รู้จัก Faze Clan ธุรกิจทีมอีสปอร์ตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq และมีสาขาในประเทศไทย

Faze Clan คือหนึ่งในทีมอีสปอร์ตระดับโลก มีฐานผู้ติดตามรวมกันทุกแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 500 ล้านราย และพึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ไปเมื่อเดือน ก.ค. 2022 ถือเป็นทีมแรก ๆ ที่เข้าระดมทุนในตลาด

มากกว่านั้น Faze Clan ยังเข้ามาเปิดทีมอีสปอร์ตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2020 สร้างความเข้มข้นให้วงการเกมไทยที่เวลานั้นเริ่มมีทีมจากทุนต่างชาติเข้ามาทำตลาดมากขึ้น

กว่าจะเดินมาเป็นทีมชื่อดัง Faze Clan มีที่มาอย่างไร และนอกจากทีมอีสปอร์ต Faze Clan สร้างรายได้จากธุรกิจอื่นหรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาทำความรู้จักธุรกิจนี้ให้มากขึ้นกัน

Faze Clan
ภาพจาก Faze Clan

จุดเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กยิงแม่น

Faze Clan ก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดยกลุ่มวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกาที่ชื่นชอบเกมแนว FPS หรือเกมยิงมุมมองบุคคลที่ 1 และตั้งทีมแข่งขันอีสปอร์ตเกม Call of Duty เป็นเกมแรกหลังจากนั้น 1 ปี แต่ด้วยจุดแตกต่างของทีมที่เน้นเรื่องทำเนื้อหาการยิง Trick Shot ในเกมชั้นนำทำให้ปี 2012 ช่อง YouTube ของทีมมีผู้ติดตาม 1 ล้านราย

ถือเป็นที่อีสปอร์ตทีมแรก ๆ ที่มีผู้ติดตามถึงยอดดังกล่าว มากกว่านั้นจุดต่างดังกล่าวยังดึงสปอนเซอร์เครื่องดื่มให้พลังงาน G FUEL เข้ามาสนับสนุนทีมด้วย และเมื่อเอาดีทางด้านนี้ได้ Faze Clan จึงจริงจังกับการทำเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนปี 2016 มีผู้ติดตามในทุกแพลตฟอร์มมากกว่า 100 ล้านราย

ฐานแฟน ๆ เยอะขนาดนี้จึงไม่แปลกที่ Faze Clan จะจริงจังกับการทำธุรกิจมากขึ้น ผ่านการทำแผนเพื่อช่วยเหลือเรื่องการตลาดให้กับแบรนด์ที่สนใจ ทั้งเซ็นสปอนเซอร์กับ Nissan และ McDonald’s, เป็นพาร์ตเนอร์ครีเอทีฟให้กับทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ และดึง Snoop Dogg เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทเพื่อช่วยโปรโมทอีกทาง เป็นต้น

Faze Clan Faze Clan

วางตัวเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงเพื่อคนรุ่นใหม่

แม้ตอนนี้ Faze Clan จะชนะเลิศแข่งขันใหญ่ของเกมต่าง ๆ ถึง 34 รายการ ทั้งมีฐานผู้ติดตามในทุกแพลตฟอร์มรวมกันมากกว่า 500 ล้านราย แต่แบรนด์ไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะ Faze Clan ต้องการเป็นศูนย์รวมความบันเทิงเพื่อคนรุ่นใหม่ พร้อมยกระดับให้ตัวทีมทัดเทียมกับทีมสโมสรกีฬาอื่น ๆ

โมเดลรายได้ของ Faze Clan หลังจากนี้จะแบ่งเป็น 5 ช่องทางประกอบด้วย

  • Content ที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ ผ่านครีเอเตอร์ในระบบเกือบ 100 คน ทำรายได้จากการโฆษณา
  • Brand Sponsorship จูงใจด้วยการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และสามารถทำการตลาดรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกัน
  • Esports/Gaming สร้างรายได้จากการทำทีมอีสปอร์ต เช่น การได้รางวัล หรือการซื้อขายตัวผู้เล่น
  • Consumer Product ที่นำ IP ต่าง ๆ ของ Faze Clan มาต่อยอดเป็นสินค้า และบริการ
  • International หรือการบุกต่างประเทศมากขึ้น เช่น ยุโรป และเอเชีย

ปัจจุบันมุมมองของแบรนด์ต่าง ๆ ในการเข้ามาสนับสนุนอีสปอร์ตเริ่มเปลี่ยนไป เช่น กรณีของ Faze Clan ที่เริ่มต้นมีผู้สนับสนุนเป็นสินค้าเกี่ยวกับเกม เช่น Steelseries หรือเครื่องดื่มให้พลังงาน G FUEL แต่ปัจจุบันมีแบรนด์รถยนต์ กับธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

หากเจาะไปที่รายละเอียดจะพบว่า Faze Clan ได้รับการมีส่วนร่วมจากผู้ติดตามในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น กดไลค์ หรือรีทวีต เป็นอันดับที่ 3 ของทีมสโมสรกีฬาในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้นำของทีมอีสปอร์ตจากทั่วโลกในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

Faze Clan
ดอม โชติวนิช Country Director ทีม Faze Clan ประเทศไทย

บุกตลาดไทยสร้างโอกาสรายได้ใหม่

ดอม โชติวนิช Country Director ทีม Faze Clan ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ทีมอีสปอร์ตเริ่มมองหาโอกาสการทำธุรกิจในพื้นที่เอเชียมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่นี้มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทีมชั้นนำระดับโลกยังไม่มาบุกตลาดมากนัก

“ก่อนหน้านี้หลายทีมให้ความสำคัญกับตลาดยุโรป เพราะพื้นที่นั้นมีนักกีฬาเกมแนว FPS เก่ง ๆ จำนวนมาก แต่ด้วยภาวะสงครามทำให้ทุกทีมลดความสำคัญ และหันมาบุกตลาดเอเชียมากขึ้น ซึ่ง Faze Clan คือหนึ่งในนั้น และเราก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จกับการบุกตลาดนี้”

สำหรับในประเทศไทย Faze Clan มีทีมอีสปอร์ต 1 ทีมเพื่อแข่งขันเกม PUBG โดยผู้เล่นแต่ละคนจะมีโซเชียลมีเดียของตัวเองเพื่อสร้างรายได้จากการทำเนื้อหารูปแบบต่าง ๆ พร้อมกับมีทีมงานช่วยเหลือด้านการติดต่อกับแบรนด์สินค้าเพื่อเข้ามาทำตลาดร่วมกันในวิธีต่าง ๆ

Faze Clan
ทีมนักกีฬา Faze Clan ในประเทศไทย

ยอมรับว่าขายแพง จะทำแบบทีมในไทยไม่ได้

“ด้วยการที่เราเป็นทีมระดับโลก มีสปอนเซอร์เป็นแบรนด์ชั้นนำ แถมบางแบรนด์ยังติดหน้าอกเสื้อเราไม่ได้เลย ทำให้การทำตลาดในไทยก็ยากเหมือนกัน เพราะยอมรับว่าเราขายแพง ทำให้หลัก ๆ ในการสร้างรายได้จะมาจากการทำ Branded Content กับน้อง ๆ นักกีฬาที่มีฐานแฟนคลับในไทยมากว่า”

ดอม เสริมว่า หลังจากนี้ Faze Clan จะขยายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย ก่อนขยายตลาดไปอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม เพราะเห็นโอกาสจากเม็ดเงินในธุรกิจเกม และอีสปอร์ตที่เติบโตต่อเนื่อง และยังมีทีมระดับโลกเข้าไปทำตลาดไม่มาก

ทั้งนี้ Faze Clan จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ด้วยวิธี SPAC หรือควบรวมกิจการที่จดทะเบียนในตลาดอยู่เดิม ณ วันที่ 15 ต.ค. มีมูลค่ากิจจการ 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13,000 ล้านบาท โดยในปี 2021 ทำรายได้ไปทั้งหมด 50 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,000 ล้านบาท แต่ขาดทุน 19 ล้านดอลลาร์ หรือราว 730 ล้านบาท

สรุป

Faze Clan คือทีมอีสปอร์ตชื่อดังระดับโลก มีทีมแข่งในทุกเกมชั้นนำ และมีจุดแข็งเรื่องการทำคอนเทนต์น่าสนใจจนมีครีเอเตอร์มากมายในระบบ ส่วนปีนี้ Faze Clan ตั้งเป้ารายได้ที่ 90 ล้านดอลลาร์ แต่ในไตรมาส 2 บริษัททำรายได้ 18.8 ล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมไตรมาส 1 จะอยู่ที่ 34.6 ล้านดอลลาร์ ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย

Faze Clan

อ้างอิง // Faze Clan 1, 2, PC Gamer

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา