กระทบพนักงานออฟฟิศถ้วนหน้า! ราคากาแฟอาจพุ่ง เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลและเวียดนามมีผลผลิตตกต่ำครั้งใหญ่ สินค้าคงคลังเหลือน้อย ไม่พอความต้องการโลก
หลายคนอาจเริ่มสังเกตแล้วว่า ร้านกาแฟร้านประจำที่ตัวเองอุดหนุนทุกวันก่อนไปทำงานยามเช้าต่างทยอยปรับราคาเครื่องดื่มขึ้นกันถ้วนหน้า แม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง All Cafe หรือ “กาแฟเซเว่น” ไปจนถึงอินทนิลเอง ก็พากันออกมาบอกกับลูกค้าว่าจะมีการขึ้นราคา 5-10 บาท
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยเท่านั้น ร้านกาแฟใหญ่ๆ ระดับโลก เช่น Starbucks ไปโรงคั่วที่ใหญ่เป็นเบอร์ต้นๆ ของยุโรปอย่าง JDE Peet’s ก็มีการปรับราคาขายเหมือนกัน
คำถามคือ ทำไมร้านกาแฟทั่วโลกถึงต้องพากันขึ้นราคาครั้งใหญ่? เกิดอะไรขึ้นกับตลาดกาแฟทั่วโลก? วันนี้ Brand Inside จะพาทุกท่านไปหาคำตอบเรื่องนี้พร้อมๆ กัน
กาแฟไม่พอ ราคาก็พุ่ง
หลังจากต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านกันไปนาน ผู้คนต้องการดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมาความต้องการกาแฟเพิ่มขึ้น 2% เทียบกับปีก่อน ส่วนก่อนหน้านั้นก็เพิ่มขึ้นมา 1.5% พูดง่ายๆ คือหลังจากโควิดเริ่มทุเลาจากการระบาดในช่วงแรกๆ ความต้องการกาแฟก็เพิ่มขึ้น 2 ปีติด จากข้อมูลของ hEDGEpoint Global Markets บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก
ข่าวร้ายคือ แม้ความต้องการจะโตต่อเนื่อง แต่ผลผลิตกลับไม่ได้โตตามไปด้วย
เพราะตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ก็มีข่าวอยู่เนืองๆ ว่า ประเทศผู้ผลิตกาแฟชั้นนำ เช่น บราซิล เวียดนาม โคลอมเบีย และประเทศอื่นๆ ต้องเผชิญสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนผลผลิตไม่ดีอย่างที่คิด
เข้าสูตรเศรษฐศาสตร์พื้นฐานคือ “demand สูง + supply ต่ำ = ราคาพุ่งทะยาน”
ผู้ผลิตกาแฟเบอร์ 1 และ 2 เจองานหนัก
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สถานการณ์ในบราซิล ประเทศผู้ผลิตเมล็ดกาแฟเบอร์ 1 ซึ่งผลิตกาแฟราว 1 ใน 3 ของทั้งโลกกำลังน่าเป็นห่วง เพราะนักวิเคราะห์มองว่าปริมาณกาแฟ (กระสอบ 60 กิโลกรัม) ที่ควรมีในคลังของบราซิลจะต้องอยู่ที่ 9-12 ล้านกระสอบ แต่ตอนนี้บราซิลมีเพียง 7 ล้านกระสอบ หรือราวๆ 60% เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่ากาแฟที่มีอยู่ในคลังสินค้าในท่าเรือ เหลือน้อยที่สุดในรอบ 23 ปี นี่คือเรื่องที่ซ้ำเติมสถานการณ์การขาดแคลนเมล็ดกาแฟในระดับโลกอย่างหนัก
สถานการณ์ในเวียดนาม ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟอันดับ 2 ที่ผลิตกาแฟได้เกือบ 1 ใน 5 ของที่ผลิตได้ทั้งโลกก็ไม่ได้ต่างกันนัก เพราะจากการสำรวจพบว่าปริมาณเมล็ดกาแฟในคลังจนถึงสิ้นเดือนนี้จะอยู่ที่ 200,000 ตัน น้อยกว่าเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาซึ่งมีเมล็ดกาแฟในคลัง 400,000 ตัน
แถมยังมีการคาดการณ์กันอีกว่าผลผลิตในปี 2022-23 จะลดลงราว 6% เหลือ 1.72 ล้านตัน
เมื่อวิกฤตภูมิอากาศ รุกคืบถึงปากท้อง
ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวหรืออย่างน้อยๆ คือมองว่าเป็นปัญหาแต่จะยังไม่ส่งผลอะไรในระยะสั้น แต่ผลผลิตที่ตกต่ำซึ่งอาจดันราคากาแฟขึ้นไปอีก คือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า วิกฤติภูมิอากาศแยกไม่ขาดกับเรื่องชีวิตประจำวัน เพราะการผลิตทางเศรษฐกิจในแง่หนึ่งแล้วคือการหยิบบางสิ่งมาจากระบบนิเวศ
สภาพปัจจุบันในบราซิลคือ สินค้าในคลังเหลือน้อยจนแทบไม่เพียงพอกับความต้องการต่อให้ผลผลิตปีหน้าจะดีก็ตาม ซึ่ง Nelson Carvalhaes หนึ่งในคณะกรรมการผู้ส่งออกกาแฟในบราซิล บอกว่า “สิ่งที่เราต้องการก็แค่ฝนเท่านั้น”
บราซิลกำลังเจอภัยแล้งที่ยืดเยื้อตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และนี่ยังเป็นภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของบราซิล นอกจากนี้ ปัญหาภูมิอากาศยังกระทบประเทศอื่นๆ ในอเมริกากลางและใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟชั้นนำ ส่วนเวียดนาม ผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้าเบอร์ 1 ของโลก ก็ประสบปัญหาสินค้าคงคลังลดลงและผลผลิตที่อาจย่ำแย่ในปีหน้า
ตอนนี้ ตลาดกาแฟต้องเผชิญกับความต้องการซื้อที่มากกว่าผลผลิต 2 ปี ติดต่อกัน ประโยคนี้อาจฟังดูไม่มีอะไรพิเศษ แต่ Natalia Gandolphi นักวิเคราะห์จาก hEDGEpoint ระบุว่า นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในตลาดนี้
ราคาพุ่ง From Bean to Bar
ถามว่าปัจจุบันราคากาแฟไปไกลแค่ไหน? ตอบได้เลยว่าราคาพุ่งขึ้นไปแล้วเกิน 1 เท่าตัว เทียบกับปี 2019 จาก 100 ดอลลาร์/ปอนด์ ปัจจุบัน ราคากาแฟอยู่ที่ 220 ดอลลาร์/ปอนด์ จากข้อมูลของ Trading Economics
นอกจากนี้ ราคาสัญญาซื้อขายกาแฟล่วงหน้าใน New York Futures Exchange เพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 11% จากปีก่อนหน้า นักวิเคราะห์ชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ความไม่แน่นอนของการผลิตกาแฟในประเทศบราซิล
แม้แต่ในประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดเอง ราคากาแฟก็พุ่งขึ้นไม่ต่างกัน โดยราคากาแฟกระสอบในเซาเปาโลเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 19% เทียบกับปีก่อน จากข้อมูลของ University of Sao Paulo
และไม่ใช่แค่เชนใหญ่ระดับโลกเท่านั้นที่มีการปรับราคากาแฟขึ้น เพราะล่าสุด แบรนด์กาแฟหลายเจ้าในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น All Cafe (กาแฟเซเว่น) Inthanin หรือ Cafe Amazon ก็แจ้งกับลูกค้าแล้วว่าจะมีการปรับราคาเครื่องดื่มขึ้นราว 5-10 บาท โดยให้เหตุผลเรื่องต้นทุนเป็นหลัก
สะท้อนชัดว่า ปัญหาภูมิอากาศกระทบชีวิตประจำวันมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยเข้าใจ
ที่มา – Bloomberg, SCMP, Visual Capitalist
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา