สมาคมวิชาชีพโฆษณา เตรียมส่ง “รัฐธรรมนูญเซ็นเซอร์” ตั้งกรรมการคุมทีวีดิจิทัล หลังเจอโฆษณาเกินจริง

นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ในวงการเซ็นเซอร์โฆษณาทีวี นอกจากแต่ละช่องจะต้องเซ็นเซอร์ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีคณะกรรมการร่วมที่ส่งมาแต่ละช่องทำงานร่วมกันอีกที แต่ตอนนี้วงการโฆษณาบนทีวีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปมาก รูปแบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพแล้ว สมาคมวิชาชีพโฆษณาและทีวีดิจิทัลรวมตัวกันตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุม พร้อมส่ง “รัฐธรรมนูญเซ็นเซอร์โฆษณา” ที่จะเป็นกฎสูงสุดในการควบคุมจัดการโฆษณาที่มีปัญหา

มาตรฐานในวงการโฆษณา ว่าด้วยการเซ็นเซอร์

ด้วยการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลกว่า 24 ช่อง (ปัจจุบันเหลือ 22 ช่อง) หนึ่งในปัญหาคือ “การโฆษณา” เพราะต้องยอมรับว่าในวงการโทรทัศน์ถูกหล่อเลี้ยงด้วยเม็ดเงินจากโฆษณา ตัวเลขมูลค่าแต่ละปีไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้าน แน่นอนว่าจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นมาพร้อมกับการตั้งคำถามถึงมาตรฐานของการโฆษณา

ด้วยปัญหานี้ 4 สมาคม ได้แก่ สมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) เตรียมจัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์” เพื่อมาดูแลเซ็นเซอร์การโฆษณาทางโทรทัศน์

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา กระบวนการเซ็นเซอร์บนสื่อโทรทัศน์จะทำ 2 ขั้นตอนคือ อย่างแรกแต่ละช่องจะกำกับดูแลตัวเอง หรือที่เรียกว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว ขั้นต่อมาจะต้องส่งไปที่คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ที่จะมีตัวแทนของช่องหลัก 3 5 7 9 และสมาคมโฆษณาร่วมด้วย แต่ปัญหาคือการเพิ่มขึ้นของโฆษณาบนทีวีดิจิทัลทำให้ระบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพ จากตัวเลขระบุว่ามีโฆษณาให้พิจารณาต่อปีถึง 18,000 ชิ้น และแม้จะไม่มีปัญหามากนัก เพราะมีการร้องเรียนมาในแต่ละปีไม่ถึง 1 – 2 ชิ้น แต่การไม่มีมาตรฐานร่วมกันจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

คณะกรรมการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และจะทำงานอะไรบ้าง?

การรวมตัวกันของคณะกรรมการเป็นไปตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553 และพ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมีการรวมกลุ่มเป็นองค์กร เพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพ และให้ทำการคุมกันเองภายใต้ กฎหมาย และมาตรฐานทางจริยธรรม

ส่วนการทำงานของ “คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์” จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการจัดตั้งจะประกอบด้วย ผู้แทนจากสถานีหลักเดิมได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, MCOT, TPBS, NBT, และผู้แทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง ผู้แทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯ 2 ช่อง และผู้แทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการฯ) รวม 11 คน

จากซ้าย-ขวา 1.คุณวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย 2.คุณสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) 3.คุณอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย 4.คุณเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 5.ดร.นิวัต วงศ์พรหมปรีดา อุปนายกฝ่ายส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการนี้จะมีหน้าที่กำหนดนโยบายและระเบียบการปฏิบัติงานใน 4 ขั้นตอน

1. จะทำการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ในการเซ็นเซอร์โฆษณาร่วมกัน หมายความว่าจะเป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวร่วมกัน เป็นเสมือน “รัฐธรรมนูญเซ็นเซอร์โฆษณา” ที่วงการโทรทัศน์และโฆษณาต้องปฏิบัติตาม 2. คัดกรองโฆษณาร่วมกันเบื้องต้น 3. มีหน้าที่ในการเซ็นเซอร์โฆษณาว่าผ่านหรือไม่ผ่าน 4. หากโฆษณาทางโทรทัศน์ผ่านการเซ็นเซอร์ ได้ออกอากาศ แต่มีการร้องเรียนว่ามีปัญหา คณะกรรมอีกชุดซึ่งเป็น “คณะกรรมการด้านคุณธรรม-จริยธรรม” จะนำเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาอีกครั้งว่าสมควรจะระงับการเผยแพร่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้

โดยกฎหมายที่จะออก (พ.ร.บ.) คาดว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 35 ฉบับ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องคือ กสทช. อย. และ สคบ. ที่เน้นย้ำเพิ่มเติมคือ สมาคมทำงานรวดเร็วกว่าภาครัฐอย่างแน่นอน และภาครัฐไม่ต้องออกกฎหมายเพิ่ม สามารถเอาเวลาไปพัฒนาประเทศส่วนอื่น เพราะอำนาจการตัดสินใจเรื่องโฆษณาเป็นของคณะกรรมการชุดนี้หมดแล้ว

ปัญหาเกิดจากมาตรฐานไม่ตรงกัน กรณีศึกษาโคเรียคิง

มาตรฐานเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในวงการโฆษณา อย่างล่าสุดกรณีโคเรียคิงที่มีปัญหาว่าโฆษณาเกินจริง สคบ. เรียกว่าโฆษณาแบบ Fake Original Price แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือโฆษณาลวงหรือเกินจริงนั้น คือแค่ไหนและอย่างไร?

Korea King Gold Series

แต่ถึงที่สุด หากใช้ระบบเดิม คือใช้มาตรฐานที่แต่ละช่องควบคุมเองจะเกิดปัญหา เพราะถ้าช่องนี้มองว่าโฆษณาเจ้านี้มีปัญหา เขาจะไม่รับโฆษณา (หมายความว่าไม่ได้เงิน) ในขณะที่อีกช่องมองว่าโฆษณานี้ไม่มีปัญหา เขาก็รับมาโฆษณา (แน่นอนว่า เขาได้เงิน) ท้ายที่สุดกระบวนการนี้จะมีปัญหาในเรื่องความเป็นธรรม (หรือหลายคนอาจจะเรียกว่าปัญหาเชิงศีลธรรม-จริยธรรม)

สรุป

ถ้ามองดูแล้ว “คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีเพื่อต้องการกำกับโฆษณาภายใต้มาตรฐานหนึ่งเดียวในยุคดิจิทัล ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นเพื่อไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยการส่งกฎสูงสุดในการเซ็นเซอร์โฆษณาหลังจากนี้ เสมือนเป็น “รัฐธรรมนูญ” ที่ทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกัน

แต่ต้องอย่าลืมว่า ในโลกยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มที่หลากหลาย มีอะไรมากไปกว่าวงการโทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่โฆษณากันอย่างแทบจะไม่มีมาตรฐานกลางอะไรเลย แต่คำถามนี้สมาคมโฆษณาและทีวีดิจิทัลตอบมาว่า “เราทำในส่วนของเราให้ดีก็พอ ทำให้เป็น Benchmark (เกณฑ์มาตรฐาน) เชื่อว่าวันหนึ่งภาคประชาสังคมจะไปกดดันให้(สื่อออนไลน์)ทำตามเอง”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา