UOB ยกเลิกแอปพลิเคชัน TMRW เหลือให้บริการแค่แอปฯ หลัก หวังตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มอายุ

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย หรือ UOB ประกาศรวม 2 แอปพลิเคชันคือ UOB Mighty กับ TMRW เหลือเพียง 1 แอปฯ ในชื่อ UOB TMRW หลังได้ฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่ปี 2019 โดย TMRW จะหยุดบริการ พ.ย. 2022

UOB TMRW

UOB กับดิจิทัลแบงก์กิ้งที่เปลี่ยนไป

เควิน แลม Head of UOB Digital และ TMRW Digital Group ของ UOB แจ้งว่า จากทิศทางการใช้บริการทางการเงินของคนไทยที่เปลี่ยนไปตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะเรื่องการใช้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางธนาคารต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสดังกล่าว

“เรามีตัวอย่างว่า ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด การใช้งานดิจิทัลแบงก์กิ้งในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 20% จากลูกค้าทั้งหมด แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 66% ถือเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ที่ใช้งานดิจิทัลแบงก์กิ้ง แต่คือคนทุกกลุ่มมีการใช้งาน”

จากจุดนี้เอง UOB จึงปรับกลยุทธ์การให้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งในประเทศไทยผ่านการรวมแอปพลิเคชัน 2 ตัวคือ UOB Mighty แอปฯ ที่ลูกค้ากลุ่มดั้งเดิมใช้บริการ กับ TMRW แอปฯ ที่ธนาคารให้บริการตั้งแต่ปี 2019 เพื่อเป็นบริการทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยทั้งสองแอปฯ จะเข้ามารวมกันในชื่อ UOB TMRW

UOB TMRW

รวม และยกเครื่องแอปฯ หลักทั้งหมด

ทั้งนี้ UOB TMRW จะเป็นการยกเครื่องแอปพลิเคชัน UOB Mighty กล่าวคือ เปลี่ยนหน้าตาการใช้งาน, การแสดงรายละเอียดข้อมูลแบบใหม่ รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ เช่น การติดต่อผ่านแชท หรือโทรฟรีผ่านแอปฯ กับเจ้าหน้าที่ แต่การรวมกันครั้งนี้ แอปฯ TMRW จะหยุดให้บริการตั้งแต่เดือน พ.ย. 2022 เป็นต้นไป

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่ให้บริการแอปพลิเคชัน UOB TMRW เพราะเกิดขึ้นหลังจากเริ่มให้บริการในสิงคโปร์แค่ 12 เดือน โดยเราใช้งบประมาณพัฒนากว่า 13,000 ล้านบาท และภายใน 24 เดือนหลังจากนี้ทยอยเปลี่ยนแปลงในประเทศมาเลเซีย, เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน UOB มีลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชันกว่า 2 ล้านรายในประเทศไทย ส่วนฐานลูกค้าของ CITI ที่ธนาคารซื้อเข้ามาจะยังใช้บริการแอปพลิเคชันเดิมจาก CITI เป็นเวลา 1 ปี ก่อนย้ายมาที่แอปพลิเคชันใหม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างโอนย้ายระบบ

ย้อนรอย TMRW ธนาคารดิจิทัลเพื่อคนรุ่นใหม่

สำหรับ TMRW เปิดตัวช่วงต้นปี 2019 ถือเป็นธนาคารดิจิทัลรายแรก ๆ ในเวลาดังกล่าว มีคู่แข่งคือ Me by TMB จุดเด่นของ TMRW ในเวลานั้นคือการเปิดบัญชีโดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร ถือเป็นธนาคารแรกที่ทำแบบนี้ในไทย โดยลูกค้าที่สนใจสามารถยืนยันตัวตนได้ผ่านแท่นยืนยันที่ตั้งอยู่ในจุดต่าง ๆ เช่น รถไฟฟ้า BTS หรือร้านอาหาร

เวลานั้น UOB มีการทำตลาดหลากหลายวิธี เช่น การทำ Music Marketing, การใช้สื่อนอกบ้าน และการใช้ KOL เพื่อปูพรมให้ลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ และเข้ามาเปิดบัญชีกับ TMRW พร้อมให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 1.6% และฟีเจอร์สนุก ๆ ที่ดิจิทัลแบงก์กิ้งธนาคารอื่นยังไม่มี เช่น เกมช่วยจัดการเรื่องเงิน และเตือนเมื่อถึงเวลาต้องออม เป็นต้น

ปัจจุบันทุกธนาคารหันมายกระดับดิจิทัลแบงก์กิ้งมากขึ้น และสร้างฟีเจอร์ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าคนรุ่นใหม่ รวมถึงลูกค้าทุกกลุ่มอายุคุ้นเคยกับดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทำให้จุดแข็งของ TMRW ค่อย ๆ หายไป และน่าจะเป็นการดีกว่าที่จะรวม 2 แอปพลิเคชันเข้าด้วยกันเพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป

UOB กำลังจะแข็งแกร่งในตลาดไทยมากขึ้นหลังเข้าซื้อฐานลูกค้าสินเชื่อของ CITI ทำให้ตัวธนาคารต้องปรับกลยุทธ์ และยกระดับบริการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบุกตลาด ซึ่งก็ต้องดูกันว่าการรวม 2 แอปพลิเคชันเข้าด้วยกันจะช่วยให้เรื่องข้างต้นเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา