เมื่อพูดถึง Sharing Economy เราก็จะคุ้นเคยกับบริการแชร์รถกันอย่าง Uber และบริการแชร์ที่พัก Airbnb แต่ในต่างประเทศเขามีแชร์ทำอาหารกันด้วย ให้ใครก็ได้ที่มีฝีมือทำอาหาร มีเวลาอยู่ที่บ้าน อาจจะตกงาน หรือต้องเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน มาทำอาหารขายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง คนไทยอาจยังไม่คุ้นกับบริการทำนองนี้ แต่ต่างประเทศค่อนข้างมีความตื่นตัว นอกจากเป็นช่องทางรายได้ ยังเป็นหนทางแก้ปัญหาขยะจากอาหาร และอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน
บริการที่เรากำลังพูดถึงคือ Josephine เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ให้คนทั่วไปสมัครเข้ามาเป็นพ่อครัวแม่ครัว ทำอาหารขายคนบ้านใกล้เรือนเคียง ให้บริการในสหรัฐฯ
Josephine ก่อตั้งในเมืองโอคแลนด์เมื่อปี 2014 โดย Tal และ Charley ชาวต่างชาติที่อาศัยใน LA และได้มีโอกาสไปที่บ้านของ Josephine Miller แม่ของเพื่อนพวกเขา Josephine ทำอาหารให้ทานกัน ด้วยรสชาติอาหารและบรรยากาศอบอุ่นในบ้านทำให้ทั้งสองเกิดแนวคิดก่อตั้ง Josephine ขึ้นมา
เงื่อนไขคนที่จะมาประกอบอาหารกับ Josephine คือต้องมีใบรับรองการประกอบอาหารในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Food Handler Card)
ขั้นตอนมีสามอย่าง คือ สมัคร สัมภาษณ์ และฝึกอบรม ก่อนที่ผู้สมัครจะทำอาหารมื้อแรกขายเพื่อนบ้าน ทีมงานจะลงพื้นที่ตรวจดูความเรียบร้อยของห้องครัวของผู้สมัคร กฏเกณฑ์ไม่ซับซ้อน เพียงแค่ให้แน่ใจว่า เก็บอาหารไว้เหนือพื้นต่ำกว่า 6 ฟุตหรือไม่ อุณหภูมิในตู้เย็นเหมาะแก่การเก็บอาหารไหม ห้องครัวสะอาดสามารถต้อนรับเพื่อนบ้านเข้ามานำอาหารกลับไปหรือไม่
เมื่อผ่านกระบวนการทุกอย่าง พ่อครัวแม่ครัว จะรับออร์เดอร์ลูกค้าผ่านเว็บไซต์ คนทำอาหารต้องกำหนดเมนูและราคาเอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนทำจะทำอาหารที่ตนถนัด ค่าอาหาร 90% จะเป็นของคนทำ และ Josephine จะเก็บไว้ 10% เป็นค่าคอมมิชชั่น
ธุรกิจนี้มีคนตอบรับอยู่เรื่อยๆ มีจำนวนคนครัวสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้แม่บ้าน คนตกงาน ผู้อพยพในการสร้างรายได้
ทุกอย่างดูเหมือนกำลังจะไปได้สวย แต่สตาร์ทอัพเกิดใหม่ หนีข้อจำกัดด้านกฎหมายยาก แม้บริษัทใหญ่โตอย่าง Uber และ Airbnb ก็ต้องต่อสู้อยู่เนืองๆ Josephine เองก็ต้องหาทางดิ้นรนเช่นกัน
Josephine ได้รับเอกสารแจ้งเตือนจากหน่วยงานรัฐให้ยุติการให้บริการ ด้วยเหตุผลว่าให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดอาญา (facilitation) และผิดระเบียบเรื่องการทำอาหารเพื่อการค้าในแคลิฟอร์เนียอีกด้วย
ระเบียบของรัฐแคลิฟอร์เนียมีอยู่ว่า ในการทำอาหารขาย ต้องมีอ่างเตรียมอาหารขนาดกว้าง x ยาว 18 นิ้ว ลึก 12 นิ้ว เป็นอย่างน้อย และต้องมีอ่างแยกสำหรับล้างภาชนะ มีหลอดไฟแขวนไว้ด้านบน ทนทานและปกคลุมมิดชิด ที่เปิดกระป๋องต้องสะอาดและสามารถถอดตัวเจาะออกมาล้างได้ มีกฎระเบียบสำหรับครัวอีกมากมายซึ่งอาจต้องใช้เงินถึง 50,000 ดอลลาร์ ในการทำครัวให้ถูกระเบียบสุขอนามัย
คำถามสำคัญสองข้อ สำหรับครัวตามบ้านเรือน เพียงแค่จะทำอาหารขายเพื่อนบ้าน ต้องทำลงทุนทำครัวใหม่งั้นหรือ? และถ้าสิ่งที่หน่วยงานรัฐกังวลคือสุขอนามัย ครัวตามบ้านเรือนก็น่าจะตอบโจทย์เรื่องความสะอาดไม่ใช่หรือ?
ในสหรัฐฯ มีแค่ 9 มลรัฐ ที่สามารถนำอาหารโฮมเมดออกขายได้ (ยกเว้นอาหารจากสัตว์ปีก) แต่รัฐอื่นรวมทั้งแคลิฟอร์เนียทำอาหารขายได้แค่พวกธัญพืช ป็อปคอร์น ผลไม้แห้งเท่านั้น และการทำอาหารขาย ต้องมีห้องครัวที่ออกแบบมาเพื่อการค้าตามที่ระบุไว้ข้างต้น แน่นอนว่าปิดโอกาสของ Josephine อย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามมีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เช่น Janelle Orsi ผู้อำนวยการ SELC องค์กรสนับสนุนเศรษฐกิจยั่งยืน ระบุว่า มีคนมากมายที่ไม่พน้อมจะจ่ายค่าเช่าทำร้านอาหาร การบังคับใช้กฎหมายนี้จะผลักดันให้คนไปหาช่องทางลับๆ หรือทำแบบผิดกฎหมายใต้ดิน
เมื่อมาดูข้อมูลสุขภาพของคนสหรัฐฯ 48 ล้านคน ร่างกายไม่แข็งแรง 128,000 คน ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และมี 3,000 คน เสียชีวิตจากการกินอาหารแบบผิดๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาโรคอ้วน จนรัฐบาลต้องออกนโยบายสนับสนุนการออกกำลังกาย ลดกินฟาสต์ฟู้ด ดังนั้น Josephine จึงมีแนวโน้มช่วยลดวิกฤตนี้ เพราะเป็นอาหารโฮมเมดตามความถนัดของคนทำ ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ด หรือของขบเคี้ยวตามท้องตลาดและห้างสรรพสินค้า
ส่วนที่หน่วยงานรัฐกังวลคือ ปัญหาด้านความสะอาด สุขอนามัย ถ้าทำอาหารในครัวการค้าแบบมาตรฐาน ก็มีคนตั้งข้อสังเกตอีกว่า ร้านอาหารทั่วไปจะเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบความสะอาดปีละ 1-2 ครั้งแต่ Josephine ลูกค้าต้องมาที่บ้านคนทำอาหารเพื่อรับอาหารกลับ ถ้าบ้าน A มีลูกค้าสั่งอาหารทุกวัน นั่นหมายความว่าจะมีลูกค้ามาในครัวทุกวัน ถ้าครัวสกปรก ลูกค้าก็รับไม่ได้ และเรตติ้งบ้าน A ในเว็บไซต์ก็จะแย่ไปด้วย อีกอย่าง ครัวในบ้าน A ก็คือครัวเดียวกันกับที่ใช้ทำอาหารกินเอง จึงยากที่เจ้าของบ้านจะปล่อยให้สกปรก เต็มไปด้วยเชื้อโรค
Josephine จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ไปต่อได้
Josephine หาทางประนีประนอมกับหน่วยงานรัฐ ด้วยการปรับเปลี่ยนเว็บไซต์ให้คนที่สั่งอาหารต้องลงทะเบียน เสนอขอให้พิจารณาแก้กฎหมายเรื่องครัวทำอาหารเพื่อการค้า ว่าพอจะมีทางเป็นไปได้ไหม ที่ครัวตามบ้าน จะสามารถทำอาหารขายได้
แต่เจ้าหน้าที่เองก็มีเหตุผลที่ต้องระงับการให้บริการ Josephine เพราะมีผู้ร้องเรียนไปยังกรมสุขภาพในพื้นที่ว่ามีอาการท้องไส้ปั่นป่วน หลังกินอาหารจากบ้านหลังหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นคนครัวให้ Josephine แม้แม่ครัวคนนั้นจะไม่ได้รับฟีดแบ็คทางลบจากลูกค้าเลยก็ตาม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังกลัวว่าถ้ามีการแก้กฎหมาย จะสร้างช่องโหว่ให้ร้านอาหารอื่นละเลยมาตรฐานการดูแลรักษาความสะอาดของอาหาร
อย่างไรก็ตาม Josephine กำลังหาทางต่อสู้ประนีประนอมกับหน่วยงานสุขภาพ ซึ่งพอจะยื้อให้บรรดาผู้ถือห้นสบายใจที่จะทำธุรกิจต่อไปได้สักระยะหนึ่ง แต่ถ้าการเจรจาไม่เป็นผล Josephine ก็ต้องปิดตัวลง หรือไม่ก็ทำธุรกิจได้เฉพาะมลรัฐที่อนุญาตเท่านั้น ต้นปี 2017 จะได้รู้กัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา