โนเกีย ยังไม่ทิ้งตลาดโทรศัพท์มือถือปุ่มกด หรือฟีเจอร์โฟน ล่าสุดส่ง 8210 4G ฟีเจอร์โฟนที่ได้แรงบันดาลใจจากรุ่นท็อปเมื่อ 20 ปีก่อน มาจำหน่ายในไทย ตั้งราคา 2,990 บาท พร้อมรุ่นใหม่อีก 2 รุ่น ตั้งเป้ายึดเบอร์ 1 ในตลาดนี้ ผ่านยอดขาย 50% ของตลาดที่มีจำนวนหลักล้านเครื่อง
โนเกีย กับการปัดฝุ่นรุ่นเก่าลงสนาม
ภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล (HMD) ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก โนเกีย ในการทำการออกแบบ และทำการตลาดสินค้าของแบรนด์ เล่าให้ฟังว่า ความต้องการโทรศัพท์มือถือปุ่มกด หรือฟีเจอร์โฟน ยังมีอยู่ต่อเนื่องในประเทศไทย สังเกตจากภาพรวมยอดขายที่ยังวิ่งอยู่หลักล้านเครื่องทุกปี
“ถึงตอนนี้สมาร์ตโฟนจะครองตลาด แต่ฟีเจอร์โฟนยังมีการใช้งานอยู่ สังเกตจากยอดขายของตลาด และของโนเกียที่ยังเดินหน้าอยู่ โดยในประเทศไทยเราทำตลาดอยู่ 7 รุ่น กินส่วนแบ่งมือถือปุ่มกดในตลาดไทยอยู่ราว 50% ส่วนในระดับโลกเราก็ยังเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน”
ล่าสุดส่ง 8210 4G ฟีเจอร์โฟนรุ่นใหม่ที่นำรุ่นที่เปิดตัวเมื่อปี 1999 มาปรับปรุง หน้าตามีรูปแบบคล้ายเดิม หน้าจอ 2.8 นิ้ว กล้องความละเอียด VGA ถ่ายวีดีโอได้ รองรับ 4G ราคา 2,290 บาท ทั้งเปิดตัว 5710 XpressAudio ฟีเจอร์โฟนที่มีหูฟังไร้สายในเครื่องราคา 2,690 บาท กับ 2660 Flip ฟีเจอร์โฟนฝาพับราคา 2,490 บาท
โนเกีย กับทางเดินที่แตกต่างในตลาด
ปัจจุบัน สมาร์ตโฟนกินสัดส่วนการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือทั้งในตลาดไทย และระดับโลก ซึ่งผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเกือบทุกรายต่างมีรายได้จากสมาร์ตโฟนเป็นหลัก แต่ไม่ใช่กับ โนเกีย ที่ในประเทศไทยมีสัดส่วนยอดขายหลักมาจากฟีเจอร์โฟน
“ถึงเราทำตลาดสมาร์ตโฟน 9 รุ่น มากกว่าฟีเจอร์โฟนที่ทำตลาด 7 รุ่น แต่ยอดขายของเราในแง่จำนวน (Volume) จะมาจากฟีเจอร์โฟน 70% และหากนับตามมูลค่า (Value) จะคิดเป็น 60% ดังนั้นฟีเจอร์โฟนจึงมีความสำคัญกับเรา และในอนาคตจะมีรุ่นต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มเติม”
กลยุทธ์ขายรุ่นเก่าทำใหม่ยังจุดกระแสได้
ก่อนหน้านี้ โนเกีย เคยนำรุ่นในตำนานอย่าง 3310 มาจำหน่ายในหน้าตาใหม่ แต่ด้วยตัวสินค้ารองรับแค่ 3G จึงยกเลิกการทำตลาดไปแล้ว แต่การนำรุ่นเก่านี้มาทำตลาดก็สร้างกระแสได้ไม่น้อย นอกจากยังมีการนำ 8110 ที่มีฉายา มือถือกล้วย กลับมาทำตลาดเช่นกัน ดังนั้นการนำรุ่น 8210 4G มาขายใหม่ ถือเป็นการตอกย้ำถึงกลยุทธ์นี้
สรุป
โนเกีย อาจปรับตัวไปทำตลาดสมาร์ตโฟนได้ลำบาก เพราะทั้งการแข่งขันที่สูง และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นการมุ่งไปทำเรื่องที่ตัวเองถนัดอย่างฟีเจอร์โฟนจึงเป็นคำตอบที่ดี แม้ตัวเครื่องมันจะตกยุคแล้ว แต่ถ้าครองตลาดเล็ก ๆ นี้ได้ ก็ช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนเช่นกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา