ Ideate แต่ลืม 2 ข้อแรก และทำให้พลาดโอกาส คือ ไม่เข้าใจเพื่อร่วมงาน/กลุ่มเป้าหมาย และไม่เข้าใจปัญหา ทำให้ตอบโจทย์ผิด ผลลัพธ์ก็ยากที่จะเกิดขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา