ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน แนวทาง Digital Transformation ของ AIS เริ่มต้นที่ “คน”

การประกาศความเป็น Digital Life Service Provider ของ AIS ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ แล้วทุกอย่างยังคงเดิม แต่นี่คือการทำ Digital Transformation ครั้งสำคัญของหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องก้าวผ่านกับดักความสำเร็จในอดีต และมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย

อีกครั้งที่ Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม Chief Human Resources Officer หรือ CHRO สะท้อนให้เห็นว่า AIS ให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” มากที่สุด เพราะนี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ และนี่คือเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา ของผู้ให้บริการอันดับ 1 แห่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม Chief Human Resources Officer ของ AIS

ความเปลี่ยนแปลง บางทีการผลัดใบ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกองค์กร

ถ้าการรักษาประสิทธิภาพทางธุรกิจคือหัวใจหลักท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด การเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และต้องเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับ Chief Executive เพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรสู่ Next Generation

สำหรับ AIS แนวทางที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ไม่ได้รับเลือกจากมุมมองความพอใจส่วนตัว หรือเลือกจากอายุงานที่มากขึ้น แต่มาจากผลงาน ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานเป็นหลัก เรื่องอายุงานทุกวันนี้ กลายเป็นปัจจัยรองลงไป รุ่นน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่มีศักยภาพก็อาจเติบโตขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้หมด  และมีส่วนผสมทั้งมืออาชีพจากภายนอกองค์กร และคนในที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นส่วนผสมที่ลงตัว กลุ่มคนรุ่นใหม่จะนำมุมมองความคิดที่แตกต่าง ขณะที่ คนภายในจะมีประสบการณ์ที่แข็งแกร่ง ร่วมกันทำให้เกิด diversity หรือความหลากหลายขึ้น ผลที่ตามมาคือ ได้การสร้างสรรค์บนพื้นฐานประสบการณ์ที่แข็งแรง เพื่อรักษาความเป็นอันดับ 1 ที่คู่แข่งจะสู้ได้ยากต่อไป

กับดักแห่งความสำเร็จ อุปสรรคใหญ่ของ AIS

“กับดักความสำเร็จ” คือ อุปสรรคใหญ่ที่สุดของ AIS ความยากที่สุด คือ การต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า “ทำไมต้องเปลี่ยน ทำไมต้องก้าวข้ามความคุ้นเคย ในเมื่อ AIS เป็นที่ 1 มาโดยตลอด”

แต่ความเป็นจริง สิ่งที่รักษาความเป็นอันดับ 1 คือ การเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโลกเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกที ต้องยอมรับว่า ใครที่ยังยึดติดอยู่เพียงความสำเร็จในอดีต แต่ไม่มีการประยุกต์ผสมผสาน เพื่อรับความต้องการของลูกค้าให้ทัน ทำเฉพาะที่เคยชิน ไม่พร้อมจะเปลี่ยน ก็อาจต้องผันออกไปจากองค์กร

“การแต่งตั้งผู้บริหาร หรือหัวหน้าทีม จากความสามารถและประสิทธิภาพเป็นปัจจัยหลักแทนที่อายุงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจทำให้หลายคนอกหัก ไม่ได้เลื่อนขั้น ถอนตัวไปก็ไม่ใช่เรื่องใครผิดถูก แต่อยู่ที่การเปิดใจและสามารถปรับจังหวะทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทำให้มีผู้บริหารระดับ Next Gen ที่มีศักยภาพเติบโตขึ้นมาทำงานบริหารด้วยพลังสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือความคิดบวก”

ระบบและกติกาใหม่ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจอยู่บ้าง แต่สุดท้ายจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานแบบมืออาชีพให้เกิดขึ้น

5 Bucket พัฒนาคนในแบบของ AIS

กานติมา บอกว่า เมื่อองค์กรกำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญมากอีกประการคือ องค์กรต้องช่วยให้พนักงานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วย เป็นการดูแลกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพื่อให้ทุกคนพร้อมจะวิ่งไปด้วยกัน จึงเกิดเป็นโปรแกรม 5 Bucket
เพื่อช่วยพัฒนาคนในแบบของ AIS ดังนี้

Blooming คือ กลุ่มคนที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานใหม่ ผู้เป็น Generation ใหม่ ที่มีศักยภาพ พร้อมจะก้าวเป็นอนาคตขององค์กรต่อไป

Emerald คือ กลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรมาระยะเวลาหนึ่ง และมีศักยภาพพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน

Gold คือ กลุ่มผู้จัดการ ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำทีม มีบทบาทและความรับผิดชอบมากขึ้น

Diamond คือ กลุ่มที่กำลังโตขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง มีทักษะความสามารถที่จะดูแลภาพรวมในสายธุรกิจได้

Platinum คือ กลุ่มที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารที่ดูภาพรวมขององค์กรหรือระดับ C – Level

ทั้ง 5 Bucket จะให้การศึกษาแบบต่อเนื่อง สร้างการพัฒนาคนในทุกระดับ โดยมีการร่วมมือกับสถาบันในระดับสากล เช่น Harvard Business School ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรผู้นำ การพัฒนาจะต้องสอดคล้องกับ Individual Development Plan (IDP) นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านความร่วมมือจากสถาบัน MIT เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมธุรกิจของ AIS รวมถึง ยังเป็นแหล่งรวม startup ระดับโลกด้วย และเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดตัวอีกหลายสถาบันที่ได้ยอมรับในระดับสากลที่จะมาเป็นพันธมิตรในการสร้างคุณภาพเพิ่มเติม

AIS Academy รองรับ Generation ใหม่ที่กำลังมาถึง

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการใน AIS คือการเริ่มต้น AIS Academy เป็นเสมือนโรงเรียนพัฒนาบุคลากร ที่มี 3 ส่วนหลัก คือ Design กำหนดหลักสูตรมาตรฐาน E-learning และ ระบบ Digital ที่ออกแบบหลักสูตรที่เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
Training การส่งคนเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มศักยภาพยังคงดำเนินต่อไป แต่มุ่งเน้นเรื่องการขยายมุมมองและการค้นพบความแตกต่างที่จำนำมาต่อยอดความแข็งแรง

ปัจจุบัน พนักงานของ AIS มีสัดส่วนของ Gen Y กว่า 70%, Gen X 28% และ Gen B ที่เหลือไม่ถึง 2% ขณะที่ Gen Z กำลังจะเข้ามาในองค์กร รูปแบบการพัฒนาคนในองค์กรก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อรองรับกับคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามา

AIS Academy จะเป็นสถาบันที่เน้นการพัฒนาคน เพื่อพัฒนาองค์กร สร้างความพร้อมในอนาคต

สรุป

การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาคน การพัฒนาองค์กรของ AIS เพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ สามารถรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลูกค้าต้องการอะไร AIS จะรู้และเข้าใจ และดูแลให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งลูกค้าไม่ใช่เพียงผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่หมายถึง “พนักงาน” ของ AIS เองด้วย นี่คือทิศทางของ AIS ที่ต้องสามารถตอบความต้องการที่แตกต่างกันได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา